สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2553(เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 14:44 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 9.1 ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องแต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 12.0 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -4.9 โดยปัจจัยที่ทำให้ GDP ยังคงขยายตัวในอัตราที่สูง คือ การบริโภคของครัวเรือนขยายตัวสูงขึ้นจากหมวดสินค้าคงทนประเภทรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าพืชผล และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ นอกจากนี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายของรัฐบาลขยายตัวจากการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง และการส่งออกสินค้าและบริการยังคงปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 18.0 ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องแต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 22.9 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 2ของปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -8.7 โดยเป็นผลจากอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกขยายตัวเป็นสำคัญ เช่นการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ขยายตัวสูงตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ และความต้องการภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ประกอบกับกลุ่มอุตสาหกรรมเบาเริ่มปรับตัวดีขึ้น (อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย) ส่วนอุตสาหกรรมวัตถุดิบขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าทั้งปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 7.0-7.5 จากปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -2.2

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 พบว่า ส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิต สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น สำหรับมูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.1 (ม.ค.-ก.ย. 53) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคของภาคเอกชน และการลงทุนของภาคเอกชนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552 เช่นกัน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 191.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (186.4) ร้อยละ 2.9 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (174.6) ร้อยละ 9.8

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ Hard Disk Drive ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ ยานยนต์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป Hard Disk Drive ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552ร้อยละ 18.9 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ดัชนีการส่งสินเค้าอยู่ที่ระดับ 193.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (188.3) ร้อยละ 2.7 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (175.4) ร้อยละ 10.2

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Driveชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ ยานยนต์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ Hard Disk Drive ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ดัชนีการส่งสินเค้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 21.2 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 187.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (183.6) ร้อยละ 2.2 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (169.3) ร้อยละ 10.9

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง กระดาษลูกฟูกและกระดาษแข็งลูกฟูก เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ Hard Disk Driveยานยนต์ เหล็ก เบียร์ รองเท้า เป็นต้น

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ดัชนีส่งสินสำเร็จรูปคงคลังลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2552ร้อยละ 0.2 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ เบียร์ เส้นใยสิ่งทอ น้ำตาล กระดาษลูกฟูกและกระดาษแข็งลูกฟูก ผลิตภัณฑ์แก้ว เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1)ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 64.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 62.6) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552(ร้อยละ 57.8)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เส้นใยสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ ยานยนต์ เส้นใยสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศ Hard Disk Drive เป็นต้น

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive เส้นใยสิ่งทอ เหล็ก เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยมีค่า 80.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (75.9) และไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (74.5) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ดัชนีทั้ง 3 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่กระทรวงการคลังได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2553 ใหม่เป็นร้อยละ 7.5 โดยมีช่วงการขยายตัวที่ร้อยละ 7.3-7.8 จากเดิมที่คาดไว้ขยายตัวเพียงร้อยละ 5.5 เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศโดยสุทธิ ประกอบกับ การส่งออกยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่อง และโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเริ่มมีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นรายเดือน จะเห็นว่า ดัชนีปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีความหวังว่าสถานการณ์ต่างๆ น่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้นจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีค่า 72.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (68.0) แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับที่ดีเนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยง หลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคกังวล

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีค่า 71.4ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (67.2) แต่ยังอยู่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวมยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีค่า 97.7ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (92.4) แต่ยังอยู่ระดับต่ำกว่า 100 แม้ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต แต่ระดับความเชื่อมั่นยังคงสูงกว่าความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจและโอกาสหางานทำ

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีค่าเท่ากับ 50.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (49.3) และเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (46.7) โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ดัชนีโดยรวมมีค่าสูงกว่า 50 แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น ผู้ประกอบการมองว่าภาวการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตมีแนวโน้มดีขึ้น สำหรับดัชนีที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552 คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด และการผลิตของบริษัท

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ดัชนีรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 โดยดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การลงทุนของบริษัท การจ้างงานของบริษัทและการผลิตของบริษัท

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TIST)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 103.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (99.1) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552(91.3) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตามในเดือนกันยายน 2553 ดัชนีมีค่า 100.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนสิงหาคม 2552 (102.4) ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แต่ค่าดัชนียังคงมีค่าเกิน100 แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับดี โดยค่าดัชนีที่ปรับลดลงเป็นผลมาจากการลดลงขององค์ประกอบดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน คือการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อผู้ประกอบการภาคการส่งออก ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองเหตุการณ์ลอบวางระเบิดหลายครั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบาง นอกจากนี้ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมและมีเสถียรภาพ สนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เร่งพัฒนาศักยภาพแรงงานฝีมือ พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LET) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนกันยายน 2553 อยู่ที่ระดับ 125.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากเดือนสิงหาคม 2553 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 123.9โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมูลค่าการส่งออก ณ ราคาคงที่

สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีค่าเฉลี่ย 124.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 121.7

ดัชนีชี้พ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนกันยายน 2553 อยู่ที่ระดับ 119.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากเดือนสิงหาคม2553 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 119.4 ตามการเพิ่มขึ้นของเครื่องชี้วัด ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ (รถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์)

สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีค่าเฉลี่ย 119.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 119.5

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีค่า 135.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (135.0) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (129.1) ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนโดยรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ พบว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมมีค่า 188.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (183.5) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (157.2)

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552

การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552

ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ (ณ ขณะจัดทำรายงานฉบับนี้ ข้อมูลล่าสุดมีถึงเดือนสิงหาคม 2553 เท่านั้น)

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีเท่ากับ 108.5ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (107.9) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (105.0)การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามราคาข้าว ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคากลุ่มอาหารสดและพลังงาน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีค่าเท่ากับ 165.3 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (165.7) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (149.9) โดยราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552ราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552สำหรับราคาในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี2552

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สามของปี 2553 (ข้อมูลเดือนสิงหาคม) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 39.081 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 38.715 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 99.06 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.352 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.90)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่สามของปี 2553 มีจำนวน 5.271 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 13.61 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ขยายตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 โดยในไตรมาสที่ 3 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 97,388.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 50,078.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 47,310.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.86 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.51ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ดุลการค้าเกินดุล 2,768.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.87 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.01

การส่งออกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่าการส่งออกทั้ง 3 เดือน(กรกฎาคม-กันยายน) ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกยังคงมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ซึ่งมูลค่าการส่งออกขยายตัวทั้ง 3 เดือน โดยในเดือนกรกฎาคมที่มีมูลค่าการส่งออก 15,564.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 20.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เดือนสิงหาคมมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.88 และเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ21.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 16,452.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ18,061.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ

  • โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 38,758.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 77.40) สินค้าเกษตรกรรม 5,166.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 10.32)สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 3,144.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.28) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิง 3,008.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.01)

เมื่อเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่ามูลค่าการส่งออกของในทุกหมวดสินค้าเพิ่มขึ้น โดยสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.29 สินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.63 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.05 และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.04

สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักใน 9 เดือนแรกของปี 2553 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 14,024.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.80)รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 13,370.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.34) อัญมณีและเครื่องประดับ 8,225.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.75) แผงวงจรไฟฟ้า 6,046.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อละ 4.22) ยางพารา 5,532.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.87) น้ำมันสำเร็จรูป 5,122.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.58) ผลิตภัณฑ์ยาง 4,685.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.27) เม็ดพลาสติก 4,560.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.19) เคมีภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออก 4,137.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.89) และเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เหล็ก 3,591.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.51)โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 69,298.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 48.41 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

  • ตลาดส่งออก

การส่งออกไปยังตลาดหลักของไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 55.99 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกในตลาดสำคัญมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในทุกตลาด โดยมูลค่าการส่งออกในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.49 ตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.28 ตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.00 และตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.39

  • โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด โดยมีมูลค่าการนำเข้า 20,587.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 43.52) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุนโดยมีมูลค่า 12,528.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 26.48) สินค้าเชื้อเพลิง 7,443.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 15.73) สินค้าอุปโภคบริโภค 4,488.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.49)สินค้าหมวดยานพาหนะ 2,189.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.63) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ 73.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.15) ตามลำดับ

โดยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 นี้เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าในหมวดหลักๆ มีมูลค่านำเข้าขยายตัวต่อเนื่องในทุกหมวดสินค้า โดยการนำเข้าสินค้าในหมวดสินค้ายานพาหนะ และอุปกรณ์ขนส่งมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 สินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.25 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.07 สินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.02สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.99 และสินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.57

  • แหล่งนำเข้า

แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 50.98 เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 นี้มีมูลค่านำเข้าจากทุกแหล่งนำเข้าหลักเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.54 สหรัฐอเมริกามีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.64 กลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.33 และสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.40 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552

แนวโน้มการส่งออก ปี 2553

กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่า การส่งออกทั้งปี 2553 จะได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 20 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 183,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนปี 2554 คาดว่าการขยายตัวจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ10-15 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ทั้งนี้แม้ว่าในสหรัฐฯ เองจะมีอัตราว่างงานสูงแต่ผู้บริโภคในสหรัฐฯเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ จึงมีการใช้จ่ายกันเกือบเป็นปกติ ประกอบกับ ในเดือนพฤศจิกายน 2553 มีการเลือกตั้งกลางเทอม ทำให้ภาครัฐบาลอย่างพรรคเดโมแครตต้องจริงจังกับนโยบายที่เคยได้ประกาศใช้ไปแล้วให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาทในปีหน้า ทางหน่วยงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ ทุกสำนักงานในสหรัฐฯจะทำงานกันแบบบูรณาการมากขึ้น เพื่อรักษาและกระตุ้นตลาดหลักให้จงรักภักดีต่อสินค้าบริการไทยเช่นเดิม ใน 3 โครงการ คือ 1.จัดโครงการ “แฟชั่น เน็ตเวิร์ค” โดยหารือกับดีไซเนอร์คนไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสหรัฐฯมาจับคู่ธุรกิจกับโรงงานในไทยทีได้รับการคัดเลือกแล้ว เพื่อสร้างแบรนด์เนมไทย โดยผ่านพันธมิตรทางธุรกิจของดีไซเนอร์ไทย 2.การเจาะตลาด กลุ่มฮิสแปนิช หรือผู้มีเชื้อสายสเปน รวมถึงชาวเม็กซิกัน ที่มีอัตราประชากรขยายตัวสูงมาก เป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจเพราะนอกจากมีจำนวนประชากรหลายสิบล้านคนอยู่ทั่วสหรัฐฯแล้ว ชาวฮิสแปนิชยังมีรสนิยมบริโภคอาหารรสจัด และเผ็ดร้อนเหมือนคนไทย ทำให้อาหารไทยจะได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ ถึงขนาดมีผู้นำเข้าอาหารไทยว่าจ้างผู้ผลิตในไทยผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสชาติฮิสแปนิช สำหรับวางขายในสหรัฐอเมริกาโดยตรง สะท้อนว่าความต้องการอาหารไทยหรือ การประยุกต์นำสินค้าอื่นเข้ามาขายในกลุ่มนี้ ยังเติบโตได้มาก และ 3.โครงการส่งเสริมการขายอาหารไทยในห้างสรรพสินค้าเกาหลี ที่อยู่ในประเทศสหรัฐฯ เพื่อจ้างเชฟมือดี สาธิตการประกอบอาหารไทย เพื่อให้เห็นวิธีการทำ ได้กลิ่น และชิมอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จมาก รวมถึงจะกระจายไปยังห้างต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ และห้างที่มีสาขาจำนวนมาก

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมมีมูลค่ารวม 38,264.47 ล้านบาทซึ่งลดลงร้อยละ 3.82 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาตลอดทั้ง 2 เดือน ในไตรมาสที่3 ของปี 2553 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 16,934.06 ล้านบาท และในเดือนสิงหาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิเพียง 21,330.41 ล้านบาท โดยการลงทุนในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนขยายตัวร้อยละ 34.17

ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 สาขาอุตสาหกรรมเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุดเป็นเงินลงทุน 24,061.17 ล้านบาท โดยหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์มีการลงทุนสุทธิมากที่สุดโดยมีมูลค่าเงินลงทุน 4,057.00 ล้านบาท รองลงมาคือหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งซึ่งมีเงินลงทุน 3,866.48 ล้านบาท และหมวดอาหารและน้ำตาลมีเงินลงทุน 2,788.28 ล้านบาท

ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมคือประเทศญี่ปุ่นมีเงินลงทุนสุทธิ 12,707.01 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศสิงคโปร์โดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 7,551.11 ล้านบาท และ 5,309.46 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOIมีจำนวนทั้งสิ้น 389 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 264 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 3 นี้มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 148,400 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.43 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โครงการลงทุนนั้นประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100%จำนวน 142 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 68,800 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 93 โครงการ เป็นเงินลงทุน 26,300 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 52,900 ล้านบาทรองลงมาคือ หมวดเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะมีเงินลงทุน 24,400 ล้านบาท และหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 21,200 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 92 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 33,046ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์ที่มีจำนวน 13 โครงการ มีเงินลงทุน 6,315 ล้านบาท ประเทศเบลเยี่ยมจำนวน 4 โครงการ เป็นเงินลงทุน 4,290 ล้านบาท และประเทศสวิสเซอร์แลนด์ 4 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 3,552 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ