สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 23, 2019 13:48 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 16 - 22 สิงหาคม 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565

(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว

(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 16,087 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,837 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.58

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,959 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,907 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.65

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 35,050 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 34,800 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.72

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,950 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,825 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.06

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,209 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,953 บาท/ตัน)

ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,193 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,428 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.34 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 525 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 429 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,112 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 12 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 419 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,807 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,825 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 18 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 436 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,326 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 13 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.5650

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2562/63 ณ เดือนสิงหาคม 2562 ว่าจะมีผลผลิต 497.858 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 498.623 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลงร้อยละ 0.15 จากปี 2561/62

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลก ปี 2562/63 ณ เดือนสิงหาคม 2562 มีปริมาณผลผลิต 497.858 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2561/62 ร้อยละ 0.15 การใช้ในประเทศ 494.496 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก ปี 2561/62 ร้อยละ 1.01 การส่งออก/นำเข้า 46.921 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2561/62 ร้อยละ 1.35 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 174.661 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2561/62 ร้อยละ 1.96

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน กายานา อินเดีย แอฟริกาใต้ ไทย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล กัมพูชา ปากีสถาน ปารากวัย และรัสเซีย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา เบนิน บราซิล เบอร์กินา คาเมรูน จีน กินี เคนย่า เม็กซิโก โมแซมบิค เนปาล ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อียิปต์ อียู อิหร่าน อิรัก และฟิลิปปินส์

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาอ่อนตัวลงท่ามกลางความต้องการที่ลดลงจากจีน ขณะที่ผู้ส่งออกกำลังมองหาผู้ซื้อรายใหม่ๆ โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 335-345 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากตันละ 340-350 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนมีประมาณ 318,100 ตัน เท่านั้น ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 65.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แม้ว่าผู้นำเข้าจีนยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าว แต่การซื้อข้าวจากเวียดนามมีอุปสรรคทางด้านเทคนิคที่รัฐบาลจีนมีมาตรการตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้น ดังนั้น ในปีนี้กระทรวงการค้า (Ministry and Industry and Trade) จึงมีแผนในการเดินทางไปขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น เช่น เม็กซิโก เป็นต้น

วงการค้าข้าว รายงานว่า ช่วงวันที่ 1-11 สิงหาคม 2562 เวียดนามส่งออกข้าวแล้วประมาณ 198,700 ตัน โดยเป็นการส่งออกข้าวขาว 5% ประมาณ 75,300 ตัน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การประมูลขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2562 ศูนย์การค้าธัญพืชแห่งชาติ (the National Grain Trade Center) สามารถขายข้าวเก่าจากสต็อกรัฐบาล ปี 2556-2558 ได้ประมาณ 460,692 ตัน จากที่นำข้าวเก่าในสต็อกของรัฐบาลออกมาประมูลประมาณ 1,784,244 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 25.82 ของปริมาณข้าวที่นำมาเสนอขาย) โดยมีราคาเฉลี่ยที่ 2,126 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 302 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

มีรายงานว่า จีนได้เริ่มทำการซื้อขายข้าวสายพันธุ์ Japonica ในตลาดล่วงหน้าต้าเหลียน (the Dalian Commodity Exchange) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 โดยการซื้อขายเริ่มต้นด้วยราคามาตรฐานที่ 3,550 หยวนต่อตัน สำหรับแต่ละสัญญา (ประมาณ 504 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

ประธานตลาดต้าเหลียน ตั้งข้อสังเกตว่า การซื้อขายล่วงหน้าของข้าวสายพันธุ์ Japonica จะช่วยส่งสัญญาณ ด้านราคา และสร้างความโปร่งใสให้ผู้ผลิตและบริษัทแปรรูปอาหารต่างๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาในอนาคต

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ