สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 20, 2020 15:47 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 9 - 15 ตุลาคม 2563

1) สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์(ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ วงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม - 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม -30 เมษายน 2563

4) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นรวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

4.1) กลุ่มเป้าหมายเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี2562กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อยอัตราไร่ละ 500 บาทครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้วเว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

4.2) ระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,194 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,378 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.48

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,168 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,226 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.63

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 29,675 บาท ราคาลดลงจากตันละ 30,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.86

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,275 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,910 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.57

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 914 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,238 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 909 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,286 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.55 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 48 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 464 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,335 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 493ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,341 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.88 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 1,006 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 456 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,088 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 478ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,874 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.60 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 786 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 473 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,613 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 496ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,434 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.64 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 821 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.8952 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ตลาดข้าวขาว-ข้าวนึ่งไทยกระแสดี แอฟริกายังนำเข้าถึงปลายปี?63 สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ชี้ตลาดข้าวขาว-ข้าวนึ่งไทย ยังเป็นที่ต้องการจากตลาดแอฟริกา เนื่องจากอินเดียประสบปัญหาการขนส่ง ส่งผลให้หันมาซื้อข้าวไทยทดแทนนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า สถานการณ์ราคาข้าวของไทยในช่วงนี้ยังคงสูงกว่าประเทศคู่แข่งที่สำคัญ แม้ว่าค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง แต่เนื่องจากอุปทานข้าวในประเทศโดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้าที่จะนำไปสีแปรสภาพเป็นข้าวขาวและข้าวนึ่งมีปริมาณจำกัด จึงทำให้ราคาข้าวภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง และส่งผลให้ราคาข้าวส่งออกสูงกว่าประเทศคู่แข่งประมาณ 30-140 ดอลลาร์สหรัฐ

โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 สมาคมฯ ประกาศราคาข้าวขาว 5% ที่ตันละ 495 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เว็บไซต์ Oryza.com รายงานราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ตันละ 463-467, 348-352 และ 403-407 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

ทั้งนี้ ทำให้คาดการณ์การส่งออกข้าวในเดือนกันยายน 2563 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 400,000-500,000 ตัน เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าในแถบแอฟริกายังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวจากไทยทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง เพื่อเตรียมไว้ใช้ในช่วงเทศกาลปลายปีนี้

ขณะที่อินเดียยังคงประสบปัญหาด้านโลจิสติกส์ทำให้การส่งมอบข้าวล่าช้าส่งผลให้ประเทศไทยได้รับอานิสงส์แต่ก็เป็นปริมาณที่ไม่มากนัก ส่วนของการส่งออกข้าวหอมมะลิมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าได้นำเข้าเป็นจำนวนมากแล้ว และบางส่วนรอดูผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดในช่วง 1-2 เดือนนี้

สำหรับการส่งออกข้าวในเดือนสิงหาคม 2563 มีปริมาณ 356,554 ตัน มูลค่า 7,366 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 12.9 และร้อยละ 7.8 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ส่งออกได้ 409,451 ตัน มูลค่า 7,988 ล้านบาท เนื่องจากการส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งมีปริมาณลดลง เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเนื่องจากราคาข้าวไทยยังคงสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย เวียดนาม ประกอบกับผู้นำเข้าบางส่วนมีสต็อกข้าวเพียงพอแล้วจึงชะลอการนำเข้าข้าว เมื่อแยกการส่งออกตามชนิดข้าวมีดังนี้ ข้าวขาวปริมาณ 133,510 ตัน ลดลงร้อยละ18.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โมซัมบิก แองโกล่า จีน เป็นต้นข้าวนึ่งปริมาณ 109,538 ตัน ลดลงร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดประจำในแถบแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้ เบนิน เยเมน เป็นต้น สำหรับการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 68,393 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ17 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนซึ่งส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังตลาดประจำ เช่น สหรัฐฯ ฮ่องกง จีนสิงคโปร์ เป็นต้น

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เวียดนาม

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนามรายงานว่า เวียดนามทำรายได้เกือบ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท) จากการส่งออกข้าวกว่า 5 ล้านตัน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 และร้อยละ 12 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเดือนกันยายนเวียดนามส่งข้าวไปยังต่างประเทศปริมาณ 420,000 ตัน มูลค่า 215 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6.6 พันล้านบาท) หรือปริมาณลดลงร้อยละ 12.2 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 โดยตลาดส่งออกรายใหญ่ คือ จีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้เวียดนามหันมาส่งออกข้าวคุณภาพสูง เช่น ข้าวจาปอนิกา (Japonica) ข้าวหอม และข้าวเหนียวเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ เวียดนามกลับมาดำเนินการส่งออกข้าวตามปกติอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม หลังจากถูกสั่งห้ามส่งออกชั่วคราวในเดือนมีนาคม เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารของประเทศท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ (โควิด-19)สมาคมอาหารของเวียดนาม (VFA) เผยว่า ในปี 2562 เวียดนามส่งออกข้าวได้ 6.3 ล้านตัน ทำรายได้รวม 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 8.7 หมื่นล้านบาท) และคาดว่าในปี 2563 จะส่งออกข้าวรวมได้ประมาณ 6.7 ล้านตัน

ที่มา : xinhuathai.com

บังคลาเทศ

รัฐบาลกำหนดราคารับซื้อข้าวสำหรับโรงสีข้าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวในประเทศ และแก้ปัญหาที่โรงสีข้าวไม่ยอมจัดหาข้าวให้รัฐบาล โดยกระทรวงการอาหารได้กำหนดราคาข้าวเกรดดี[fine rice (miniket)] ที่ราคา 2,575 ทากาต่อ 50 กิโลกรัม หรือประมาณตันละ 510 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้าว BR-28 ที่ราคา 2,550 ทากาต่อ 50 กิโลกรัม หรือประมาณตันละ 505 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยโรงสีข้าวควรจะขายข้าวที่ระดับราคานี้ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2563 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯไม่ได้กำหนดราคาข้าวธรรมดา (coarse rice) เนื่องจากเกิดภาวะขาดข้าวเพราะประชาชนตื่นตระหนกกับการระบาดของ COVID-19 จึงมีการเร่งซื้อข้าวเก็บตุนไว้

กระทรวงการอาหารรายงานว่า ราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ค้าบางรายหันมาใช้วิธีกักตุนข้าว และเก็บข้าวเปลือกและข้าวสารไว้ในโรงสีปิดประมาณ 50 แห่งส่งผลให้ข้าวขาดตลาดและราคาปรับสูงขึ้น ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอาหารได้ออกมาเตือนว่าหากโรงสียังไม่ปฏิบัติตามมาตรการกำหนดราคาข้าวของรัฐบาล รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าข้าวเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ

สำนักข่าว New Age Bangladesh รายงานว่า จากการที่เกิดฝนตกหนักจนทำให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกข้าว จึงคาดว่าผลผลิตข้าวจากฤดูการผลิต Aman (พฤษภาคม-พฤศจิกายน) ในภูมิภาค Rangpur ได้รับความเสียหายประมาณ 143,750 ไร่ และผลผลิตในภูมิภาค Mymensinghได้รับความเสียหายประมาณ 6,250 ไร่ ขณะที่แม่น้ำทั้ง 9 สาย ในบังกลาเทศตอนเหนือมีระดับน้ำสูงเกินระดับวิกฤตในพื้นที่ 10 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563)ทั้งนี้จากการพยากรณ์อากาศคาดการณ์ว่าจะยังคงมีร่องความกดอากาศต่ำบริเวณเหนืออ่าวเบงกอลเหนือในสัปดาห์นี้ทำให้เกิดความกังวลว่าจะยังคงมีฝนตกเพิ่มขึ้นในประเทศต่อไป

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ