สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 28, 2019 14:08 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 18 - 24 มกราคม 2562

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด10 โครงการดังนี้

(1) ด้านการผลิต*ได้แก่

1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่)

2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์

3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง

4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming)

5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ

6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร

7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง

หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ

(2) ด้านการตลาด
  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการได้แก่

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการนบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก

(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น

(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิสัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,914 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,971 บาท บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.38

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,633 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,728 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.23

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,590 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,158 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,454 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,153 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,414 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.43 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 40 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,907 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 409 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,917 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 10 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,686 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,664 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 22 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 417 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,127 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,012 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.21 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 115 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.4800

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

กัมพูชา

รัฐบาลกัมพูชาระบุว่า กรณีที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้กำหนดอัตราภาษีข้าวที่นำเข้าจากกัมพูชาและเมียนมาร์เป็นเวลา 3 ปี เพื่อควบคุมการนำเข้าข้าวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสหภาพยุโรประบุว่า กระทบต่อผู้ผลิตข้าวในสหภาพยุโรปนั้นถือเป็น อาวุธที่ทำร้ายเกษตรกรผู้ยากจนของกัมพูชา และจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอีกคนหลายล้านคน

ขณะที่พรรคประชาชนกัมพูชา (The ruling Cambodian People’s Party; CPP) ของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติทางการค้าที่จะส่งผลกระทบต่อชาวกัมพูชาที่ยากจนหลายล้านชีวิต

ในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกข้าวจากกัมพูชาไปยังปลายทางประเทศในสหภาพยุโรปเริ่มชะลอลง จากความกังวลเกี่ยวกับกรณีที่สหภาพยุโรปจะประกาศใช้มาตรการภาษีนำเข้าข้าวจากกัมพูชาและเมียนมาร์ในช่วงกลางเดือนนี้ โดยขณะนี้ผู้นำเข้าข้าวในสหภาพยุโรปกำลังรอฟังการพิจารณาอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรปว่า จะประกาศมาตรการดังกล่าวออกมาอย่างไรบ้าง ทางด้านผู้ส่งออกข้าวกัมพูชาก็กังวลเกี่ยวกับการที่ผู้ซื้ออาจจะยกเลิกคำสั่งซื้อ หากสหภาพยุโรปประกาศใช้มาตรการทางภาษีสำหรับข้าวที่นำเข้าจากกัมพูชา

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

อินโดนีเซียวางแผนการส่งออกข้าวในปีนี้ โดยหน่วยงาน Bulog สามารถรับซื้อข้าวจากเกษตรกรมากขึ้น แม้ในปีที่ผ่านมา จะนำเข้าข้าว 2 ล้านตัน

ผู้อำนวยการ Bulog กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับการนำเข้าข้าวจากอินโดนีเซีย และมีหลายประเทศพร้อมที่จะซื้อข้าวจากอินโดนีเซีย ทั้งนี้การส่งออกข้าวที่มีประสิทธิภาพจะอยู่ระหว่าง ช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวสูงสุด คือช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งจำเป็นต้องรับซื้อข้าวให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกร

การสำรองข้าวของรัฐบาลที่คลังของ Bulog มีปริมาณถึง 2.1 ล้านตัน จากที่ตั้งเป้ารับซื้อข้าวจากเกษตรกร ในเดือนเมษายนที่ 1.8 ตัน ขณะที่คลังของ Bulog มีความจุได้สูงสุดที่ 3.6 ล้านตัน ดังนั้นจึงคาดว่าผลผลิตส่วนเกินในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวจะมีปริมาณ 300,000 ตัน

ปีนี้ Bulog แจกจ่ายข้าวให้กับผู้ยากจนปริมาณ 300,000 ตันเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบ e-money ซึ่งสามารถนำไปซื้ออาหารที่ร้านค้าที่กำหนด ส่วนปีที่ผ่านมา Bulog ได้ดำเนินการจัดจำหน่ายข้าวปริมาณ 16 ล้านตัน และอีก 1.7 ล้านตัน มอบให้แก่ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย

ที่มา : หนังสือพิมพ์ The Nation

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ