ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2016 14:04 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด
1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59
โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็น และเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60
— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.) ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาสูงขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง 1.2 ราคา 1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,190 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,147 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.38

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,378 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,364 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17 2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 25,550 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 24,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.82

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน 3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 837 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,338 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 826 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,313 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.33

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 633 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,188 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 624 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,144 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.44

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 441 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,458 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 192 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 422 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,792 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 421 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,940 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,773 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 444 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,756 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.35 หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.0515 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ไทย

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ จะจัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและเอกชนไทย เดินทางไปเจรจาการค้ากับผู้นำเข้าข้าวภาครัฐและเอกชนที่สาธารณรัฐโมซัมบิก สาธารณรัฐเคนยา ระหว่างวันที่ 9-16 กรกฎาคมนี้ เพื่อเจรจาผลักดันการส่งออกข้าวและสินค้าอื่นๆ ให้เติบโตมากขึ้น พร้อมทั้งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า สำรวจลู่ทางการค้าการลงทุนกับทั้งสองประเทศด้วย โดยเชื่อว่าจะมียอดการสั่งซื้อข้าวไทยในปริมาณมากพอสมควร

ในอดีตที่ผ่านมาโมซัมบิกเคยนำเข้าข้าวจากไทยเป็นอันดับ 1 ปีละกว่า 6 แสนตัน แต่ช่วงหลังการนำเข้าลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.59) ไทยส่งออกข้าวไปโมซัมบิกแล้ว 7.11 หมื่นตัน มูลค่า 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (848 ล้านบาท) ขยายตัวลดลงร้อยละ 41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ที่ผ่านมาสินค้าหลักของไทยที่ส่งออกไปยังโมซัมบิก 10 อันดับแรก ประกอบด้วย ข้าว เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผ้าผืน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ โดยในปี 2558 การค้าระหว่างไทยกับโมซัมบิก (ส่งออก+นำเข้า) มีมูลค่า 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่ารวม 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากโมซัมบิกยังมีการผลิตไม่มากเมื่อเทียบกับความต้องการของประชากรในประเทศ ซึ่งมีรายได้สูงขึ้นและมีความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นต้องอาศัยการนำเข้าจากไทย ซึ่งสินค้าที่ไทยส่งออกไป เช่น ข้าว ชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าการค้าระหว่างประเทศจะมีโอกาขยายตัวมากขึ้นในอนาคต และล่าสุดมีการประชุมกรณีที่รัฐบาลโมซัมบิกขอซื้อข้าวไทยในเงื่อนไขพิเศษ คาดว่าจะเป็นการขอสินเชื่อในการซื้อข้าว

ขณะนี้หลายประเทศในตลาดภูมิภาคแอฟริกา ได้ติดต่อไทยเข้ามาเพื่อขอซื้อข้าวจากสต็อกรัฐบาล เพราะกำลังซื้อในประเทศกลุ่มแอฟริกาเริ่มกลับมา หลังจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้นบ้าง โดยการจัดคณะเดินทางไปตลาดแอฟริกาเพื่อขายข้าวในสต็อกรัฐบาลครั้งนี้ อาจเป็นรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) หรือเอกชนกับเอกชน (บีทูบี) ซึ่งต้องหารือกันก่อน นับเป็นอีกช่องทางในการระบายข้าวในสต็อก ด้านนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า แม้ตลาดแอฟริกาจะต้องการนำเข้าข้าวในปริมาณมาก แต่ภาคเอกชนยังกังวลเรื่องระบบการจ่ายเงิน ที่อาจมีปัญหาเพราะแอฟริกาประสบปัญหากำลังซื้อลดลง หลายประเทศไม่มีเงิน ทำให้การขายข้าวของไทยอาจต้องให้สินเชื่อกับประเทศผู้ซื้อ ซึ่งหากให้สินเชื่อจะจ่ายล่าช้า จนอาจกลายเป็นหนี้สูญเหมือนกับที่เคยขายข้าวให้เกาหลีเหนือ ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เวียดนาม

สมาคมอาหารของเวียดนาม (The Vietnam Food Association; VFA) รายงานการส่งออกข้าวช่วง วันที่ 1-25 พฤษภาคม 2559 มีจำนวน 232,618 ตัน มูลค่า 103.541 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 27.2 และร้อยละ 22.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 319,513 ตัน มูลค่า 133.649 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1 มกราคม-25 พฤษภาคม 2559 มีจำนวน 2.111 ล้านตัน มูลค่า 891.979 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 และร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้1.875 ล้านตัน มูลค่า 785.333 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลผลิตข้าวของเวียดนามมีแนวโน้มลดลงในปีนี้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2548 หลังเกิดภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 90 ปี แต่จะไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากเกษตรกรได้ขยายช่วงเวลาเพาะปลูกในฤดูปัจจุบันและฤดูสุดท้ายของรอบปี ตามการรายงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรเวียดนาม ระบุว่าผลผลิตข้าวในช่วงเพาะปลูกฤดูหนาว-ใบไม้ผลิ จากเขตที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงลดลงร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่การผลิตรวมลดลงเพียงร้อยละ 1.5 อยู่ที่ 44.5 ล้านตัน

ภัยแล้งรุนแรงและการรุกล้ำของน้ำเค็มที่เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงทางภาคใต้ของเวียดนาม ที่เป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศ ได้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ทั้งผลไม้ ข้าว และน้ำตาล ซึ่งเวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย และไทย เวียดนามปลูกข้าว 3 ครั้งต่อปี การปลูกข้าวในฤดูหนาว-ใบไม้ผลิเป็นการเพาะปลูกครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งผลผลิตข้าวที่ได้จากการปลูกในช่วงนี้ใช้ในการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ โดยเมื่อปีที่ผ่านมาเวียดนามผลิตข้าวได้ 45.21 ล้านตัน ส่งออกประมาณร้อยละ 30 ประเทศที่เวียดนามส่งออก คือ จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งที่ผ่านมาการผลิตข้าวลดลงครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2548 เนื่องจากภาวะภัยแล้งเช่นเดียวกัน

การรุกล้ำของน้ำเค็มทำให้เกษตรกรต้องชะลอการปลูกข้าวในฤดูร้อน-ใบไม้ร่วง และเจ้าหน้าที่เตือนว่า การปลูกในรอบที่ 3 อาจเผชิญกับภัยคุกคามจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล นักพยากรณ์อากาศได้เตือนความเป็นไปได้ของปรากฏการณ์ลานีญ่าที่อาจทำให้เกิดฝนตกหนักในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 โดยเจ้าหน้าที่กล่าวว่า “การเพาะปลูกข้าวจะต้องมีขึ้นภายในระบบชลประทานเพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตร”

ผู้ค้าข้าว กล่าวว่า การชะลอการปลูกข้าวหมายถึงการเก็บเกี่ยวที่จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง (ประกอบด้วย 12 จังหวัด รวมถึงนครเกิ่นเทอ) ซึ่งจะทำให้ราคาไม่ต่ำมาก สำหรับราคาเกณฑ์มาตรฐานข้าวผสมข้าวหัก 5% ของเวียดนามในสัปดาห์นี้ ราคาตันละ 370-380 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากตันละ 375-380 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ข้าวมีราคาสูงสุดในรอบ 5 เดือน ที่ตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐ ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย, หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

อินเดีย

คณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของอินเดีย (the Cabinet Committee of Economic Affairs; CCEA) อนุมัติให้ปรับเพิ่มราคารับซื้อข้าวขั้นต่ำ [minimum purchase price (MPP)/minimum support price (MSP)] สำหรับข้าวในฤดูการผลิตหลัก (kharif rice) ช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม ปีการผลิต 2559/60 (ตุลาคม 2559- กันยายน 2560) ข้าวเปลือกเกรดธรรมดา (common variety paddy) ราคาเพิ่มขึ้นอีก 60 รูปีต่อ 100 กิโลกรัมเป็น 1,470 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณ 21.89 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 767.28 บาท) ข้าวเปลือกเกรด A (grade A variety) ราคา 1,510 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม จากเดิมที่ในปีการผลิต 2558/59 กำหนดไว้ที่ 1,410 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม และข้าวเปลือกเกรด A (grade A variety) ราคา 1,450 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ผลผลิตข้าวในปีการผลิต 2558/59 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

เป็น 103.5 ล้านตัน เนื่องจากมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ด้านการจัดหาข้าวในปีการตลาด 2558/59 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดย ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2559 รัฐบาลสามารถจัดหาข้าวได้แล้วประมาณ 33.1 ล้านตัน มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประมาณร้อยละ 11 แต่ในช่วงสองเดือนสุดท้ายที่ผ่านมา การจัดหาข้าวเริ่มชะลอลง เนื่องจากในหลายแคว้นสิ้นสุดโครงการแล้ว โดยแค้วนที่สำคัญสามารถจัดหาข้าวได้มากกว่าปีที่ผ่านมา เช่น แคว้น Punjab จัดหาได้ 9.4 ล้านตัน Chhattisgarh จัดหาได้ 3.4 ล้านตัน Haryana และ Uttar Pradesh จัดหาได้ 2.9 ล้านตัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากที่คาดว่าผลผลิตข้าวในฤดูการผลิตรอง (rabi rice harvest) จะมีจำนวนลดลงจากภาวะภัยแล้ง อาจส่งผลให้จัดหาข้าวได้น้อยลงด้วย จึงคาดว่าในพื้นที่ภาคใต้และตะวันออกของประเทศจะจัดหาข้าวได้เพิ่มอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยคาดว่าในปีการผลิตนี้จะจัดหาข้าวได้ประมาณ 34 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 32.2 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา แต่ยังคงต่ำกว่าในปี 2554/55 ที่จัดหาได้มากถึง 35 ล้านตัน ทางด้านสต็อกข้าวปลายปี (Ending Stocks) นั้น ในปี 2558/59 คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 13.8 ล้านตัน เพราะคาดว่าผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้น โดย ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 รัฐบาลมีสต็อกข้าวประมาณ 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับจำนวน 22.4 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับการส่งออกในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีการส่งออกแล้วประมาณ 2.9 ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับจำนวน 3.3 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การส่งออกเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น เพราะตลาดแอฟริกามีความต้องการข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2559 จะสามารถส่งออกได้ประมาณ 9 ล้านตัน มีรายงานว่า ทางการอินเดียใกล้จะบรรลุข้อตกลงขายข้าวตามสัญญาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลกับทางการ อินโดนีเซียแล้ว โดยอินเดียได้มอบหมายให้องค์การอาหารแห่งชาติ (Food Corporation of India; FCI) เป็นผู้ดำเนินการขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาลให้แก่อินโดนีเซีย ประมาณ 1 ล้านตัน ส่วนราคาข้าวยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา คาดว่าอินเดียจะขายในราคาต้นทุน [economic cost of rice at Rs 32,580 ($486) per tonne for the common variety in 2015-16] โดยที่ผ่านมา ปากีสถานได้ลงนามกับอินโดนีเซียในการขายข้าว 1 ล้านตัน ที่ราคา 400 ดอลลาร์สรัฐต่อตัน ภายในเวลา 4 ปี

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 6-12 มิ.ย.2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ