สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ผลการจัดงานของดีจากชายแดนใต้ ครั้งที่ 9 ชู ยอดจำหน่ายสินค้าภายในงาน 9 วัน กว่า 8.6 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 9.5 แสนบาท โดยสินค้าที่มียอดจำหน่ายมากที่สุด คือ ผลไม้ โดยเฉพาะ ทุเรียน และลองกอง
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการจัดงานของดีจากชายแดน ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 3 – 11 กันยายน 2559 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จัดขึ้น เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาด้านเศรษฐกิจในครัวเรือนและชุมชนของผู้ได้รับผลกระทบได้มีช่องทางในการนำสินค้าหรือผลผลิตที่ผลิตได้ในพื้นที่ออกมาจำหน่าย สร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนและชุมชน รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในส่วนกลางได้มีโอกาสเรียนรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และสินค้าดีผลิตภัณฑ์เด่นจาก 4 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา โดยในปีนี้ จัดขึ้น ณ กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
สำหรับผลการประเมินผลการจัดงาน สศก. พบว่า ภาพรวมมีผู้เข้าชมงานตลอดระยะเวลาการจัดงาน 9 วัน ประมาณ 28,000 ราย เฉลี่ยวันละ 3,100 ราย หมุนเวียนเข้าชมงานตลอดทั้งวันตั้งแต่เวลา 9.00 น. ก่อนเวลาเปิดงาน ที่กำหนดไว้ 10.00 น. ไปจนถึงถึง 20.00 น. โดยช่วงเวลาที่มีผู้เข้าชมงานมากที่สุดคือ 11.00 – 13.00 น. และ 16.00 – 18.00 น. และตลอดวันในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์
การจำหน่ายสินค้าภายในงาน มีร้านจำหน่ายสินค้าจาก 4 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 80 ร้าน ซึ่งมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้ารวมตลอดการจัดงาน ประมาณ 8.6 ล้านบาท เฉลี่ยวันละกว่า 956,000 บาท โดยสินค้าที่มียอดจำหน่ายมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ 1) ผลไม้ (ทุเรียน ลองกอง) 2) ข้าวมันไก่เบตง และ3) เครื่องประดับมุก (สร้อย แหวน) และผ้าบาติก
ด้านนางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า ในส่วนของเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่มาออกร้านส่วนใหญ่ ร้อยละ 97 เห็นว่าการจัดงานดังกล่าว ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยผู้เข้าชมงาน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 73 พึงพอใจต่อสินค้าที่นำมาจำหน่ายในระดับมากส่วนผู้เข้าชมงาน นอกจากจะให้ความสนใจนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิทรรศการผักและผลไม้ท้องถิ่น และจุดสำหรับถ่ายภาพเอกลักษณ์ 4 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว ยังให้ความสนใจในการสาธิตและฝึกอาชีพ โดยตั้งใจจะนำความรู้ไปฝึกทำเพื่อบริโภค เช่น การทำกล้วยหินกรอบแก้ว การทำกุ้งหวาน ชาชัก และการทำผ้าบาติก ตลอดจนให้ความสนใจการแสดงศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ในช่วงเย็น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้มาเที่ยวชมงานในระดับมาก เช่น รำมโนราห์ ระบำบาติก ระบำดีดกุ้ง และตานีบุหงารำไป เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าชมงานและผู้ออกร้านจำหน่ายสินค้าเห็นว่าสถานที่การจัดงานควรมีการระบายอากาศที่ดีกว่านี้หรือจัดงานในโดมติดเครื่องปรับอากาศ เพื่อจะได้เดินเลือกซื้อสินค้าได้นานๆ รวมทั้งควรมีห้องน้ำให้เพียงพอ ซึ่งร้อยละ 88 จะกลับมาเที่ยวชมงานอีกครั้งในปีต่อไป
**********************
ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--