สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 9, 2022 15:40 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 2 - 8 พฤษภาคม 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ

โดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,023 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,883 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.19

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,566 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,564 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.02

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 28,975 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 27,350 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.94

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,600 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,450 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 8.55

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 880 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,953 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 845 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,730 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.14 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,223 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 468 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,930 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,790 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 7.59 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,140 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 474 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,134 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 447 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,198 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 6.04 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 936 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.0380 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวอยู่ในระดับทรงตัวขณะที่อุปทานข้าวในตลาดมีมากขึ้น จากที่อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (the winter-spring crop) โดยราคาข้าวขาว 5% ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 415 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยวงการค้าคาดว่า ราคาข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเก็บเกี่ยวข้าวใกล้จะสิ้นสุด ทำให้ผู้ค้าข้าวบางส่วนลังเลที่จะทำสัญญาขายข้าวฉบับใหม่ในช่วงนี้เพื่อรอให้ราคาข้าวปรับขึ้น

ข้อมูลการส่งมอบข้าวเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2565 มีข้าวประมาณ 300,990 ตัน และในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 2565 เพิ่มขึ้นประมาณ 40,000 ตัน ที่ถูกขนถ่ายขึ้นเรือบรรทุกสินค้าที่ท่าเรือ Ho Chi Minh City โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศฟิลิปปินส์ คิวบา และประเทศในแถบแอฟริกา

สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (the General Statistics Office) ว่า ข้อมูลการส่งออกข้าวเบื้องต้นในเดือนเมษายน 2565 มีประมาณ 550,000 ตัน มูลค่าประมาณ 273 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-เมษายน 2565) เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 2.05 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 1.04 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.4 แต่มูลค่าลดลงประมาณร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

The Oceanic Agency and Shipping Service รายงานว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 9 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2565 จะมีเรือบรรทุกสินค้า (breakbulk ships) อย่างน้อย 17 ลำ เข้ามารอรับสินค้าข้าวที่ท่าเรือ Ho Chi Minh City (HCMC) Port เพื่อรับมอบข้าวประมาณ 174,550 ตัน

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

ช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 (มกราคม-มีนาคม 2565) จีนนำเข้าข้าวจากปากีสถาน อินเดีย และไทย เพิ่มขึ้น อย่างเห็นได้ชัด ขณะที่การนำเข้าจากเวียดนาม และเมียนมาร์ ลดลงจากข้อมูลกรมศุลกากรจีน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 จีนนำเข้าข้าวประมาณ 1.7 ล้านตัน มูลค่า 706 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยจีนนำเข้าข้าวจากประเทศปากีสถาน อินเดีย และไทย เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่นำเข้าจากเวียดนาม และเมียนมาร์ ลดลง โดยจีนนำเข้าจากเวียดนามประมาณ 131,229 ตัน และจากเมียนมาร์ประมาณ 228,415 ตัน ซึ่งลดลงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เวียดนามอยู่อันดับที่ 5 ของประเทศที่จีนนำเข้าข้าวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565

ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมาข้าวที่เวียดนามส่งออกไปประเทศจีนส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียว และข้าวหอม เช่น ST21, ST24, DT8 สำหรับในช่วงต้นปี 2565 จีนได้ลดการนำเข้าข้าวเหนียว แต่ได้เพิ่มการนำเข้าข้าวหอมมากขึ้น โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวเหนียวไปประเทศจีน จำนวน 65,300 ตัน ลดลงถึงร้อยละ 71.3 เมื่อเทียบกับจำนวน 227,200 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกข้าวหอม (เช่น ST21, ST24, DT8) มีจำนวน 75,200 ตัน เพิ่มขึ้นกว่า 3.7 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกยังมองในแง่ดีว่าความต้องการนำเข้าข้าวเหนียวของจีนจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวของจีนลดลง และในแต่ละปีจีนจะนำเข้าข้าวเหนียวจากเวียดนาม จำนวน 700,000-800,000 ตัน เพื่อรองรับความต้องการบริโภคภายในประเทศ

ทางด้านการนำเข้าข้าวจากอินเดียในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 มีปริมาณเพิ่มขึ้น 3 เท่า เมื่อเทียบกับ ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยจีนนำเข้าประมาณ 454,374 ตัน ทำให้ปัจจุบัน อินเดียกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับที่ 2 ของจีน โดยมีปริมาณนำเข้าข้าวน้อยการจากปากีสถานเพียงเล็กน้อย ซึ่งจีนนำเข้าข้าวจากปากีสถานประมาณ 466,617 ตัน

นอกจากนี้ จีนยังได้เพิ่มการนำเข้าข้าวจากไทย โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 มีการนำเข้าประมาณ 248,529 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 77.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (The United States Department of Agriculture; USDA) ได้ปรับประมาณการการนำเข้าข้าวของจีนในปีการเพาะปลูก 2564/65 เป็นจำนวน 5.2 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ประมาณ 0.5 ล้านตัน และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปีการเพาะปลูก 2561/62 โดยสาเหตุหลักมาจากความต้องการนำเข้าข้าวหักจากอินเดียเพิ่มขึ้น

ในอดีต จีนเคยนำเข้าข้าวจากเวียดนาม เมียนมาร์ ปากีสถาน และไทย แต่การนำเข้าข้าวจากอินเดียพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2564 หลังจากที่มีการยกเลิกข้อจำกัดในการนำเข้าข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ (Non-Basmati rice) จากอินเดีย ซึ่งจากข้อมูลของ USDA การนำเข้าข้าวหักของจีนมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากราคาของข้าวหักอยู่ในระดับที่ต่ำ และสามารถนำเข้านอกระบบโควตาภาษีได้ด้วยอัตราภาษีนำเข้าเพียงร้อยละ 10 โดยข้าวหักที่นำเข้าจะถูกนำไปใช้เพื่อทดแทนข้าวโพดฯ ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และใช้สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารหรือการผลิตสินค้าในกลุ่มแอลกอฮอล์

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ระดับ 361-365 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน ท่ามกลางภาวะค่าเงินรูปีที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ขณะที่อุปทานข้าวในตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการที่รัฐบาลได้ขยายระยะเวลาการอุดหนุนธัญพืชสำหรับประชาชนออกไปอีก 6 เดือน ทำให้อุปทานข้าวในตลาดมีเพิ่มขึ้น ขณะที่วงการค้าระบุว่า ความต้องการข้าวจากต่างประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มของข้าวหักที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์

สำนักข่าว the Financial Express รายงานว่า การส่งออกข้าวของอินเดียในปีงบประมาณ 2565/66 (1 เมษายน 2565-31 มีนาคม 2566) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมากกว่าปริมาณส่งออกเมื่อปีที่แล้ว ที่ส่งออกได้ ประมาณ 20 ล้านตัน เนื่องจากสต็อกข้าวในประเทศยังคงมีส่วนเกินจำนวนมาก และคาดว่าการเก็บเกี่ยวข้าวจะได้ผลผลิตดี ประกอบกับคาดว่าจะมีฝนตกในระดับปกติในฤดูมรสุมปี 2565 (มิถุนายน-กันยายน 2565) ซึ่งจะช่วยให้การเพาะปลูกข้าวในฤดูการผลิต Kharif (มิถุนายน-ธันวาคม 2565) ได้ผลดีทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2564/65 อินเดียส่งออกข้าวไปยัง 150 ประเทศ โดยส่งออกข้าวบาสมาติเมล็ดยาว (long grain basmati rice) ไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ รวมทั้งส่งไปยังสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ขณะที่การส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ (non-basmati rice) มีการส่งออกไปยังประเทศเนปาล บังคลาเทศ จีน ไอวอรี่โคสต์ โตโก เซเนกัล กินี เวียดนาม จิบูตี มาดากัสการ์ แคเมอรูน โซมาเลีย มาเลเซีย ไลบีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น

จากการพยากรณ์ผลผลิตธัญพืช ครั้งที่ 2 ของปี 2564/65 (the Second Advance Estimates for 2021/22) คาดว่าผลผลิตข้าวของอินเดียในปี 2564/65 คาดว่าจะสูงเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 127.93 ล้านตัน (แบ่งเป็นผลผลิตในฤดูกาลผลิต Kharif จำนวน 109.54 ล้านตัน และฤดูการผลิต Rabi จำนวน 18.39 ล้านตัน) เพิ่มขึ้นประมาณ 11 ล้านตัน จากตัวเลขการผลิตเฉลี่ยในรอบ 5 ปีที่ 116 ล้านตัน

สำนักข่าว the Financial Express รายงานว่า รัฐบาลอินเดียกำลังพิจารณาที่จะเพิ่มปริมาณข้าวภายใต้ โครงการปันส่วนอาหารสำหรับประชาชน (free ration scheme) เนื่องจากสต็อกข้าวสาลีในคลังกลาง (central pool) ของอินเดียมีปริมาณลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีทั้งนี้ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 สต็อกข้าวสาลีของอินเดียในคลังขององค์การอาหารแห่งชาติ (Food Corporation of India; FCI) มีปริมาณลดลงเหลือ 16.19 ล้านตัน หรือลดลงประมาณร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่สต็อกธัญพืชอาหารทั้งหมด (The total food grain stocks) มีปริมาณลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ที่จำนวนประมาณ 31 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในท้องถิ่นระบุว่า ปริมาณข้าวสาลีในปัจจุบันมีไม่เพียงพอต่อความต้องการภายใต้ พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติ (the National Food Security Act; NFSA) และโครงการ Pradhan Mantri Garib Kalyan Anna Yojana (PMGKAY) ซึ่งขยายระยะเวลาออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยรัฐบาลมีความต้องการใช้ข้าวสาลีประมาณ 25-26 ล้านตันต่อปี สำหรับการใช้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และอีกประมาณ 10 ล้านตัน สำหรับการดำเนินการตามโครงการ PMGKAY

ทั้งนี้ จากการที่สต็อกข้าวสาลีมีไม่เพียงพอ รัฐบาลจึงมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจากข้าวสาลีที่จะใช้ภายใต้ โครงการ PMGKAY เป็นข้าวแทน ซึ่ง ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 องค์การอาหารแห่งชาติ (FCI) มีสต็อกข้าวประมาณ 33.15 ล้านตัน และมีอีกประมาณ 20 ล้านตัน ที่จะรับมาจากโรงสี ซึ่งสวนทางกับปริมาณสต็อกขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนดไว้เป็นบรรทัดฐาน (a buffer norm) ที่ระดับ 13.58 ล้านตัน ณ เดือนเมษายน 2565

มีรายงานว่า โครงการจัดซื้อจัดหาข้าวสาลีของรัฐบาลมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2565 เนื่องจากการจัดซื้อของภาคเอกชนมีมากขึ้น ซึ่งผู้ค้าต่างคาดกันว่าในปี 2565 อินเดียมีโอกาสที่จะส่งออกข้าวสาลีได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะอุปทานข้าวสาลีในตลาดโลกตึงตัวจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนที่ยังคงไม่สิ้นสุด

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ