ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 3, 2017 14:38 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ด้านการผลิต ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง จำนวน 8 โครงการ ดังนี้

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (1) ถึง (3) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (4) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (5) และเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (6)

(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) (กข.)

(3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (กข.)

(4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 (ธ.ก.ส.)

(5) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (กข.)

(6) โครงการปรับพื้นที่นาและลดรอบการปลูกข้าว ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร (ด้านการผลิต) ปี 2560/61 จำนวน 3 โครงการ คือ

  • โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว (ปศ.)
  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กสก.)
  • โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 (พด.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,438 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,519 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.71

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,666 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,623 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.56

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 30,750 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,370 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ ละ 11,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.51

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 996 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,818 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,032 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,890 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.49 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 1,072 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 404 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,312 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 415 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,628 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.65 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 316 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 388 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,784 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 398 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,070 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.51 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 286 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 416 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,707 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 433 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,219 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.93 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 512 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.9496 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

กระทรวงเกษตร (the Ministry of Agriculture and Rural Development) รายงานว่า ปัจจุบันตลาดจีนถือเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และคาดว่าในปีหน้าตลาดจีนจะยังคงเป็นตลาดที่สำคัญของเวียดนามต่อไป โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวไปประเทศจีนประมาณ 1.38 ล้านตัน มูลค่า 623 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 และร้อยละ 31 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41% ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนาม

นอกจากประเทศจีนแล้ว ตลาดรองลงมาอย่างเช่น ประเทศมาเลเซียก็เป็นผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญ ในช่วง 7 เดือนแรกมาเลเซียนำเข้าข้าวจากเวียดนามไปแล้วประมาณ 288,700 ตัน มูลค่า 111 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณสองเท่าและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ส่วนประเทศอื่นนอกเอเชียนั้น ได้แก่ประเทศกาน่า ซึ่งในปีที่ผ่านมาเวียดนามส่งออกข้าวไปยังกาน่าประมาณ 504,000 ตัน มูลค่า 249 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 39 และร้อยละ 34.5 เมื่อเทียบกับปี2558 แต่อย่างไรก็ตามในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้เวียดนามส่งออกข้าวไปกาน่าลดลงร้อยละ 29

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เมียนมาร์

วงการค้าข้าวระบุว่า ราคาข้าวในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีความต้องการข้าวมากขึ้น โดยได้แนะนำไม่ให้เกษตรกรเร่งขายข้าว ควรรอขายในช่วงที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น หรือในช่วงที่เห็นว่าราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ในช่วง 5 เดือนแรก (เมษายน-สิงหาคม) ของปีงบประมาณ 2560861 (เมษายน-มีนาคม) เมียนมาร์ส่งออกข้าวแล้วประมาณ 1 ล้านตัน และคาดว่าปีนี้จะส่งออกได้ถึง 2 ล้านตัน และมีแนวโน้มที่จะเกินกว่าที่คาดไว้ด้วย โดยเมื่อไม่นานมานี้ เมียนมาร์เพิ่งจะลงนามบันทึกความเข้าใจในการจัดหาข้าว จำนวน 300,000 ตันต่อปี ให้แก่บังคลาเทศ

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ (the Ministry of Commerce) ระบุว่า ในปีงบประมาณนี้ นับจนถึงช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมียนมาร์ส่งออกข้าวแล้วมากกว่า 1 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณ 620,000 ตัน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

คณะทำงานด้านวิชาการ (technical working group; TWG) ได้เสนอแนวทางให้รัฐบาลใช้มาตรการกำหนดภาษีนำเข้าข้าวที่สูงถึง 400% เพื่อทดแทนระบบการนำเข้าข้าวแบบจำกัดปริมาณ (quantitative restrictions) ที่หมดอายุลงไปแล้ว ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับองค์การการค้าโลก เพื่อเป็นการปกป้องเกษตรกรในประเทศ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (The Philippine Statistics Authority; PSA) ได้พยากรณ์ว่าผลผลิตข้าวเปลือกในไตรมาสที่ 3 จะมีประมาณ 3.36 ล้านตัน ซึ่งลดลงจากการพยากรณ์ก่อนหน้านี้ที่ 3.39 ล้านตัน เนื่องจากพื้นที่เก็บ เกี่ยวและผลผลิตต่อพื้นที่ลดลงจากการที่เกิดภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่

คณะกรรมาธิการการจัดสรรงบประมาณได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณจำนวนกว่า 7 พันล้านเปโซ ให้แก่ องค์การอาหารแห่งชาติ (the National Food Authority; NFA) เพื่อใช้ในการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรคิดเป็นจำนวนประมาณ 388,889 ตัน ในราคาที่ 17 เปโซต่อกิโลกรัม ในปีหน้า ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การสำรองข้าวของประเทศ ซึ่งนอกจากแผนการจัดหาข้าวในประเทศแล้ว NFA ได้ยื่นแผนการนำเข้าข้าวในปีหน้าจำนวนประมาณ 580,050 ตันในแก่สภาฯ ไปพิจารณาด้วย

ทั้งนี้ ตามแผนการของ NFA ในปีหน้า ตั้งเป้าในการจัดซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรประมาณ 1.2 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าเป้าในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 255,000 ตัน โดยให้เหตุผลว่าการเก็บสต็อกข้าวในรูปของข้าวเปลือกจะดีกว่าข้าวสาร เพราะสามารถเก็บได้นานและเลือกช่วงเวลาที่จะนำข้าวออกมาสีได้เมื่อต้องการที่จะใช้ นอกจากนี้การรับซื้อข้าวเปลือกยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้โดยตรงอีกด้วย

นาย Emmanuel Esguerra ศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ University of the Philippines กล่าวว่าเป้าหมายของรัฐบาลในการบรรลุความสามารถในการแข่งขันการค้าข้าวภายในปี 2565 ควรได้รับการสนับสนุนจากนวัตกรรมด้านการเกษตรที่ทันสมัยจากนโยบายการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์

ศาสตราจารย์ Esguerra กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตข้าวในฟิลิปปินส์มีต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งออกข้าวเช่นเวียดนามและไทย ฟิลิปปินส์มีต้นทุนการผลิตข้าวเปลือกอยู่ที่ประมาณ 10-12 เปโซต่อกิโลกรัม ขณะที่เวียดนามและไทย อยู่ที่ 6-10 เปโซต่อกิโลกรัม โดยปัจจัยที่ทาให้ต้นทุนการผลิตข้าวสูง ได้แก่ ต้นทุนแรงงานและเครื่องจักร ผลผลิตต่อไร่ต่ำ และค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูง ทั้งนี้ ราคาข้าวที่สูงส่งผลกระทบต่อชาวฟิลิปปินส์ที่ยากจน โดยครัวเรือนที่ยากจนในฟิลิปปินส์ใช้จ่ายรายได้ประมาณร้อยละ 20 ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อข้าวบริโภค ในการแก้ปัญหานี้ Esguerra เน้นย้ำว่าบทบาทของวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้าวเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันกระทรวงเกษตรได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาโครงการต่างๆ ของภาคธุรกิจ การเกษตร ซึ่งรวมถึงข้าว เพื่อให้มีการเพาะปลูกที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลและสภาพภูมิอากาศได้ และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในอนาคต

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 25 ก.ย. - 1 ต.ค. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ