สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 24, 2018 14:15 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 13 - 19 ก.ค. 61

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด 10 โครงการ และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบในรายละเอียดโครงการด้านการตลาดจากโครงการเดิม จำนวน 3 โครงการ ดั้งนั้นรวมมีจำนวนโครงการฯ ทั้งสิ้น 10 โครงการ ดังนี้

(1) ด้านการผลิต ได้แก่

1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่)

2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์

3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง

4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming)

5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ

6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร

7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง

(2) ด้านการตลาด ได้แก่

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,987 บาท ราคาลดลงจากตันละ 16,026 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,576 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,724 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.92

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 35,650 บาท ราคาลดลงจากตันละ 35,690 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.11

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,750 บาท ราคาเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,117 ดอลลาร์สหรัฐฯ (37,128 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,120 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,896 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27 แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 232 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 397 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,196 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 398 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,111 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 85 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 389 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,930 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,848 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.26 แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 82 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 394 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,096 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 395 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,012 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 84 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.2389

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย – จีน

จีนเป็นรายแรกที่ซื้อข้าว กข 43 ของไทย กระทรวงพาณิชย์สนใจลงนาม MOU โดยตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นตัน รวมถึงข้าวสี ข้าวพิเศษ มั่นใจเจาะตลาดจีนได้แน่ เล็งโปรโมตในสหรัฐฯ แคนาดา ยุโรป ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างบริษัท เมดิฟูดส์ จำกัด และบริษัท เจอเจียงจงผาน ซีเรียล แอนด์ ออยล์ จำกัด จากประเทศจีน เพื่อผลักดันข้าว กข 43 เข้าสู่ตลาดจีน ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้หาตลาดรองรับและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายข้าวพันธุ์ กข 43 โดยบริษัทจีนที่มาลงนามในครั้งนี้ นำเข้าข้าวจากไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะข้าวสี และข้าวชนิดพิเศษ แต่จะหันมาเพิ่มการนำเข้าข้าว กข 43 ซึ่งเป็นรายแรกของจีนที่นำเข้าข้าวชนิดนี้ โดยได้ตั้งเป้านำเข้าข้าวจากไทย ทั้งข้าว กข43 ข้าวสี ข้าวชนิดพิเศษไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัน พร้อมทั้งกล่าวว่า “ทั้ง 2 บริษัทจะร่วมมือกันทำตลาดข้าวพันธุ์ กข43 ในจีน โดยบริษัทไทยจะเป็นผู้จัดหาข้าว กข43 ให้กับบริษัทจีน และบริษัทจีนจะนำไปขายทั้งช่องทางการค้าปกติ และการขายผ่านอี – คอมเมิร์ซ โดยเฉพาะการขายในเว็บไซต์ Tmall.com ที่บริษัทจีนรายนี้ขายอยู่แล้ว รวมถึงเว็บไซต์อื่นๆ ด้วย ซึ่งจะทำให้ข้าว กข43 ของไทยเจาะตลาดจีนได้”

อย่างไรก็ตาม คาดว่า ข้าว กข43 ที่กำลังออกสู่ตลาดในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายนนี้ จะมีปริมาณ 13,000 ตันข้าวสาร ซึ่งได้เดินหน้าหาตลาดรองรับผลผลิตให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกำลังจะโปรโมตในตลาดอื่นๆ อีก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น โดยมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะข้าว กข43 ถือเป็นข้าวพันธุ์พิเศษที่มีผลดีต่อสุขภาพ จากการศึกษาวิจัย พบว่า เป็นข้าวทางเลือกของผู้ใส่ใจสุขภาพ เมื่อหุงต้มจะมีลักษณะนุ่ม มีกลิ่นหอม

ส่วนการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากความร่วมมือกับบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป จำกัด ในการส่งเสริมสินค้าเกษตรและนวัตกรรมเกษตรไทยให้สามารถเจาะตลาดจีนแบบส่งตรงถึงมือผู้บริโภค (B2C) ผ่านเว็บไซต์ Tmall.com โดยได้เปิดตัว Thai Rice Flagship Store ซึ่งเป็นเหมือนร้านขายสินค้าข้าวจากไทยบนเว็บไซต์ Tmall.com เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และร่วมมือกับอาลีบาบาผลักดันสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าวและผลิตภัณฑ์ ผลไม้สด และผลไม้แปรรูป โดยได้รับผลตอบรับอย่างดีจากผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าร่วมโครงการ และผู้บริโภคชาวจีนที่ให้ความสนใจสินค้าไทย ทั้งข้าว ผลิตภัณฑ์จากข้าว และผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทอง และลำไย

สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า การประมูลขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ศูนย์การค้าธัญพืชแห่งชาติ (the National Grain Trade Center) สามารถระบายข้าวได้ 145,156 ตัน (จากที่ นำมาประมูลทั้งหมดประมาณ 2.387 ล้านตัน) โดยราคาเฉลี่ยที่ขายได้อยู่ที่ประมาณ 2,248 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 339.83 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ส่วนการประมูลขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศูนย์การค้าธัญพืชแห่งชาติสามารถระบายข้าวได้ 63,079 ตัน (จากที่นำมาประมูลทั้งหมดประมาณ 1.026 ล้านตัน) โดยราคาเฉลี่ยที่ขายได้อยู่ที่ประมาณ 2,604 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 388.98 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัว หลังจากราคาได้ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 14 เดือน ท่ามกลางภาวะความต้องการข้าวจากต่างประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะจากบังคลาเทศและศรีลังกา ขณะที่คำสั่งซื้อจากตลาดแอฟริกามีปริมาณไม่มากนัก ประกอบกับค่าเงินรูปียังคงอ่อนค่าลง ซึ่งนับตั้งต้นปีที่ผ่านมาค่าเงินรูปีอ่อนค่าลงไปแล้วประมาณร้อยละ 7 ทั้งนี้ ราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ตันละ 388-392 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับสัปดาห์ก่อนหน้า

มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานจีนได้เดินทางไปตรวจโรงสีที่แปรรูปข้าวขาวที่ไม่ใช้บาสมาติของอินเดียแล้ว หลังจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (memorandum of understanding; MoU) เกี่ยวกับการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติจากอินเดียไปจีนแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งสาระสำคัญของ MoU คือภายใต้พิธีสารปี 2549 เรื่อง ข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืชเพื่อการส่งออกข้าวจากอินเดียไปยังประเทศจีน ได้รับการแก้ไขเพื่อให้ครอบคลุมถึงการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติด้วย

หลังจากทางการอินเดียมีนโยบายปรับราคารับซื้อขั้นต่ำ (the minimum support price; MSP) สำหรับข้าวเปลือกในปีการผลิต 2561/62 ขึ้นอีกประมาณร้อยละ 11-13 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรก่อนที่จะถึงช่วงฤดูเลือกตั้งทั่วไปในช่วงต้นปีหน้านั้น (2562) วงการค้าข้าวคาดว่า อาจส่งผลให้การส่งออกข้าวของอินเดียชะลอตัวลงตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป เนื่องจากคาดว่าราคาข้าวในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะในแต่ละปีรัฐบาลจะต้องจัดหาข้าวประมาณ 1 ใน 3 ของผลผลิตทั้งประเทศเพื่อใช้ในโครงการปันส่วนอาหารสำหรับประชาชน

ทั้งนี้ คาดว่าตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ผู้ส่งออกอาจจะต้องเสนอราคาขายข้าวประมาณตันละ 430 ดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันที่ข้าวนึ่ง 5% เสนอขายตันละ 388-392 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB)

สำหรับราคารับซื้อขั้นต่ำ (the minimum support price; MSP) ที่รัฐบาลกำหนดจะใช้ในปีการผลิต 2561/62 ซึ่งจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ไปจนถึงกันยายน 2562 นั้น ข้าวเปลือกเกรดธรรมดา (common grade rice) จะปรับเป็น 1,750 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม หรือประมาณ 254 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และข้าวเปลือกเกรด A (Grade ‘A’ paddy) จะปรับเป็น 1,770 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม หรือประมาณ 257 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งการเพิ่มราคารับซื้อข้าวเปลือกขั้นต่ำนี้คาดว่า จะทำให้รัฐบาลต้องมีงบประมาณในการการจัดหาเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

องค์การอาหารแห่งชาติ (FCI) รายงานว่า สต็อกข้าว ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2561 มีจำนวนประมาณ 27.56 ล้านตัน (รวมข้าวสารคำนวณมาจากสต็อกข้าวเปลือกประมาณ 4.3 ล้านตัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ลดลงร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 29.55 ล้านตัน ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สต็อกธัญพืช (ข้าวและข้าวสาลี) โดยรวมของอินเดีย ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2561 มีจำนวนประมาณ 69.451 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับจำนวน 58.901 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ลดลงร้อยละ 5

เมื่อเทียบกับจำนวน 65.192 ล้านตัน ในเดือนที่ผ่านมา โดยสต็อกข้าวสาลีมีประมาณ 41.801 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับจำนวน 32.275 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับจำนวน 43.755 ล้านตัน ในเดือนที่ผ่านมา

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ปากีสถาน

สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมาค่าเงินรูปีของปากีสถานได้ปรับลดลง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินรูปีปากีสถานลดลงประมาณร้อยละ 5 เป็นประมาณร้อยละ 127.75 - 128 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ธนาคารกลาง (the Central Bank) ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนถูกขับเคลื่อนโดยแรงซื้อขายในตลาด และนักค้าเงินบางรายตั้งข้อสังเกตว่าธนาคารกลางได้ปรับลดค่าเงินรูปี

ธนาคารแห่งประเทศปากีสถาน (The State Bank of Pakistan; SBP) รายงานว่า นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ปากีสถานได้ลดค่าเงินรูปีลงไปแล้วสามครั้ง โดยครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2560 ลดค่าเงินรูปีประมาณร้อยละ 10 ครั้งที่สองเดือนมีนาคม 2561 ลดลงประมาณร้อยละ 10 และครั้งที่สามเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาปรับลดลงอีกร้อยละ 4 ซึ่งหาก SBP ปรับลดค่าเงินรูปีในครั้งนี้ตามกระแสข่าวจริงจะถือว่าเป็นการลดค่าเงินครั้งที่ 4 ในรอบ 7 เดือน

ทั้งนี้ เป็นที่เข้าใจกันว่าการลดค่าเงินเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของ SBP ในการหลีกเลี่ยงวิกฤตการ ทางการชำระเงิน (payments crisis) ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งในวันที่ 25 กรกฎาคม โดยดุลบัญชีเดินสะพัด (the current account balance) ของประเทศมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ(the foreign exchange reserves) ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ