สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 13, 2020 13:37 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 6 - 12 มีนาคม 2563

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63และมติที่ประชุม นบข.ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562

การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมายรอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และรอบที่ 2จำนวน 13.81 ล้านไร่

1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร(2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565 (3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว (4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว          ราคาประกันรายได้   ครัวเรือนละไม่เกิน
                      (บาท/ตัน)             (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ          15,000              14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่    14,000              16
ข้าวเปลือกเจ้า             10,000              30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี       11,000              25
ข้าวเปลือกเหนียว           12,000              16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์(ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว 3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 เมษายน 2563

4) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

4.1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้ว เว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

4.2) ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,013 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,986 บาท เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.19

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,545 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,369 บาท เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.10

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 31,550 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,650 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,990 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.08

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,035 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,349 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,057 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,995 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.08 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 646 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 491 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,346 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 471 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,702 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.24 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 644 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 476 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,877 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 459 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,328 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.70 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 549 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 488 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,252 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 468 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,609 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.27 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 643 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.2546

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับสูงขึ้น โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 390-400 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากตันละ 365-375 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นระดับราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เนื่องจากคาดว่าความต้องการข้าวจากฟิลิปปินส์และมาเลเซียจะเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งคาดว่าคิวบา และประเทศในแถบแอฟริกา จะเพิ่มการนำเข้าข้าวจากเวียดนามด้วยเช่นกัน ขณะที่อุปทานข้าวในตลาดค่อนข้างตึงตัว เพราะผลผลิตข้าว ฤดูใหม่เพิ่งมีการเก็บเกี่ยวไปประมาณร้อยละ 60-70

กระทรวงเกษตร (the Ministry of Agriculture and Rural Development; MARD) รายงานว่า การส่งออกข้าวในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มีประมาณ 890,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 410 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยข้าวขาว 5% ในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ตันละประมาณ 380 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับตันละ 345 ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากฟิลิปปินส์มีความต้องการข้าวมากขึ้น โดยในช่วง 2 เดือนแรก ตลาดนำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามคือ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มาเลเซียซื้อข้าวจากเวียดนามแล้วประมาณ 90,000 ตัน นอกจากนี้ ยังคาดว่าตลาดสำคัญในปีนี้ ได้แก่ เกาหลีใต้ ซึ่งจัดสรรโควตานำเข้าจากเวียดนาม จำนวน 55,112 ตัน ขณะที่อินโดนีเซีย คาดว่าจะนำเข้าข้าวมากถึง 1 ล้านตัน เนื่องจากในปี 2562 ที่ผ่านมา มีการนำเข้าข้าวจากทุกประเทศไม่มากนัก

นาย Le Thanh Tung รองหัวหน้ากรมเพาะปลูกพืชในสังกัดกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (MARD) เปิดเผยว่า ในปีนี้คาดว่าเวียดนามจะบรรลุเป้าหมายการส่งออกข้าวที่ 6.7 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการทั่วโลกสูง และผลผลิตข้าวมีเพียงพอสำหรับอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าทั่วโลก ทำให้มีความต้องการสำรองข้าวในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดส่งออกข้าวเดิมของเวียดนาม เช่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย คาดว่าจะนำเข้าข้าวปริมาณมากจากเวียดนาม ดังนั้น เวียดนามจึงมีโอกาสในการกระตุ้นการส่งออกข้าว

สำหรับผลผลิตข้าวในฤดูการผลิตฤดูหนาว-ใบไม้ผลิ คาดว่าจะมีผลผลิตเพียงพอสำหรับการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งในฤดูการผลิตฤดูหนาว-ใบไม้ผลิ ของปี 2562/63 เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 175,000 ไร่ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และปัญหาดินเค็มที่รุนแรง ซึ่งคิดเป็นส่วนเล็กๆ จากจำนวนพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 10.31 ล้านไร่ ในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ดังนั้น เวียดนามจะมีข้าวเพียงพอนอกจากนี้ ธนาคารแห่งเวียดนามได้ขอให้ธนาคารต่างๆ เพิ่มการปล่อยสินเชื่อเพื่อการผลิตและบริโภคข้าว

ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งธนาคารต่างๆ มีการปล่อยสินเชื่อในระยะเวลา 3-6 เดือน ด้วยอัตราดอกเบี้ยรายปีที่ร้อยละ 6 เพื่อให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรในอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ขณะที่มูลค่าการส่งออกข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้นในตลาดโลก เนื่องจากมีหลายธุรกิจที่สร้างห่วงโซ่คุณค่าสำหรับข้าว แม้ว่าข้าวในประเทศยังมีคุณภาพต่ำ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเพื่อให้บรรลุการเติบโตของการส่งออกอย่างยั่งยืน อุตสาหกรรมการผลิตข้าวจะต้องพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าต่อไป

ทางด้านนาย Pham Thai Binh ผู้อำนวยการทั่วไป บริษัท Trung An High-tech Agriculture Joint Stock Company กล่าวว่า หากมีการลงทุนในห่วงโซ่คุณค่า โดยเกษตรกรทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ จะทำให้การผลิตและการบริโภคมีความมั่นคงจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ สินค้าเกษตรที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ปลาสวาย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ยางพารา และผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออกลดลงอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันการส่งออกข้าวมีปริมาณการส่งออกถึง 890,000 ตัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 จากปีที่แล้ว และมีมูลค่าการส่งออก 420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32.6 จากปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ความต้องการข้าวที่เพิ่มขึ้นในหลายตลาด ทำให้การส่งออกข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดภายในประเทศพุ่งสูงขึ้น โดยในช่วง 2 เดือนแรก ราคาข้าวที่ซื้อหน้าคลังสินค้ามีมูลค่า 5,400-6,400 ด่องต่อกิโลกรัม ซึ่งแพงกว่าราคาที่ไร่นาประมาณ 1,000 ด่องต่อกิโลกรัม ขณะที่ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ราคาส่งออกข้าวขาว 5% มีราคาเพิ่มขึ้นเป็นตันละ 380 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561

สำนักงานการค้าเวียดนามในประเทศแอลจีเรีย (The Vietnam Trade Office in Algeria) รายงานว่า ในปี 2563 เวียดนามตั้งเป้าที่จะส่งออกข้าวไปยังเซเนกัล และประทศในแถบแอฟริกาเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับเวียดนาม โดยมองว่าในช่วงนี้หลายประเทศมีการนำเข้าข้าวเพื่อเก็บสต็อกไว้มากขึ้น เพราะเกรงว่าการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 อาจจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าในตลาด ทั้งนี้ ในปี 2562 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังเซเนกัลประมาณ 96,665 ตัน มูลค่าประมาณ 32.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปริมาณและมูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,213 และร้อยละ 920 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

คณะทำงานของรัฐบาลได้ออกมากระตุ้นเตือนผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนว่า ประเทศจีนจะต้องไม่มีปัญหาเกี่ยวกับผลผลิตธัญพืชลดลงในปีนี้ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับมาตรการต่อสู้กับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ

ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่จะเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ คณะทำงานกลางของรัฐบาลได้สั่งการให้จังหวัดกระตุ้น เตือนเกษตรกรและรับประกันว่าพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตธัญพืช จะยังคงมีเสถียรภาพมาตรการที่ให้ประชาชนอาศัยอยู่ในบ้านและไม่ให้ออกนอกบ้านเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า ทำให้เกิดความกังวลว่าเกษตรกรจะไม่สามารถทำการไถหว่านพืชต่างๆ ได้ ในขณะเดียวกันรัฐบาลยังได้แนะนำว่าในพื้นที่ที่ปัญหาการระบาดลดลง และไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ควรจะทำการเพาะปลูกมากกว่าปกติเป็น 2 เท่า และควรขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวต้นฤดูให้มากขึ้นด้วย

เมื่อสัปดาห์ก่อน สำนักงานอาหารและปัจจัยสำรองแห่งชาติ (The National Food and Strategic Reserves Administration) ระบุว่า ในปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าจัดหาข้าวไว้ที่ 50 ล้านตัน ประกอบด้วย ข้าวเมล็ดสั้น (พันธุ์ japonica) จำนวน 30 ล้านตัน และข้าวเมล็ดยาว (indica) จำนวน 20 ล้านตัน โดยกำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำ (The floor price) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยข้าวเมล็ดยาวต้นฤดู (early-season long grain rice) กำหนดไว้ที่ 2,420 หยวนต่อตัน หรือตันละประมาณ 346 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 2,400 หยวนต่อตัน หรือตันละประมาณ 343 เหรียญสหรัฐ ในปี 2562 ที่ผ่านมา ส่วนข้าวเมล็ดยาวปลายฤดู (late-season long grain rice) กำหนดไว้ที่ 2,540 หยวนต่อตัน หรือตันละประมาณ 363 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 2,520 หยวนต่อ ตัน หรือตันละประมาณ 360 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้าวเมล็ดสั้นรัฐบาลคงราคาไว้ที่ 2,600 หยวนต่อตัน หรือตันละประมาณ 372 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับในปี 2562 ที่ผ่านมา

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2020 ทีมนักวิจัย นำโดย นายหยวน หลงผิง นักปฐพีวิทยาซึ่งเป็นที่รู้จักจากผลงานการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวลูกผสมสายพันธุ์แรก เปิดตัวโครงการอันมุ่งมั่นเพื่อเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ดินเค็มด่าง บนเนื้อที่ 10,000 หมู่ (ประมาณ 41,000 ไร่) ในมณฑลซานตง ทางตะวันออกของจีน โดยคนงานของโครงการดังกล่าว เริ่มปรับผิวดินเค็มด่างในเมืองชิงเต่า เมืองติดทะเลของซานตงแล้ว 330 เฮกตาร์ (ประมาณ 2,000 ไร่) และจะเริ่มนำต้นกล้ามาปลูกในเดือนพฤษภาคมนี้

นาย จางกั๋วต้ง รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวทนเค็มด่างของชิงเต่า ระบุว่าพวกเขาจะปลูกข้าวทนดินเค็มด่างอีก 330 เฮกตาร์ (ประมาณ 2,000 ไร่) ในเมืองตงอิ๋ง และเหวยฟาง ซึ่งเป็นเมืองติดทะเลของซานตงเช่นกัน ซึ่งในครั้งนี้นายหยวนไม่ได้เดินทางมายังสถานที่ดำเนินโครงการ สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แต่ส่งจดหมายแสดงการสนับสนุนมาแทน

ทีมวิจัยและเพาะปลูกดังกล่าว จะนำข้าวเชาโยว 1000 (Chaoyou 1000) ซึ่งเป็นข้าวลูกผสมขั้นสูงที่มีแนวโน้มผลผลิตดีมาปลูกในดินเค็มด่าง โดยหยวนระบุในจดหมายว่าเมื่อปี 2562 ทีมวิจัยได้ปลูกข้าวชนิดนี้ที่เมืองตงอิ๋งแล้ว 500 หมู่ (ประมาณ 200 ไร่) และได้ผลผลิตถึง 600 กิโลกรัมต่อหมู่ โดยก่อนหน้านี้ ทีมนักวิจัยของทีมนายหยวนได้ทดสอบปลูกข้าวในดินเค็มด่างเมื่อปี 2562 ในฐานทดลอง 6 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ มณฑลเฮยหลงเจียง มณฑลซานตง และมณฑลเจ้อเจียง พร้อมกับประสบความสำเร็จ ในการปลูกข้าวทนดินเค็มด่าง ในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อีกด้วย โดยพื้นที่ทดลองดังกล่าว มีเนื้อที่รวม 20,000 หมู่ (ประมาณ 8,300 ไร่) และให้ผลผลิตมากกว่า 500 กิโลกรัมต่อหมู่

ทั้งนี้ จีนมีพื้นที่ดินเค็มด่างอยู่ประมาณ 100 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 625 ล้านไร่) โดยประมาณ 1 ใน 5 ของทั้งหมด สามารถปรับปรุงให้เป็นดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกได้

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ