สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 14, 2020 13:39 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 4 - 10 กันยายน 2563

1) สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว
1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์ (ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ วงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 30 เมษายน 2563

4) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นรวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

4.1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อยอัตราไร่ละ 500 บาทครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูก ที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้วเว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

4.2) ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,957 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,181 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.58

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,809 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,502 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.22

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,425 บาท ราคาลดลงจากตันละ 32,050 ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.95

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,600 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,970 ในสัปดาห์ก่อน ร้อยละ 2.47

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 940 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,230 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 515 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,014 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 495 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,392 บาท/ตัน)

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 522 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,232 บาท/ตัน)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.0953 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากอุปทานข้าวในตลาดลดน้อยลง โดยข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ประมาณตันละ 490 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากตันละ 480-490 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในสัปดาห์ก่อนหน้า (เป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2554) ขณะที่วงการค้าคาดว่าราคาข้าวไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นอีก เนื่องจากความต้องการข้าวจากต่างประเทศเริ่มลดลง และในช่วงนี้ผู้ส่งออกยังไม่ทำสัญญาขายข้าวล็อตใหม่ เพราะอุปทานข้าวมีจำกัดเนื่องจากการเก็บเกี่ยวข้าวฤดูการผลิตฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (the summer-autumn crop) สิ้นสุดลงแล้ว โดยผู้ส่งออกต่างมุ่งเน้นไปที่การจัดหาข้าวเพื่อส่งมอบให้กับผู้ซื้อ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ คิวบา ตามสัญญาที่ค้างอยู่วงการค้ารายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรว่า ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 603,500 ตัน โดยส่งไปยังประเทศฟิลิปปินส์มากที่สุด จำนวนประมาณ 222,300 ตัน

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อน สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the General Statistics Office; GSO) รายงานว่า ในเดือน สิงหาคม 2563 เวียดนามส่งออกข้าวจำนวนประมาณ 500,000 ตัน มูลค่าประมาณ 251 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯโดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 16.7 และร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในช่วง8 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-สิงหาคม) เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 4.5 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณลดลงร้อยละ 1.7 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับช่วง เดียวกันในปีที่ผ่านมา

ทางด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในเดือนกรกฎาคม 2563 เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 464,054 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 3.17 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมาที่ส่งออกจำนวน 449,791 ตัน แต่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาโดยในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ชนิดข้าวที่เวียดนามส่งออกประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 204,360 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 273 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 19,303 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 13,370 ตัน ปลายข้าวขาว จำนวน 9,073 ตัน ข้าวเหนียว จำนวน 57,375 ตัน ข้าวหอม จำนวน 140,220 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน 20,080 ตัน โดยส่งไปยังตลาดในภูมิภาคต่างๆ ประกอบด้วย

1. ตลาดเอเชีย จำนวน 289,145 ตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 161,927 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 200 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 18,653 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 9,091 ตัน ปลายข้าวขาว จำนวน 6,568 ตัน ข้าวเหนียว จำนวน 56,329 ตัน ข้าวหอม จำนวน 25,565 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน 10,812 ตัน

2. ตลาดแอฟริกา จำนวน 111,234 ตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 8,047 ตัน ปลายข้าวขาว จำนวน 2,048 ตัน ข้าวเหนียว จำนวน 5 ตัน ข้าวหอม จำนวน 100,872 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน 263 ตัน

3. ตลาดยุโรป จำนวน 4,391 ตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 597 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 23 ตัน ข้าวเหนียว จำนวน 47 ตัน ข้าวหอม จำนวน 2,959 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน 766 ตัน

4. ตลาดอเมริกา จำนวน 33,755 ตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 31,521 ตัน ข้าวเหนียว จำนวน 22 ตัน ข้าวหอม จำนวน 1,984 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน 228 ตัน

5. ตลาดโอเชียเนีย จำนวน 22,286 ตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 2,134 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 73 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 650 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 3,526 ตัน ปลายข้าวขาว จำนวน 76 ตัน ข้าว เหนียวจำนวน 211 ตัน ข้าวหอม จำนวน 8,154 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน 7,462 ตัน

6. ตลาดอื่นๆ จำนวน 3,242 ตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 134 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 730 ตัน ปลายข้าวขาว จำนวน 380 ตัน ข้าวเหนียว จำนวน 761 ตัน ข้าวหอม จำนวน 687 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน 550 ตัน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ญี่ปุ่น

กระทรวงเกษตรฯ (the Ministry of Agriculture, Fisheries and Forests; MAFF) ประกาศเปิดการประมูลนำเข้าข้าวแบบ Simultaneous Buy and Sell (SBS) tender ครั้งที่ 1 ของปีงบประมาณ 2564 (เมษายน 2563-มีนาคม 2564) ในวันที่ 25 กันยายน 2563 นี้ ซึ่งกำหนดซื้อข้าว จำนวน 25,000 ตัน

สำนักข่าว Asian Nikki รายงานว่า การบริโภคข้าวของประชากรญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2562/63 (กรกฎาคม 2562-มิถุนายน 2563 มีประมาณ 7.13 ล้านตัน ซึ่งลดลงประมาณร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับจำนวน 7.35 ล้านตันในปีงบประมาณก่อนหน้าเดือนตุลาคม 2562 การซื้อข้าวลดลงประมาณร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่การซื้อขนมปังและอาหารประเภทเส้นเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 และในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายนของปีนี้การขายข้าวสำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ลดลงประมาณ 86,000 ตัน อย่างไรก็ตามการบริโภคของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ประมาณ 77,000 ตัน ทั้งนี้ การบริโภคข้าวที่ลดลงเป็นผลมาจากการที่ญี่ปุ่นมีประชากรลดลง พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ เปลี่ยนไป การขึ้นภาษีการบริโภค [รัฐบาลขึ้นภาษีการบริโภค (the consumption tax) จากอัตราเดิมที่ 8% เป็น 10%] และการระบาดของ COVID-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ขณะเดียวกันรัฐบาลสนับสนุนให้ชาวนาลดการปลูกข้าวเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา โดยรัฐบาลได้ให้เงินอุดหนุนเพื่อปลูกพืชอื่นๆ ทดแทน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ในระดับทรงตัว ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อ COVID-19 ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การดำเนินงานของโรงสีทำได้ในขีดจำกัด เพราะขาดแคลนแรงงานและมีอุปสรรค ทางด้านระบบโลจิสติกส์ของผู้ส่งออก จึงทำให้การส่งออกข้าวในช่วงนี้ถูกจำกัดปริมาณส่งออกไปโดยปริยาย แม้ตลาด ต่างประเทศจะยังคงมีความต้องการข้าวจากอินเดีย ส่งผลให้ราคาข้าวส่งออกปรับตัวสูงขึ้น โดยข้าวนึ่ง 5% ราคาอยู่ที่ตันละ 384-390 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า โดยในช่วงนี้ผู้ส่งออกยังไม่มีการปรับขึ้นราคาส่งออกแต่หากค่าเงินรูปีแข็งค่าขึ้นก็อาจต้องมีการปรับขึ้นราคา ซึ่งค่าเงินรูปีได้แข็งค่าขึ้นประมาณ 3% ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

กระทรวงเกษตร (the Indian Agriculture Ministry) รายงานว่า การเพาะปลูกข้าวและพืชชนิดอื่นๆ ในฤดูการผลิต Kharif (มิถุนายน-ธันวาคม 2563) ปีการผลิต 2563/64 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว (ฤดูฝนหรือฤดูมรสุมเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-30 กันยายน) โดยข้อมูล ณ วันที่ 4 กันยายน 2563 มีการเพาะปลูกข้าวไปแล้วประมาณ 247.6125 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับ 228.7 ล้านไร่ ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สำหรับการเพาะปลูกพืชทุกชนิดในฤดูการผลิต Kharif crop มีประมาณ 684.6125 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับ 643.95 ล้านไร่

ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย (IMD) รายงานว่า นับตั้งแต่เข้าสู่ฤดูฝนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563จนถึงวันที่ 6 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา อินเดียมีปริมาณน้ำฝนตกสะสมมากกว่าค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7 โดยภาคกลาง (the Central region) และภาคใต้ (the Southern Peninsular region) มีฝนมากกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 17 และร้อยละ 20 ตามลำดับ ขณะที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (the North-western region) มีฝนต่ำกว่าปกติ ประมาณร้อยละ 10 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (the North-eastern region) มีฝนอยู่ในระดับค่าปกติ โดยในเดือน สิงหาคมที่ผ่านมามีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว (long-term average) ประมาณร้อยละ 27 และคาดว่าในเดือนกันยายนนี้ ปริมาณน้ำฝนจะอยู่ในระดับใกล้เคียงค่าปกติซึ่งค่าเฉลี่ยของปริมาณฝนในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 104 ของค่าปกติซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้ให้ความหมายของค่าปกติหรือค่าเฉลี่ย (normal or average monsoon) อยู่ในช่วงร้อยละ 96-104 (+/- 4%) ของค่าเฉลี่ยปริมาณฝนที่ตกในรอบ 50 ปีที่ระดับ 89 เซนติเมตรหรือประมาณ 35 นิ้ว

ในช่วงของฤดูฝนหรือฤดูมรสุมที่อยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนของทุกปี โดยกรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย (IMD) พยากรณ์ว่า ในช่วงที่สองของฤดูฝนในปีนี้จะมีฝนตกในระดับปกติโดยอยู่ในช่วงร้อยละ 102 (+/- 4%) ของค่าเฉลี่ย ระยะยาว (the long period average; LPA) โดยในเดือนสิงหาคมจะอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 97 ทางด้านกระทรวงทรัพยากรน้ำ (The Ministry of Water Resources) รายงานว่าปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำหลักทั่วประเทศ 123 แห่ง ณ วันที่ 3 กันยายน 2563 มีปริมาณน้ำกักเก็บประมาณ 139.16 พันล้าน ลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับจำนวน 134.66 พันล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับจำนวน 131.172 พันล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าโดยปริมาณน้ำที่กับเก็บในขณะนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 81 ของความจุของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำได้เต็มที่ ประมาณ 171.1 พันล้านลูกบาศก์เมตร

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ