สศท.12 แนะเกษตรกร ปลูก ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ พืชใช้น้ำน้อย สร้างรายได้ หลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 30, 2021 14:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศท.12 แนะเกษตรกร ปลูก ?ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์? พืชใช้น้ำน้อย สร้างรายได้ หลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี

นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ โดยกำหนดพื้นที่การเพาะปลูกทั้งประเทศ11.65 ล้านไร่แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง (รอบที่ 2) จำนวน 9.02 ล้านไร่ และพืชไร่ ? พืชผัก จำนวน 2.63 ล้านไร่แต่เนื่องจากในบางพื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย จึงมีความจำเป็นต้องงดการจัดสรรน้ำในการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 กระทรวงเกษตรฯ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (หลังนา) ปี 2565 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ปี 2565 เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง

สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นับเป็นพืชทางเลือกที่ตลาดมีความต้องการต่อเนื่อง โดยภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของประเทศไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากถึง 8.38 ล้านตัน/ปี แต่ไทยสามารถผลิตได้เพียง 4.80 ล้านตัน ซึ่งยังขาดปริมาณผลผลิตอีก 3.5 ล้านตัน จึงต้องมีการนำเข้าและใช้วัตถุดิบอื่นทดแทน ดังนั้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงเป็นอีกหนึ่งพืชทางเลือกที่น่าสนใจ โดยภาครัฐได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ ยังช่วยตัดวงจรชีวิตของโรคและแมลงศัตรูข้าวได้ด้วย ที่สำคัญจะช่วยให้ชาวนามีรายได้มั่นคงมากขึ้น เพราะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นอกจากใช้ปริมาณน้ำน้อย ยังให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับการทำนาปรัง มีระยะเวลาเพาะปลูกสั้น 100 ? 110 วัน มีความต้องการใช้น้ำในการเพาะปลูกเพียง 700-800 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ ทั้งนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะแบ่งฤดูการปลูกเป็น 2 รุ่น คือ รุ่น 1 เกษตรกรจะปลูกช่วงเดือนมีนาคม ? ตุลาคม เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนกรกฎาคม -มกราคม และรุ่น 2 (ข้าวโพดหลังนา) ปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม สำหรับช่วงนี้อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วเกษตรกรจะเริ่มเตรียมดินเพื่อปลูกรุ่น 2 ต่อไป

สศท.12 ได้ติดตามสถานการณ์ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 ของภาคเหนือตอนล่างในพื้นที่ 5 จังหวัด(นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี เพชรบูรณ์) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญ พื้นที่มีความเหมาะสม เกษตรกรปลูกได้ผลผลิตสูง มีเนื้อที่ปลูกข้าวโพดรุ่นเลี้ยงสัตว์ 2 ปี 2563/64ทั้ง 5 จังหวัดรวม 252,422ไร่ ผลผลิตรวม 204,897 ตันโดยจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุด รองลงมาจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดกำแพงเพชรจากการติดตาม พบว่า ต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือตอนล่างรุ่น 2 เฉลี่ย 5,295บาท/ไร่/รอบการผลิตราคาขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้น 14.5% ทั้ง 5 จังหวัด เฉลี่ยอยู่ที่ 7.83 บาท/กิโลกรัมเกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6,358 บาท/ไร่/รอบการผลิตคิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 1,063 บาท/ไร่/รอบการผลิต ส่วนปีนี้ ราคาขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 ปี 2564 ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน ความชื้น 14.5% ทั้ง 5 จังหวัด เฉลี่ยอยู่ที่ 9.06 บาท/กิโลกรัม

ผู้อำนวยการ สศท.12 กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังมีพืชทางเลือกที่น่าสนใจ สามารถปลูกทดแทนการทำนาปรัง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำและช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อาทิ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน เป็นต้น ซึ่งเป็นพืชที่เหมาะปลูกในช่วงเดือนธันวาคม - มีนาคม สามารถเพาะปลูกได้ทุกภูมิภาคสำหรับปีเพาะปลูก 2564/65 เกษตรกรที่วางแผนจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ควรมีการรวมกลุ่มแบบระบบแปลงใหญ่ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการร่วมกัน ร่วมวางแผนการผลิตนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความหลากหลาย มาประยุกต์ใช้เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งมีการเชื่อมโยงตลาด ทำให้ผลผลิตที่ได้มีตลาดรองรับที่แน่นอน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนหากเกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของภาคเหนือตอนล่างในพื้นที่ 5 จังหวัดสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.12 โทร. 0 5680 3525 หรือ zone12@oae.go.th

*****************************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 จังหวัดนครสวรรค์

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ