ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 26, 2017 14:55 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ด้านการผลิต ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง จำนวน 8 โครงการ ดังนี้

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (1) ถึง (3) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (4) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (5) และเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (6)

(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) (กข.)

(3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (กข.)

(4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 (ธ.ก.ส.)

(5) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (กข.)

(6) โครงการปรับพื้นที่นาและลดรอบการปลูกข้าว ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร (ด้านการผลิต) ปี 2560/61 จำนวน 3 โครงการ คือ

  • โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว (ปศ.)
  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กสก.)
  • โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 (พด.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,519 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,507 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.11

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,623 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,618 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.06

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 30,750 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,950 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.70

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,032 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,890 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,048 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,438 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.53 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 548 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 415 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,628 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,144 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.75 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 484 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 398 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,070 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,684 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.11 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 386 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 433 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,219 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 409 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,440 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.87 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 779 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.8393 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2560/61 ประจำเดือนกันยายน 2560 ว่าจะมีผลผลิต 483.358 ล้านตันข้าวสาร (721.1 ล้านตันข้าวเปลือก) ลดลงจาก 486.388 ล้านตันข้าวสาร (725.4 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือลดลงร้อยละ 0.62 จากปี 2559/60

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2560/61 ณ เดือนกันยายน 2560 ว่าผลผลิต ปี 2560/61 จะมี 483.358 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2559/60 ร้อยละ 0.62 การใช้ในประเทศจะมี 480.171 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.48 การส่งออก/นำเข้าจะมี 44.429 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.26 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 123.517 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.65

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล จีน กายานา อินเดีย ปากีสถาน และปารากวัย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา เมียนมาร์ กัมพูชา อียู อุรุกวัย สหรัฐอเมริกา และไทย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา อียู กานา กินี เฮติ อิรัก เคนย่า โมแซมบิค ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรส

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อิหร่าน ไนจีเรีย

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนตัวลงท่ามกลางความต้องการข้าวจากต่างประเทศที่ลดลง ขณะที่คาดว่าผลผลิตข้าวในฤดูการผลิตฤดูใบไม้ร่วง (the autumn-winter crops) จะมีปริมาณลดลง เนื่องจากมีการเพาะปลูกล่าช้ากว่ากำหนดและพื้นที่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามอยู่ที่ตันละ 378-385 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากตันละ 385-390 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สมาคมอาหารของเวียดนาม (The Vietnam Food Association; VFA) รายงานว่า การส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1-31 สิงหาคม 2560 มีจำนวน 629,622 ตัน มูลค่า 257.921 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.47 และร้อยละ 55.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่ส่งออกได้ 373,738 ตัน มูลค่า 166.055 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) และเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2560 ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 และร้อยละ 7.3 ที่ส่งออกได้ 584,602 ตัน มูลค่า 240.345 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2560) มีการส่งออกข้าวจำนวน 3.874 ล้านตัน มูลค่า 1,666 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.36 และร้อยละ 16.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่ส่งออกได้ 3.301 ล้านตัน มูลค่า 1,433 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตลาดหลักยังคงเป็นประเทศในแถบเอเชียซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 67 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด ซึ่งเวียดนามส่งออกไปประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น เช่น จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น แต่การส่งออกไปยังฮ่องกงกลับลดลง ส่วนตลาดรองลงมาได้แก่ แอฟริกา มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15.7 ตามด้วยตลาด อเมริกา และออสเตรเลีย

สมาคมอาหาร คาดว่า ตลาดยังคงมีความต้องการข้าวขาวและข้าวนึ่งอย่างต่อเนื่อง เช่น บังคลาเทศ ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ ขณะที่การส่งออกข้าวหอมยังคงไปได้ดีในตลาดแอฟริกา และจีน รวมทั้งตลาดใหม่ๆ เช่น อิรัก และอิหร่าน ส่วนตลาดข้าวชนิดพิเศษ เช่น ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวเหนียว และปลายข้าวก็ยังคงส่งไปยังประเทศจีนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้นจึงคาดว่า ในช่วง 4 เดือนหลังของปีนี้เวียดนามจะส่งออกได้อีกประมาณ 1.8 ล้านตัน

ทางด้านกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม เปิดเผยว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2560 เวียดนาม ส่งออกข้าวปริมาณ 3.96 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าร้อยละ 20 และร้อยละ 17.5 เนื่องจากในเดือนที่ผ่านมามีการส่งออกข้าวเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความต้องการข้าวจากต่างประเทศยังคงมีต่อเนื่อง จึงทำให้สมาคมอาหารของเวียดนาม (VFA) ได้ปรับเป้าหมายการส่งออกข้าวในปีนี้ เป็น 5.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่ 5.2 ล้านตัน ที่เคยมีการปรับมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่าเมื่อเดือนที่ผ่านมาได้มีการทำสัญญาขายข้าวไปแล้วที่ยังไม่ส่งมอบอีกประมาณ 842,000 ตัน โดยส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียว ข้าวขาว ข้าวหอม และปลายข้าวซึ่งจะส่งไปยังประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีข้าวขาวที่จะต้องส่งมอบให้ฟิลิปปินส์ ข้าวหอมที่จะส่งไปยังประเทศในแถบแอฟริกา และข้าวญี่ปุ่นที่จะส่งไปยังออสเตรเลียด้วย

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาผู้ส่งออกข้าวเวียดนามได้ทำสัญญาขายข้าวไปแล้ว (ทั้งที่ส่งมอบแล้วและยังค้างส่งมอบ) ประมาณ 5.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยประมาณร้อยละ 85.4 เป็นสัญญาส่งมอบของภาคเอกชน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นประมาณตันละ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากมีความต้องการข้าวจากบังคลาเทศ ขณะที่อุปทานข้าวในประเทศมีจำกัด โดยผู้ส่งออกเสนอราคาขายข้าวนึ่ง 5% ราคาอยู่ที่ตันละ 413-416 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากตันละ 410-413 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้วงการค้าข้าว ระบุว่าบังคลาเทศกำลังมีความต้องการข้าวอย่างเร่งด่วน ซึ่งในขณะนี้มีเพียงอินเดียเท่านั้นที่สามารถตอบสนองความต้องการของบังคลาเทศได้

ทางการรายงาน ความคืบหน้าของการเพาะปลูกข้าวในฤดูการผลิต Kharif (มิถุนายน-ธันวาคม) ณ วันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมาว่า มีพื้นที่เพาะปลูกแล้วประมาณ 233.75 ล้านไร่ ลดลงประมาณร้อยละ 1.35 เมื่อเทียบกับจำนวน 236.95 ล้านไร่ ในช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

บังคลาเทศ

รัฐบาลบังคลาเทศได้ตกลงซื้อข้าวขาวจากเมียนมาร์จำนวน 100,000 ตัน ในราคาตันละ 442 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 35,360 ทากา) โดยคาดว่าจะมีการส่งมอบภายใน 3 เดือน

ทางด้านภาวะราคาข้าวในประเทศกำลังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเกิดอุทกภัยเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตข้าวในประเทศได้รับความเสียหายจำนวนมาก โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีมาตรการปรับลดภาษีนำเข้าข้าวลงเหลือเพียงร้อยละ 2 จากที่ก่อนหน้านี้เคยปรับลดลงมาอยู่ที่อัตราร้อยละ 20 แล้วครั้งหนึ่ง โดยคาดหวังว่าจะช่วยทำให้ราคาข้าวที่นำเข้ามีราคาลดลง แต่ผ่านไประยะหนึ่งราคาข้าวกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง จึงทำให้รัฐบาลต้องเร่งการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ และมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยการนำข้าวออกมาจำหน่ายในตลาดทั่วไป (open market sale program) โดยจำหน่ายข้าวในราคา 30 ทากาต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 20 ทากา

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านอาหารของรัฐบาล (Directorate General of Food, Ministry of Food) ได้ประกาศเปิดประมูลซื้อข้าวครั้งที่ 5 ของปีงบประมาณ 2560/61 (นับเป็นครั้งที่ 9 ของปีนี้โดย 8 ครั้งที่ผ่านมา เป็นการประมูลครั้งที่ 1-4 ของปีงบประมาณ 2559/60 และครั้งที่ 1-4 ของ ปีงบประมาณ 2560/61) ซึ่งการประมูลครั้งนี้จะซื้อข้าวนึ่ง (นับเป็นครั้งที่ 8 ของปีนี้) จากทุกประเทศจำนวน 50,000 ตัน (50,000 MT (+5%) Non-Basmati Parboiled rice on CIF Liner out term) โดยกำหนดการรับข้อเสนอในวันที่ 28 กันยายน 2560 กำหนดส่งมอบภายใน 40 วันหลังจากทำสัญญาแล้ว และให้ส่งมอบที่ท่าเรือ Chittagong ในสัดส่วน 60% และที่ท่าเรือ Mongla อีกร้อยละ 40

สำหรับการประมูลซื้อข้าวประมูลซื้อข้าวครั้งที่ 4 ของปีงบประมาณ 2560/61 เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ ผ่านมา (เป็นครั้งที่ 8 ของปีนี้โดย 7 ครั้งที่ผ่านมา เป็นการประมูลครั้งที่ 1-4 ของปีงบประมาณ 2559/60 และครั้ง ที่ 1-3 ของปีงบประมาณ 2560/61) ซึ่งกำหนดซื้อข้าวนึ่ง (ครั้งที่ 7 ของปีนี้) จำนวน 50,000 ตัน ปรากฏว่าบริษัท Siam Rice Trading จากประเทศไทยเสนอราคาต่ำสุดที่ตันละ 438 ดอลลาร์สหรัฐฯ (CIF liner out) ทั้งนี้การประมูลใน 7 ครั้งก่อนหน้านี้บังคลาเทศได้ตกลงซื้อข้าวขาวจำนวน 50,000 ตัน ราคาตันละ 406.48 ดอลลาร์สหรัฐฯ (CIF liner out) และซื้อข้าวนึ่ง 6 ครั้งรวม 250,000 ตัน ในราคาตันละ 427.85, 445.11, 430, 419.51, 411.11 และ 407.89 ดอลลาร์สหรัฐฯ (CIF liner out) ตามลำดับ

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 18 - 24 ก.ย. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ