สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 28, 2021 14:42 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 19 - 25 เมษายน 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1 พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย3 มาตรการ ได้แก่

(1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600 บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน)นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3)โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,822 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,888 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.55

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,101 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,159 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.63

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 24,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 24,925 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.50

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,750 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,250 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.51

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 811 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,166 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน (25,229 บาท/ตัน) แต่ราคาลดลงในรูปเงินบาทตันละ 63 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 487 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,112 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 504 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,679 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.37 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 567 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 484 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,019 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,554 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.20 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 535 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.0310 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2563/64 ณ เดือนเมษายน 2564ผลผลิต 504.167 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 497.692 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2562/63 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.30

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2563/64 ณ เดือนเมษายน 2564 มีปริมาณผลผลิต 504.167 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63 ร้อยละ 1.30 การใช้ในประเทศ 504.309 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2562/63 ร้อยละ 1.61 การส่งออก/นำเข้า 45.975 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก

ปี 2562/63 ร้อยละ 2.24 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 177.740 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2562/63 ร้อยละ 0.08 โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย กัมพูชา จีน กายานา อินเดีย ปากีสถาน ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล เมียนมา อียู ปารากวัย ตุรกี และอุรุกวัย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังกลาเทศ ไอเวอรี่โคสต์ เอธิโอเปีย อียู กานา อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก ญี่ปุ่น เคนย่า แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ เบนิน บราซิล จีน กินี มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค เนปาล ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล และสหรัฐอเมริกา

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ บังกลาเทศ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวปรับลดลงเนื่องจากผู้ส่งออกเสนอราคาลดลงเพื่อแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ เช่น ไทย อินเดีย (หลังจากปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี ที่ประมาณตันละ 515-520 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554) โดยข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ประมาณตันละ 505-510 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากตันละ 515-520 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า

The Oceanic Agency and Shipping Service รายงานว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 21 มีนาคม-5 เมษายน 2564 จะมีเรือบรรทุกสินค้าอย่างน้อย 11 ลำ เข้ามารอรับขนถ่ายสินค้าข้าว (breakbulk ships) ที่ท่าเรือ Ho Chi Minh City Port เพื่อรับมอบข้าวประมาณ 192,300 ตัน

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

?อินเดีย? ถล่มส่งออกข้าว เวียนเทียนสต็อกราคาถูก

?อินเดีย? ถล่มส่งออกข้าวหลังรัฐบาลชูนโยบายขายข้าวถูกให้ประชาชน หวั่นเวียนเทียนสต็อกต้นทุนต่ำมาส่งออก ด้านเอกชนชี้ปัจจัยลบข้าวไทยเพียบ ทั้งผลผลิตหด ราคาพุ่งแซงคู่แข่งทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันขาดตู้คอนเทนเนอร์ส่งออก ยอด 2 เดือนแรก ได้แค่ 8.29 แสน ได้แค่เบอร์ 3 โลก นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในกรณีที่รัฐบาลอินเดียมีนโยบายขายข้าวราคาถูกให้กับผู้บริโภคภายในประเทศ เพื่อให้ได้มีข้าวรับประทาน บรรเทาภาระค่าครองชีพ แต่ยังมีข้อสังเกตว่า ข้าวที่รัฐบาลนำออกมาขายให้กับประชาชนในราคาถูกนั้น มีโอกาสจะถูกนำมาหมุนเวียนขายให้กับผู้ส่งออก ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกอินเดียได้ข้าวที่มีต้นทุนถูกนำมาส่งออกแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวของไทยเช่นกัน ประกอบกับราคาข้าวไทยสูงจึงมีโอกาสที่จะเสียตลาดให้กับอินเดียเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ราคาข้าวไทยมีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้นห่างจากราคาของประเทศคู่แข่งประมาณ 120-130 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

จากปริมาณผลผลิตข้าวไทยในปี 2564/65 จะลดลงจากปัญหาภัยแล้งซึ่งติดต่อกันมา 2-3 ปีต่อเนื่องขณะที่คาดการณ์ผลผลิตทั่วโลก ทั้งจีน อินเดีย ปากีสถาน และเวียดนาม ไม่ได้ปรับลดลง โดยเฉพาะอินเดียซึ่งมีโอกาสที่จะส่งออกมากขึ้น เนื่องจากข้าวราคาถูกกว่าไทย ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงต้นปี ซึ่งเป้าหมายการส่งออกข้าวไทยทั้งปี 2564 ให้ได้ 6 ล้านตัน จึงเป็นการทำตลาดที่ท้าทายมาก?ไทยมีโอกาสจะพลิกมาทำตลาดเพิ่มขึ้นได้ หากประเทศผู้นำเข้าอินโดนีเซีย บังกลาเทศ ตัดสินใจนำเข้าข้าวไทยในปีนี้?จากรายงานกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ระบุว่า ผลผลิตข้าวอินเดียปีนี้น่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 117.9 ล้านตันข้าวสาร เป็น 118 ล้านตันข้าวสาร เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ส่วนความต้องการบริโภคภายในประเทศมีปริมาณ 103 ล้านตันข้าวสาร เท่ากับว่าอินเดียมีผลผลิตส่วนเกินอยู่ถึง 15 ล้านตัน

ส่วนปริมาณข้าวในสต็อกของอินเดียคาดว่าจะมีปริมาณ 50 ล้านตันข้าวสาร อีกทั้งยังพบว่านโยบายของรัฐบาลอินเดียยังสนับสนุน ส่งเสริมการเพาะปลูกข้าว โดยสนับสนุนเงินอุดหนุนค่าปลูกข้าวและเครื่องเกี่ยวนวดข้าว รวมถึงการจัดจำหน่ายข้าว

ทั้งนี้ หากเทียบราคาส่งออกข้าวในอินเดียอยู่ในระดับทรงตัว อาทิ ข้าวขาว 5% ราคาตันละ 408-412 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้าวนึ่ง ตันละ 383-387 ดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับราคาส่งออกข้าวไทย อาทิ ข้าวขาว 5% ราคาตันละ 509 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้าวนึ่ง ตันละ 519 ดอลลาร์สหรัฐฯ

?ที่ผ่านมาอินเดียส่งออกข้าวบาสมาติไปยังในตลาดสหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และสหภาพยุโรป ซึ่งจะไปแข่งขันกับกลุ่มข้าวนึ่งของไทย และเอเชียใต้เพิ่มสูงขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการคาดการณ์ว่ายอดส่งออกข้าวอินเดียในปีนี้มีปริมาณถึง 12 ล้านตันข้าวสาร ยังคงเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่การส่งออกข้าวไทยน่าจะทำได้เพียง 6 ล้านตัน ซึ่งในเดือนที่ผ่านมาไทยตกไปอยู่อันดับ 3 ของโลกแล้ว?

ล่าสุด สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยรายงานผลการส่งออกข้าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีปริมาณ 407,800 ตันลดลงร้อยละ 3.2 จากเดือนก่อนหน้าที่มีการส่งออกปริมาณ 421,477 ตัน และในด้านมูลค่า 7,716 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.4 จากเดือนก่อนหน้าที่มีมูลค่า 7,826 ล้านบาท ส่งผลให้การส่งออกข้าวช่วง 2 เดือนแรกของปี (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564) มีปริมาณ 829,277 ตัน มูลค่า 15,542.4 ล้านบาท หรือ 521.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 12.6 และร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีการส่งออกปริมาณ 949,163 ตัน มูลค่า 17,563.4 ล้านบาท หรือ 584.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 ของโลก ตามหลังประเทศอินเดีย และปากีสถาน เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่า ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควรทั้งนี้ สมาคมฯ คาดว่าในเดือนมีนาคม 2564 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาประมาณ 400,000-450,000 ตัน

ที่มา: prachachat.net

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ