ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 7, 2017 15:51 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ด้านการผลิต ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง จำนวน 8 โครงการ ดังนี้

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (1) ถึง (3) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (4) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (5) และเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (6)

(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) (กข.)

(3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (กข.)

(4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 (ธ.ก.ส.)

(5) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (กข.)

(6) โครงการปรับพื้นที่นาและลดรอบการปลูกข้าว ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร (ด้านการผลิต) ปี 2560/61 จำนวน 3 โครงการ คือ

  • โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว (ปศ.)
  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กสก.)
  • โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 (พด.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรับรอบ 2 เริ่มทยอยออกสู่ตลาด ประกอบกับตลาดต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,311 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,225 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.83

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,816 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,914 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.25

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 25,150 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,900 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,150 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.06

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 840 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,762 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 835 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,724 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.60 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 38 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 397 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,121 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,613 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.17 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 492 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 358 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,724 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 394 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,082 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 9.14 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 358 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 406 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,419 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 419 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,812 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.10 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 393 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.0505 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นหลังจากที่เวียดนามชนะการประมูลข้าวของฟิลิปปินส์ จำนวน 175,000 ตัน จากทั้งหมด 250,000 ตัน โดยราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ราคาข้าวส่งออกค่อนข้างทรงตัว อยู่ในระดับที่สูงแล้ว โดยราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามอยู่ที่ 400-405 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เท่ากับสัปดาห์ก่อน ภาวะการค้าข้าวค่อนข้างเบาบาง เพราะราคาข้าวเวียดนามอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง ขณะที่ผู้ส่งออกกำลังให้ความสนใจการหาซื้อข้าว เพื่อส่งมอบตามสัญญาแบบรัฐต่อรัฐที่ยังมีข้าวที่ต้องส่งมอบจำนวนมาก

นายกสมาคมอาหารเวียดนาม (The Vietnam Food Association; VFA) ระบุว่า ความต้องการข้าวเวียดนามจากต่างประเทศในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี จะอยู่ในระดับทรงตัว ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีตลาดรองรับผลผลิตข้าวของเวียดนามในช่วงดังกล่าว เพราะเวียดนามเพิ่งชนะการประมูลข้าวของฟิลิปปินส์ จำนวน 175,000 ตัน โดยบริษัท Vinafood II (Vietnam Southern Food Corp.) ประมูลได้ จำนวน 50,000 ตัน ในราคา 369.45 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเอฟโอบี บริษัท Hiep Loi Food Joint Stock Co. จำนวน 25,000 ตัน ราคา 370.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเอฟโอบี บริษัท Tan Long Group Joint Stock Co.จำนวน 50,000 ตัน แบ่งเป็น 2 ล็อตๆ ละ 25,000 ตัน ในราคา 354 และ 359 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเอฟโอบี บริษัท Gia International Corp.จำนวน 50,000 ตัน แบ่งเป็น 2 ล็อตๆ ละ 25,000 ตัน ราคา 357 และ 367 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเอฟโอบี ซึ่งนอกจากฟิลิปปินส์แล้ว เวียดนามยังมีสัญญาที่ทำไว้กับผู้ซื้อจากประเทศคิวบา บังคลาเทศ และมาเลเซียด้วย ซึ่งการที่เวียดนามมีคำสั่งซื้อในมือจำนวนมากนี้จะช่วยพยุงราคาข้าวในประเทศให้มีเสถียรภาพ

ทางด้านผู้อำนวยการของบริษัท Viet Rice Co Ltd. ระบุว่า ภาวะราคาข้าวขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้การทำสัญญาขายข้าวของเอกชนทำได้ยากขึ้นเพราะราคาข้าวเวียดนามสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น ข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ประมาณ 395 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเอฟโอบี แต่ของเวียดนามอยู่ที่ 407 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเอฟโอบี จึงทำให้การขายข้าวในช่วงนี้ทำได้ลำบากกระทรวงเกษตร (the Ministry of Agriculture and Rural Development) คาดว่า ในช่วง 7 เดือน แรกของปีนี้ เวียดนามจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 3.3 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 และร้อยละ 13.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ Oryza.com และ Riceonline.com

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนตัวลงประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เนื่องจากความต้องการข้าวจากตลาดแอฟริกามีแนวโน้มลดลง โดยข้าวนึ่ง 5% ราคาอยู่ที่ 400-403 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงจาก 405-408 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่วงการค้าคาดว่า บังคลาเทศจะชะลอแผนการซื้อข้าวจากอินเดีย เพราะราคาสูงเกินไป และเตรียมที่จะหันไปซื้อข้าวจากกัมพูชาแทน

ทางการรายงาน ความคืบหน้าของการเพาะปลูกข้าวในฤดูการผลิต Kharif (มิถุนายน-ธันวาคม) ณ วันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า มีพื้นที่เพาะปลูกแล้วประมาณ 135.14 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับจำนวน 132 ล้านไร่ ในช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

รัฐบาลได้ตั้งเป้าในการจัดหาข้าวตามโครงการจัดหาข้าวของรัฐบาลในปีการผลิต 2560/61 (ตุลาคม-กันยายน) ไว้ที่ 37.5 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่าผลผลิตข้าวจะมีจำนวนมากขึ้นจากปัจจัยด้านสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น โดยในปีการผลิต 2559/60 รัฐบาลสามารถจัดหาข้าวได้แล้วประมาณ 34.35 ล้านตัน มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 33 ล้านตัน

ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เพิ่มราคารับซื้อข้าวเปลือกขั้นต่ำ (the minimum support price; MSP) สำหรับโครงการจัดหาข้าวเปลือกในฤดูการผลิต Kharif (มิถุนายน-ธันวาคม) ของปีการผลิต 2560/61 โดยข้าวเปลือกเกรดธรรมดา (common grade) ปรับขึ้นเป็น 1,550 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณ 241 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) ส่วนข้าวเปลือกเกรด A ปรับเป็น 1,590 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณ 247 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน)

ที่มา Oryza.com และ Riceonline.com

บังคลาเทศ

กระทรวงอาหาร (Food Ministry) ระบุว่าอาจจะต้องเลื่อนแผนการนำเข้าข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล จำนวน 200,000 ตันจากประเทศไทยออกไปก่อน เนื่องจากติดขัดเรื่องราคาข้าวของไทยที่เสนอให้ในระดับที่สูง โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลบังคลาเทศไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการซื้อข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลจากประเทศอินเดียได้ เนื่องจากติดขัดเรื่องราคาข้าวเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าหลังจากนี้บังคลาเทศจะหันไปเจรจาเพื่อที่จะซื้อข้าวจากประเทศกัมพูชา

ส่วนความคืบหน้าของการประมูลซื้อข้าวครั้งที่ 1 ของปีงบประมาณ 2560/61 (ครั้งที่ 5 ของปีนี้โดย 4 ครั้งที่ผ่านมา เป็นการประมูลครั้งที่ 1-4 ของปีงบประมาณ 2559/60) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะซื้อข้าวนึ่ง (ครั้งที่ 4 ของปีนี้) จำนวน 50,000 ตัน นั้นปรากฏว่า บริษัท Olam เสนอราคาต่ำสุดที่ 419.51 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF liner out) นอกจากนี้ยังมีอีก 3 รายที่ยื่นเสนอราคาในครั้งนี้ประกอบด้วย บริษัท Phoenix เสนอราคาที่ $420 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF liner out) บริษัท Amir Chand เสนอราคาที่ 444.11 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF liner out) และบริษัท Agro Corp เสนอราคาที่ 432.65 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF liner out)

ทั้งนี้การประมูลใน 4 ครั้งก่อนหน้านี้ บังคลาเทศได้ตกลงซื้อข้าวขาวจำนวน 50,000 ตัน ราคา 406.48 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF liner out) และซื้อข้าวนึ่ง 3 ครั้ง รวม 150,000 ตัน ในราคา 427.85, 445.11 และ 430 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF liner out) ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหน่วยงานด้านอาหารของรัฐบาล (Directorate General of Food, Ministry of Food) ยังได้ประกาศเปิดประมูลซื้อข้าวครั้งที่ 2 ของปีงบประมาณ 2560/2561 (นับเป็นครั้งที่ 6 ของปีนี้ โดย 5 ครั้งที่ผ่านมา เป็นการประมูลครั้งที่ 1-4 ของปีงบประมาณ 2559/60 และครั้งที่ 1 ของปีงบประมาณ 2560/61) โดยกำหนดการรับข้อเสนอในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ ซึ่งการประมูลครั้งนี้จะซื้อข้าวนึ่ง (นับเป็นครั้งที่ 5 ของปีนี้) จากทุกประเทศจำนวน 50,000 ตัน (50,000 MT (+5%) Non-Basmati Parboiled rice on CIF Liner out term) โดยกำหนดส่งมอบภายใน 40 วันหลังจากทำสัญญาแล้ว และให้ส่งมอบที่ท่าเรือ Chittagong ในสัดส่วนร้อยละ 60 และที่ท่าเรือ Mongla อีกร้อยละ 40

มีรายงานว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเรือบรรทุกสินค้าข้าวจากเวียดนามลำที่ 4 ได้เดินทางมาถึงท่าเรือ Chittagong เรียบร้อยแล้ว โดยเรือลำนี้บรรทุกข้าวจากเวียดนามจำนวน 25,300 ตัน ซึ่งหลังจากนี้ก็จะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพข้าวตามขั้นตอนของรัฐบาลและดำเนินพิธีการศุลกากรตามลำดับ ก่อนที่จะมีการโหลดลงเรือโป๊ะ (Lighter) เพื่อนำไปส่งยังจุดต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยก่อนหน้านี้เรือบรรทุกข้าวจากเวียดนามได้เข้าเทียบท่าแล้วจำนวน 3 ลำ โดยเวียดนามจะส่งมอบข้าวที่ได้ทำสัญญาซื้อขายระหว่างรัฐบาลของสองประเทศมาถึงท่าเรือ Chittagong ในสัดส่วนร้อยละ 60 ของจำนวนทั้งหมด และส่งไปที่ท่าเรือ Mongla ในสัดส่วนร้อยละ 40

ที่มา Oryza.com และ Riceonline.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 31 ก.ค. - 6 ส.ค. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ