สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 1, 2020 14:14 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 20 - 26 พฤศจิกายน 2563

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย3 มาตรการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.50 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/64 โดย ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,301 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,253 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,230 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,172 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.71 2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 30,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,750 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,512 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.76

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 888 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,697 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 876 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,263 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.37 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 434 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 503 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,122 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 496 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,871 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.41 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 251 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,032 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 492 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,751 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.62 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 281 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.0646 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2563/64 ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 ผลผลิต 501.109 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 496.069 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2562/63 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.02

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลก ปี 2563/64 ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 มีปริมาณผลผลิต 501.109 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63 ร้อยละ 1.02 การใช้ในประเทศ 499.242 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63 ร้อยละ 0.84 การส่งออก/นำเข้า 44.263 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63 ร้อยละ 1.33 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 179.777 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63 ร้อยละ 1.05

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กัมพูชา อียู กายานา ปากีสถาน แอฟริกาใต้ ไทย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล เมียนมา อินเดีย ปารากวัย ตุรกี อุรุกวัย และเวียดนาม

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เบนิน คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ เอธิโอเปีย อียู กานา กินี อิหร่าน อิรัก เคนย่า ฟิลิปปินส์ เซเนกัล แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยเมน และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล จีน เม็กซิโก และซาอุดิอาระเบีย

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และไทย

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

กัมพูชา

รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร (Minister of Agriculture, Forestry and Fisheries) ระบุว่า ในปีนี้มีการส่งออกข้าวเปลือกผ่านทางชายแดนไปยังเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละวันมีการส่งออกข้าวเปลือกหลายชนิดไปยังเวียดนามประมาณ 22,131 ตัน โดยผ่านจังหวัดตามแนวชายแดน ซึ่งมีการส่งออกไปประมาณวันละ 10,524 ตัน บางวันสูงถึง 22,131 ตัน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตร ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 กัมพูชาส่งออกข้าวเปลือกไปยังเวียดนามแล้วประมาณ 1,536,350 ตัน ประกอบด้วยข้าวหลายพันธุ์ เช่น Rumduol ราคาประมาณตันละ 270 ดอลลาร์สหรัฐฯ IR 504 ราคาประมาณตันละ 220 ดอลลาร์สหรัฐฯ OM5451 ราคาประมาณตันละ 220 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องในวงการค้าของกัมพูชา ระบุว่า พ่อค้าคนกลางจากเวียดนามจะเข้ามารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรของกัมพูชาโดยตรงแล้วส่งออกไปยังเวียดนามทางชายแดนวันละประมาณ 4 ? 5 รถบรรทุก

เมื่อปีที่ผ่านมา ราคาข้าวในกัมพูชาตกต่ำเหลือประมาณ 170 ? 190 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เนื่องจากพ่อค้าจากเวียดนามไม่เข้ามารับซื้อข้าว ซึ่งต่างจากปีนี้ที่ราคาพุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 240 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน แต่ยังคงมีพ่อค้าเข้ามารับซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยราคาในช่วงนี้จะอยู่ที่ประมาณ 230 ? 240 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

ที่มา : Oryza.com

จีน

ประเทศจีนมีพื้นที่ดินเค็มที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ประมาณ 83 ล้านไร่ ด้วยเหตุนี้ โครงการวิจัยและพัฒนาข้าวน้ำเค็ม จึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของจีนอย่างมาก โดยปกติแล้ว เมล็ดข้าวทั่วไปไม่สามารถงอกในน้ำที่มีความเค็มมากกว่า 0.3% เนื่องจากไม่สามารถดูดซึมน้ำได้และจะขาดน้ำตาย แต่ข้าวที่ทนน้ำเค็มได้ต้องสามารถงอกได้ในน้ำที่มีความเค็ม 0.9% - 1.2 % เนื่องจากเมื่อน้ำทะเลขึ้น ต้นข้าวจะจมอยู่ในน้ำทะเล 3 ? 4 ชั่วโมง

ลักษณะเด่นของข้าวน้ำเค็ม เช่น รากยาว 30 ? 40 ซม. ต้นข้าวที่โตเต็มที่จะสูงกว่าข้าวทั่วไป รวงข้าวขนาดใหญ่และมีสีแดงเลือดนก ต้นข้าวทนต่อน้ำท่วม/ต้านศัตรูพืชและโรคต่างๆ ต้นข้าวล้มยาก เป็นต้น นอกจากนี้ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย/ยาฆ่าแมลง นับว่าเป็นข้าวที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง

การวิจัยข้าวน้ำเค็มของจีนได้เริ่มตั้งแต่ปี 2524 ต่อมาปี 2529 คุณ Cheng Risheng (ประธานสหกรณ์การปลูกข้าวน้ำเค็ม เมือง SuiXi มณฑลกวางตุ้ง) พบข้าวน้ำเค็มในป่าโดยบังเอิญและได้ดำเนินการวิจัยต่อเนื่องมากว่า 30 ปี ต่อมาคุณ Yuan Longping (บิดาแห่งข้าวพันธุ์ไฮบริดที่มีชื่อเสียงอย่างมากในจีน) ได้วิจัย/พัฒนาต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตข้าวน้ำเค็มเพิ่มขึ้นโดยลำดับ

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ทีมงานวิจัยของ Yuan Longping ได้ติดตามผลผลิตข้าวน้ำเค็มของพื้นที่ทดลองในมณฑลเจียงซู พบว่า มีผลผลิตโดยเฉลี่ย 1,926 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งนับว่าผลผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์หากคำนวณผลผลิตข้าวน้ำเค็ม โดยคิดจากพื้นที่ที่สามารถปลูกข้าวน้ำเค็มทั้งหมด ประมาณ 83 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวน้ำเค็มเฉลี่ย 600 กิโลกรัม/ไร่ พบว่า จะมีผลผลิตข้าวน้ำเค็มประมาณ 50 ล้านตัน ซึ่งสามารถใช้เป็นอาหารเลี้ยงประชากรได้ถึง 200 ล้านชีวิต

นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยที่ระบุว่า การปลูกข้าวในน้ำเค็มเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3-5 ปี ทำให้พื้นดินที่ใช้ปลูกข้าวดังกล่าว เปลี่ยนเป็นดินที่สามารถปลูกพืชที่ไม่ทนเค็มได้ นอกจากนี้ การปลูกข้าวน้ำเค็มดึงดูดให้นกกระยางมาอาศัยซึ่งช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพได้ในระดับหนึ่ง

ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน :ขณะนี้จีนมีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน แต่ละปีจึงมีความต้องการบริโภคข้าวมหาศาล ด้วยเหตุนี้จีนจึงได้ส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพันธุ์ข้าว การเพิ่มคุณภาพข้าว การใช้เทคโนโลยีและการจัดการที่ทันสมัย เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชาชนในประเทศ

อนึ่ง จีนมีพื้นดินเค็มที่ไม่สามารถปลูกข้าว ประมาณ 83 ล้านไร่ ด้วยเหตุนี้โครงการวิจัยและพัฒนาข้าวน้ำเค็ม จึงมีความสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตข้าวในประเทศ หากจีนพัฒนาให้สามารถปลูกข้าวในที่ดินเค็มประสบผลสำเร็จทั้ง 83 ล้านไร่ จีนจะมีผลผลิตข้าวต่อปีเพิ่มขึ้นถึง 50 ล้านตัน ซึ่งจะมีปริมาณมากกว่าผลผลิตข้าวทั้งประเทศของไทย (ข้อมูลจากกรมการข้าว คาดการณ์ว่า ปีเพาะปลูก 2563/2564 พื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศไทยประมาณ 68.2 ล้านไร่ ให้ผลผลิตข้าวประมาณ 30.5 ล้านตันข้าวเปลือก ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 447 กิโลกรัม)

ขณะนี้จีนได้ทดลองปลูกข้าวน้ำเค็มประสบผลสำเร็จระดับหนึ่งและผลผลิตต่อไร่ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ประมาณ 600-1,400 กิโลกรัม/ไร่) แต่จีนยังคงศึกษาวิจัยและพัฒนาข้าวน้ำเค็มอย่างเนื่องเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนให้แก่ประชาชนจีน

ปัจจุบัน ในตลาดจีนมีข้าวน้ำเค็มวางจำหน่ายเชิงธุรกิจแล้ว ราคาจำหน่ายใกล้เคียงกับข้าวที่นำเข้า แต่เนื่องจากเป็นสินค้าใหม่จึงได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคค่อนข้างดี การที่จีนได้วิจัย/พัฒนาคุณภาพข้าวและเพิ่มผลผลิตข้าวอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มว่า จีนอาจจะนำเข้าข้าวลดลงหรือส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ จำเป็นต้องจับตามองทิศทางข้าวจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อจะสามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

บังคลาเทศ

หน่วยงาน Directorate General of Food (DGF) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านธัญพืชของรัฐบาลได้ประกาศ เปิดการประมูลนำเข้าข้าวนึ่ง ครั้งที่ 2 จำนวน 50,000 ตัน โดยกำหนดให้ยื่นข้อเสนอภายในวันที่ 2 ธันวาคมนี้และข้อเสนอต้องมีผลไปจนถึงวันที่ 10 ธันวาคมนี้โดยผู้สนใจต้องยื่นข้อเสนอราคาในเทอม CIF (CIF liner out terms, including cost, insurance, freight and ship unloading costs) และกำหนดให้มีการส่งมอบข้าวภายใน ระยะเวลา 40 วัน หลังจากที่มีการทำสัญญาแล้ว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หน่วยงาน DGF ได้ประกาศ เปิดการประมูลนำเข้าข้าวนึ่ง ครั้งที่ 1 จำนวน 50,000 ตัน ซึ่งถือเป็นการเปิดประมูลนำเข้าข้าวครั้งแรกใน รอบ 3 ปี เนื่องจากภาวะราคาข้าวในประเทศพุ่งสูงขึ้นขณะที่อุปทานข้าวมีน้อยลง โดยกำหนดให้ยื่นข้อเสนอภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน โดยข้อเสนอต้องมีผลไปจนถึงวันที่ 10 ธันวาคม และกำหนดให้มีการส่งมอบข้าวภายใน ระยะเวลา 40 วัน หลังจากที่มีการทำสัญญาแล้ว

ทางด้านรัฐมนตรีกระทรวงการอาหาร ระบุว่า รัฐบาลบังคลาเทศมีแผนที่จะประมูลนำเข้าข้าวประมาณ 300,000 ตัน เนื่องจากเกิดภาวะอุปทานข้าวในประเทศขาดแคลน เพราะผลผลิตข้าวบางส่วนได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา

ที่มา Oryza.com

อิรัก

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 รัฐบาลอิรักได้ผ่านร่างงบประมาณประจำปีแบบขาดดุลแล้ว ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่กระทรวงการค้า (The Ministry of Trade; MoT) จะเริ่มประกาศให้มีการประมูลเพื่อนำเข้าข้าว และข้าวสาลี (international rice and wheat tenders) โดยแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดรัฐบาลระบุว่า รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณกว่า 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการจัดหาข้าวและข้าวสาลีซึ่งว่างเว้นไปกว่า 1 ปี กระทรวงการค้า (MoT) ได้จัดประมูลซื้อข้าวครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2562 โดยตกลงซื้อข้าว ประมาณ 120,000 ตัน จากประเทศในแถบอเมริกาใต้และประมูลซื้อข้าวสาลีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยซื้อข้าวสาลีจากสหรัฐฯ และแคนาดา ประมาณ 400,000 ตัน ทางด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-สิงหาคม) อิรักนำเข้าข้าวแล้วประมาณ 700,000 ตัน โดยนำเข้าจากอินเดียประมาณร้อยละ 80 ของปริมาณทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวบาสมาติ ส่วนการนำเข้าข้าวจากเวียดนามมีแนวโน้มลดลงหลังจากที่รัฐบาลเวียดนามได้สั่งห้ามส่งออกข้าวชั่วคราวเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้อิรักหันมานำเข้าข้าวจากประเทศอินเดียมากขึ้น นอกจากทั้งสองประเทศดังกล่าวแล้ว อิรักยังนำเข้าข้าวจำนวนหนึ่งจากประเทศไทย และประเทศในแถบแอฟริกาใต้ เช่น อุรุกวัย อาร์เจนติน่า และนำเข้าจากสหรัฐฯ ประมาณ 100,000 ? 150,000 ตันต่อปี แต่ในปีนี้ผู้ส่งออกข้าวของสหรัฐฯ ไม่ได้มีการส่งออกข้าวมายังประเทศอิรักเพราะอุปทานข้าวในประเทศสหรัฐฯ อยู่ในภาวะตึงตัว ตามปกติแล้วอิรักมักจะนำเข้าข้าวในกลุ่มข้าวหอม เช่น ข้าวบาสมาติ ข้าวหอมเวียดนาม และยังนำเข้าข้าวขาวเมล็ดยาว รวมทั้งข้าวเมล็ดกลางด้วย และจากที่ ในปีนี้การนำเข้าข้าวส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าโดยเอกชนเนื่องจากรัฐบาลขาดแถลนงบประมาณในการจัดหาข้าวจากต่างประเทศนั้น จึงคาดว่าอิรักจะนำเข้าข้าว ส่วนใหญ่จากประเทศอินเดีย เนื่องจากมีราคาถูกกว่าประเทศอื่น

ที่มา Oryza.com

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ