กระบวนการครูติดแผ่นดินข้าวได้ผล ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนได้จริง

ข่าวทั่วไป Friday April 16, 2010 11:39 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประเมินผลโครงการส่งเสริมและขยายผลการลดต้นทุนการผลิตข้าวในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 52 พบว่าเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ 200 — 500 บาทต่อไร่ จากการ มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ผ่านแปลงของเกษตรกรต้นแบบหรือครูติดแผ่นดินข้าว และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม

นายนิพนธ์ ดิลกคุณานันท์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อประเมินผลโครงการส่งเสริมและขยายผลการลดต้นทุนการผลิตข้าวในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 2552ใน 6จังหวัดที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อ ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ สิงห์บุรี และลพบุรี ว่าโครงการฯ ดังกล่าวได้มุ่งเน้นการปลุกจิตสำนึก สร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงการทำนาที่ได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสม สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ ด้วยวิธีการพึ่งตนเองให้มากที่สุดจากการที่เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ด้านการผลิตข้าวแบบลดต้นทุน ผ่านแปลงเรียนรู้ของเกษตรกรต้นแบบหรือครูติดแผ่นดินข้าวและนำวิธีการมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับแปลงนาของตนเอง

ผลจากการสัมภาษณ์เกษตรกร 24กลุ่ม 144ราย ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า การที่โครงการฯ มีกระบวนการให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อค้นหาปัญหา และร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ในการแก้ไข ปัญหาก่อนที่จะลงมือปฏิบัตินั้น เป็นวิธีการที่ดี ซึ่งสามารถสรุปเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อการลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ ดังนี้ (1) ดินเสื่อมคุณภาพ โดยแก้ไขด้วยการไม่เผาตอซัง และใช้การไถกลบแทน เพื่อเป็นการพักหน้าดินไปในตัว เนื่องจากต้องใช้เวลาในการย่อยสลายตอซัง อีกทั้งเป็นการป้องกันเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดได้ดีวิธีการหนึ่ง และมีการ ปรับปรุงบำรุงดินเป็นระยะๆ ด้วยการใช้ปุ๋ยพืชสด (2) เมล็ดพันธุ์ ซึ่งเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เมล็ดพันธุ์ใน อัตราไม่เกิน 20 — 27 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมที่เคยใช้ 22 — 30 กิโลกรัมต่อไร่ และมีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ดีไว้ปลูก ในฤดูกาลเพาะปลูกต่อไป แต่ใช้ต่อเนื่องได้ไม่เกิน 3 ครั้ง (3) การใช้ปุ๋ย เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งประโยชน์จากการวิเคราะห์ดินดังกล่าว ทำให้เกษตรกรสามารถเลือกใช้ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารทดแทนปริมาณที่ขาดไปได้ อย่างเหมาะสมกับสภาพดิน และในทางปฏิบัติเกษตรกรใช้ปุ๋ยสูตรเทียบเคียงแทนการใช้ปุ๋ยสั่งตัด ที่หาซื้อยากในชุมชนและมีราคาแพง นอกจากนี้ จะทำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราลดลง คือไม่เกิน 17 - 27 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมที่เคยใช้ 30—35 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใช้ควบคู่กับปุ๋ยอินทรีย์ และ (4) การกำจัดศัตรูพืช มีการใช้สารชีวภัณฑ์แทน การใช้สารเคมี ได้แก่ สารสะเดา เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า และบิวเวอร์เรีย เพราะเกษตรกรเห็นถึงความสำคัญของอันตรายที่จะเกิด กับตนเอง และผู้บริโภค ซึ่งผลจากการที่เกษตรกรมีการ ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตข้าวจากเดิมมาสู่การผลิตข้าวแบบลดต้นทุน ส่งผลให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้ประมาณ 200 — 500 บาทต่อไร่

อย่างไรก็ตาม ทีมประเมินผลได้ตั้งข้อสังเกตว่า จากการที่โครงการฯ กำหนดให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมใน กระบวนการเรียนรู้ทำให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจที่จะนำวิธีการไปปฏิบัติจริงในแปลงนาของตนเอง แต่ยังมี บางประเด็นที่ควรแนะนำเกษตรกรเพิ่มเติม เช่น ชนิดของพันธุ์ข้าวที่ปลูกต้องเป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรค วงจรชีวิตของแมลง ศัตรูข้าว พร้อมทั้งวิธีป้องกันและกำจัดที่ถูกต้องเหมาะสม และเพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้อย่างยั่งยืน ควรสนับสนุนให้มีโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเกษตรกรในแต่ละจังหวัดเพื่อ เป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ