สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 15:21 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในช่วงไตรมาสที่ 3 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อยู่ในภาวะที่ดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากได้รับอานิสงค์จากอุตสาหกรรมหลักในประเทศที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตนั้นเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตนั้นเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน แต่ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจส่งผลต่อภาคการส่งออกทำให้ส่งออกได้น้อยลง ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ใช้เคมีภัณฑ์เป็นวัตถุดิบในการผลิต

ผลิตภัณฑ์เคมีพื้นฐานที่มีการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบในการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่สำคัญได้แก่ โซดาไฟ คลอรีน ไฮโดรคลอริก(กรดเกลือ) และกรดซัลฟูริก ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้สำรวจข้อมูลการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โซดาไฟ โดยในไตรมาสที่ 3ปริมาณการผลิต และการจำหน่ายมีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้การผลิต

โซดาไฟ

การผลิตโซดาไฟในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีปริมาณ 308,561.6 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 6.06 และการจำหน่ายโซดาไฟในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีปริมาณ 225,087.1 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 7.68 การผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

หมายเหตุ : โซดาไฟเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรา และยังใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย เช่น ในการผลิตเยื่อและกระดาษ สบู่และผลิตภัณฑ์ซักฟอกเคมีภัณฑ์ การทำความสะอาด โรงกลั่นน้ำมัน การใช้งานทางอุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมอาหาร เส้นใยเรยอน สิ่งทอ และอื่น ๆ

การตลาด

การนำเข้า

ไตรมาส 3 ปี 2553 การนำเข้าเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 10,578 ล้านบาท ลดลงร้อยละ1.49 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าการนำเข้า 28,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่านำเข้า 14,856 ล้านบาทลดลงร้อยละ 15.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูกาลทำไร่นา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ13.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสีมีการนำเข้า 10,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ5.47 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องอุตสาหกรรมก่อสร้างโตขึ้น และเครื่องสำอางมีมูลค่านำเข้า 7,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.71 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออก

ไตรมาส 3 ปี 2553 การส่งออกเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 4,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.61 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าส่งออก 9,230 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 2.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่าการส่งออก778 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.73 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสีมีมูลค่าส่งออก 2,797 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.56 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออก 14,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้ม

แนวโน้มของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ทั้งการผลิต การจำหน่ายนำเข้าและส่งออกน่าจะดีขึ้น เนื่องจากจากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้น มีมาตราการทางด้านการเงินออกมากระตุ้นภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ต้องระวังการแข็งค่าของเงินบาทว่าจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ