สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 22, 2020 13:21 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 11 - 17 กันยายน 2563

1) สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว
1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์(ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ วงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 30 เมษายน 2563

4) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นรวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

4.1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อยอัตราไร่ละ 500 บาทครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูก ที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้วเว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

4.2) ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,412 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,957 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.90

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,307 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,809 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.11

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,050 บาท ราคาลดลงจากตันละ 31,425 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.19

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,110 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,600 บาท ในสัปดาห์ก่อน ร้อยละ 3.36

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 931 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,843 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 940 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,230 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.96 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ387 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 513 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,893 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 515 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,014 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.39 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 121 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 494 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,305 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 495 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,392 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 87 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 509 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,769 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 522 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,232 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.49 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 463 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.9809 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากอุปทานข้าวในตลาดลดน้อยลง โดยข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ประมาณตันละ 490-495 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากตันละ 490 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า(เป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2554) โดยช่วงนี้ผู้ส่งออกกำลังเร่งจัดหาข้าวเพื่อส่งมอบให้กับผู้ซื้อ เช่น มาเลเซีย ติมอร์เลสเต และประทศในแถบแอฟริกา ตามสัญญาที่ค้างอยู่ขณะที่ วงการค้าข้าวคาดว่า ราคาข้าวจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ เนื่องจากจะเริ่มมีการเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูใหม่ คือ ฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว (the autumn-winter crop) ขณะเดียวกันก็คาดว่าผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ เช่น ฟิลิปปินส์จะชะลอการซื้อข้าวไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากกำลังจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวภายในประเทศเช่นกัน The Oceanic Agency and Shipping Service ระบุว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 3-25 กันยายน 2563 มีเรือ บรรทุกสินค้าอย่างน้อย 8 ลำ เข้ามาจอดรอรับข้าวประมาณ 78,750 ตัน ที่ท่าเรือ Ho Chi Minh City Port รัฐบาลเวียดนามได้ออกระเบียบว่าด้วยการส่งออกข้าวหอมไปยังสหภาพยุโรป ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี สหภาพยุโรป-เวียดนาม (Decree 103/2020/ND-CP for the export certification of fragrant rice varieties to the EU under the Europe-Vietnam Free Trade Agreement (EVFTA) agreement) ซึ่งระเบียบดังกล่าว

กำหนดให้ข้าวหอมที่จะส่งไปยังสหภาพยุโรปมีทั้งหมด 9 พันธุ์ ประกอบด้วย Jasmine 85, ST 5, ST 20, Nang Hoa 9, VD 20, RVT, OM 4900, OM 5451 และ Tai nguyen Cho Dao (medium grain) ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสามารถยื่นขออนุญาตส่งออกข้าวพร้อมเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปที่กรมการเพาะปลูกพืช (the Plant Cultivation Department)ภายใต้กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (the Ministry of Agriculture and Rural Development; MARD) เพื่อออกใบรับรองสำหรับการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ เวียดนามได้รับโควตาส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป ในอัตราภาษี 0 ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรียุโรป-เวียดนาม ในโควตา 80,000 ตันต่อปี เป็นข้าวสาร 30,000 ตัน ข้าวกล้อง 20,000 ตัน และข้าวหอม 30,000 ตัน โดยสหภาพยุโรปจะเปิดเสรีข้าวอย่างเต็มที่เพื่อช่วยให้เวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้ 100,000 ตันต่อปี สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าว ใน 3-5 ปีข้างหน้า จะลดอัตราภาษีลงเหลือ 0% เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง คิดเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมด หรือคิดเป็นพื้นที่ 1 ล้านเฮกตาร์ (หรือ 6.25 ล้านไร่) ซึ่งสามารถผลิตข้าวหอมได้ประมาณปีละ 5.5 ล้านตันข้าวเปลือก โดยปริมาณข้าวหอมที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปที่ได้รับโควตาพิเศษ ประมาณ 30,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 12 ของผลผลิตข้าวที่ผลิตได้ในเขตนี้ และเวียดนามกำลังวางแผนที่จะขยายการส่งออกข้าวไปยังตลาดแอฟริกามากขึ้น โดยกรมการตลาดเอเชียแอฟริกา ภายใต้กระทรวงการค้า (The Asia-African Market Department at the Ministry of Industry and Trade) ร่วมมือกับหน่วยงานทางการค้าเตรียมจัดการสัมมนาออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการขยายตลาดส่งออกในตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งประเทศในแถบแอฟริกาที่เป็นผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญจะอยู่ทางฝั่งตะวันตก และมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผลผลิตข้าวในประเทศไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการบริโภค เช่น ประเทศแอลจีเรีย มีความต้องการนำเข้าข้าวประมาณปีละ 100,000 ตัน ขณะที่ประเทศเซเนกัลมีความต้องการนำเข้าข้าวประมาณปีละ 800,000 ตัน โดยเฉพาะในกลุ่มของข้าวหัก ซึ่งในปี 2562 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังเซเนกัลประมาณ 96,665 ตัน มูลค่าประมาณ 32.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 13 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย, mekongoryza

บราซิล : เปิดโควตานำเข้าข้าว อัตราภาษีร้อยละ 0 จำนวน 400,000 ตัน

สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการบริหารการค้าต่างประเทศของบราซิล (Brazil’s Executive Secretary of the Foreign Trade Board: CAMEX) ได้มีมติเมื่อวันพุธที่ 9 กันยายน 2563 ให้นำเข้าข้าวเปลือกและข้าวสาร อัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 0 จำนวน 400,000 ตัน เพื่อบรรเทาปัญหาราคาข้าวของบราซิลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นมาก อันเนื่องมาจากความต้องการบริโภคที่มากขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีผลตั้งแต่สัปดาห์นี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 บราซิลเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคข้าวรายใหญ่ที่สุดนอกเอเชีย มีอุปทานต่อปีโดยเฉลี่ยถึง 15 ล้านตันข้าวเปลือกเมื่อสีแปรสภาพเป็นข้าวสารและผลิตภัณฑ์ได้ประมาณ 12.14 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

ข้าวเป็นอาหารหลักอย่างหนึ่งของชาวบราซิล ที่ผ่านมาบราซิลมีการนำเข้าข้าวเฉลี่ยปีละประมาณ 3-4 แสนตันโดยนำเข้าจากปารากวัยเป็นหลัก มีการนำเข้าจากไทยเพียงปีละประมาณ 420-440 ตัน (ข้าวเหนียว 270 ตัน ข้าวเจ้า 170 ตัน) ในอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 12 และข้าวเปลือกร้อยละ 10 ส่วนอัตราภาษีภายในประเทศสมาชิก Mercosur ร้อยละ 0 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ชาวบราซิลต้องใช้เวลาในการอยู่บ้านมากขึ้น

ทำให้มีความต้องการบริโภคข้าวมากขึ้นด้วย ประกอบกับผู้ส่งออกข้าวของบราซิลเองก็สามารถส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาขายปลีกข้าวในบราซิลมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเฉลี่ย 2-4 เฮอัลต่อกิโลกรัม เป็น 3-7 เฮอัลต่อกิโลกรัม ส่งผลให้เกิดการร้องเรียนไปยังรัฐบาลจำนวนมาก จึงทำให้คณะกรรมการบริหารการค้าต่างประเทศของบราซิลพิจารณาอนุญาตให้นำเข้าข้าวเปลือกและข้าวสาร อัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 0 จำนวน 400,000 ตัน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป้าหมายให้มีข้าวสารจำหน่ายในประเทศเพียงพอเพื่อให้ราคาข้าวจำหน่ายปลีกปรับลดลง โดยผู้นำเข้าสามารถลงทะเบียนคำขอโควตาผ่านระบบ SISCOMEX ของกระทรวงการค้าบราซิล ได้ไม่เกินบริษัทละ 34,000 ตัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซาเปาโล พิจารณาแล้วเห็นว่า ในสถานการณ์ที่บราซิลมีความต้องการนำเข้าข้าวมากขึ้น โดยเฉพาะหากผู้นำเข้าสามารถเร่งขออนุญาตการนำเข้าข้าวในอัตราภาษีร้อยละ 0 เช่นนี้จะเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยที่จะเร่งนำเสนอสินค้าข้าวของไทยต่อผู้นำเข้าบราซิล และเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีต่อไปในระยะยาว

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ออสเตรเลีย

The Daily Telegraph รายงานว่า ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนข้าว คาดการณ์ว่าผลผลิตที่ปลูกในประเทศจะหมดในช่วงเทศกาลคริสต์มาส

นายร็อบ กอร์ดอน (Rob Gordon) ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท SunRice ธุรกิจด้านอาหารชั้นนำของ ออสเตรเลียเตือนว่า ชาวออสเตรเลียอาจจะหมดทางเลือกจนต้องหันมากินข้าวที่นำเข้าจากเวียดนามในไม่ช้า เนื่องจากผลผลิตในประเทศลดลงสาเหตุที่ออสเตรเลียมีข้าวไม่พอบริโภค เนื่องจากฝนที่ตกน้อยอากาศแห้งแล้ง ทำให้ตัวเลขการเก็บเกี่ยวลดลงมากกว่าร้อยละ 90 ตั้งแต่ปี 2560 บวกกับแรงซื้อกักตุนช่วงที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ ทำให้การผลิตข้าวลดลงหรือที่ผลิตออกมาแล้วถูกซื้อจนในสต็อกลดน้อยลง

ขณะนี้ชาวนาออสเตรเลียเก็บเกี่ยวข้าวได้เพียง 54,000 ตัน เทียบกับอัตราปกติที่ 800,000 ตัน ก่อนประเทศ จะพบกับวิกฤตฝนแล้งบริษัท SunRice ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่ที่สุดของประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะสูญเสียรายได้จากการส่งออกมากกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ SunRice เป็นผู้ซื้อข้าวที่ผลิตในประเทศถึงร้อยละ 98 เพื่อจำหน่ายในประเทศและนอกประเทศเมื่อช่วงกลางปีนี้ ก่อนหน้าที่ออสเตรเลียจะสั่งนำเข้าข้าวจากเวียดนามมาทดแทน ออสเตรเลียยังนำเข้าข้าวจากไทยและกัมพูชามาทดแทนปริมาณข้าวที่เพาะปลูกไม่ได้ผล เนื่องจากภาวะแห้งแล้ง โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม BloombergQuint รายงานว่า ร็อบ กอร์ดอน ได้เตือนแล้วว่า ก่อนสิ้นปีนี้ออสเตรเลียจะไม่มีผลผลิตข้าวที่ปลูกได้เอง และเริ่มนำเข้าข้าวจากไทยทั้งในส่วนของข้าวหอมมะลิและข้าวเมล็ดยาว และจำเป็นจะต้องหาผู้ผลิตข้าวรายอื่นๆ จากทั่วโลกเพื่อนำมาทดแทนข้าวภายใน รวมถึงการนำเข้าข้าวจากประเทศที่ห่างไกลอย่างอุรุกวัย

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ