เปิดผลส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลเกษตร สศก. ชู ปั้นช่างเกษตรท้องถิ่นทะลุเป้า-ลดรายจ่ายได้จริง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 11, 2015 15:07 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เปิดผลส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลเกษตร สศก. ชู ปั้นช่างเกษตรท้องถิ่นทะลุเป้า-ลดรายจ่ายได้จริง

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลติดตามการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตร ปี 2558 ระบุ ช่วยสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น และผู้ประกอบการธุรกิจการให้บริการเครื่องจักรกล ได้มากกว่า 3 พันราย สามารถลดรายจ่ายค่าซ่อมบำรุงรักษาได้สูงสุด 799 บาท/เครื่อง

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลติดตามการดำเนินงานการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตร ปี 2558ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านเทคนิค และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ให้กับเกษตรกรผู้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อสามารถนำไปซ่อมแซมเครื่องจักรกลของตนเอง และเป็นช่างเกษตรท้องถิ่นชุมชน สามารถให้บริการซ่อมแซมแก่เกษตรกรในพื้นที่ได้ มีการพัฒนาศักยภาพธุรกิจการให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตร รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลเครื่องจักรกลการเกษตรทั่วประเทศ

ในการนี้ สศก. ได้ดำเนินการติดตามเกษตรกรที่ผ่านการอบรมในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ในกิจกรรมสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น จำนวน 446ราย และกิจกรรมพัฒนาศักยภาพธุรกิจการให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตร จำนวน 63 ราย รวม 43 จังหวัด พบว่า เกษตรกรที่ผ่านการอบรมช่างเกษตรท้องถิ่นร้อยละ 71 มีความรู้พื้นฐานก่อนเข้าร่วมโครงการอยู่แล้ว ส่วนใหญ่สามารถบำรุงรักษาเครื่องจักรกลฯ เบื้องต้นได้ แต่เมื่อเครื่องจักรกลฯ เกิดการชำรุด ยังต้องนำไปซ่อมแซมที่ร้านทั้งในและนอกพื้นที่ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายในการจ้างซ่อมเครื่องจักรกลฯ 2,693 บาท/ราย/ปี

สำหรับผลสำรวจกิจกรรมพัฒนาศักยภาพธุรกิจฯ ของผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรม มีจำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ เพาะกล้า/ดำนาข้าว การเก็บเกี่ยวข้าว และการสีข้าว พบว่า ร้อยละ 54 ได้นำความรู้ไปปฏิบัติโดยการบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ การตรวจคุณภาพข้าว/การเก็บเกี่ยว และการสีข้าว เป็นต้น

ทั้งนี้ สามารถสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น และผู้ประกอบการธุรกิจการให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรได้ทั้งสิ้น 3,456 ราย สูงกว่าเป้าหมายคิดเป็นร้อยละ 106 และเกษตรกรในหลักสูตรช่างเกษตรท้องถิ่นร้อยละ 58 ได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์แล้ว สามารถลดรายจ่ายค่าซ่อมบำรุงรักษาได้ ตั้งแต่ 300 – 799 บาท/เครื่อง โดยส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมาก ทั้งในด้านการอบรมความรู้และการฝึกปฏิบัติ เนื่องจากเห็นว่าสามารถนำความรู้มาใช้ได้จริง และยังเสนอว่าควรเพิ่มระยะเวลาในการอบรมและเนื้อหาหลักสูตร เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อใช้ต่อยอดในการซ่อมแซมเครื่องจักรกลฯ และต้องการให้มีโครงการอย่างต่อเนื่องทุกปี อย่างไรก็ตาม ควรเน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีความรู้ด้านช่างเกษตรเบื้องต้น และมีความพร้อมในด้านเครื่องจักรกลการเกษตร โดยในการฝึกปฏิบัติ ควรใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ชำรุดมาใช้เป็นเครื่องมือในการฝึกปฏิบัติ ซึ่งจะเกิดผลในการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ