สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 25, 2011 13:54 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4 ปี 2553 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัญหาการว่างงานลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง และปัญหาหนี้สาธารณะในหลายประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างไม่มีเสถียรภาพ ตลอดจนภาวะไร้เสถียรภาพของค่าเงิน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ยังคงฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในส่วนของราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 4 ปี 2553 อยู่ที่ 83.76 USD/Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ 74.58 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมีนาคม มีราคาอยู่ที่ 89.34 USD/Barrel ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน ได้แก่ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้น เหตุการณ์ประท้วงในอียิปต์เริ่มคลี่คลายลงและไม่มีการปิดคลองสุเอช ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญไปยังยุโรปและอเมริกา

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่2 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -2.8 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 คือ มีการชะลอตัวลงทั้งด้านอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ โดยการบริโภคของครัวเรือนชะลอตัวลงทั้งการบริโภคอาหาร สินค้าคงทนประเภทรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้ากึ่งคงทนและบริการ แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น เช่นรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และอัตราการว่างงานที่ลดลงแต่ประชาชนก็ยังมีความวิตกต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้ระมัดระวังการใช้จ่าย การลงทุนภาครัฐหดตัว การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะขยายตัวที่ร้อยละ 7.9เทียบกับในปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -2.2

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ตัวชี้วัดต่างๆ ส่วนใหญ่ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 อาทิ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิต การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ เป็นต้น

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ขยายตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 โดยในไตรมาสที่ 4 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 100,554.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 52,205.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 48,349.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 4.25 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.20ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ดุลการค้าเกินดุล 3,855.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.81 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.11

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนมีมูลค่ารวม 29,698.17 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 5.35 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาตลอดทั้ง 2 เดือน ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนตุลาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 13,382.17 ล้านบาท และในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 16,316.00 ล้านบาท โดยการลงทุนในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 30.95 สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 477 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 316 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 4 นี้มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 115,300 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.39 โครงการลงทุนนั้นประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 178 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 51,800 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 117 โครงการ เป็นเงินลงทุน 26,200 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 42,400 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดบริการ และสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 21,900 ล้านบาท และหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 20,400 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 104 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 28,647 ล้านบาทรองลงมาคือ ประเทศจีนที่มีจำนวน 9 โครงการ มีเงินลงทุน 7,338 ล้านบาท ประเทศฝรั่งเศสจำนวน 9 โครงการ เป็นเงินลงทุน 1,583 ล้านบาท และประเทศฮ่องกง 9 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 1,430ล้านบาท

กล่าวโดยสรุป สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2553 ยังคงขยายตัวได้ แต่อัตราการขยายตัวจะชะลอลงเข้าสู่แนวโน้มปกติหลังจากที่เร่งตัวมากในช่วงครึ่งแรกของปี โดยปัจจัยสำคัญมาจากการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น การใช้จ่ายซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น ยอดจำหน่ายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังคงมีปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐเพิ่มขึ้นสูงกว่าประมาณการ นอกจากนี้ การที่รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าเกษตร โดยราคาสินค้าเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรในเดือนธันวาคมไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการณ์ผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 119.37 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.41 โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงเช่น พัดลม ตู้เย็นและโทรทัศน์สี (ขนาดจอเล็กกว่า 20 นิ้ว) หากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.44 โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศ ทั้งที่เป็นแบบคอนเดนซิ่งยูนิตและแบบแฟนคอยส์ซิ่งยูนิต สายไฟฟ้า และคอมเพรสเซอร์ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.43 63.09 25.03 และ 22.08 ตามลำดับ เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากการเติมเต็มในส่วนสินค้าคงคลังที่ปรับลดลง และการผลิตเพื่อการส่งออก ส่วนการผลิตเครื่องปรับอากาศขยายตัวได้ดี จากอุปสงค์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของอาคารสำนักงานในต่างประเทศ และรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตทำให้ทำให้ความสามารถในการทำตลาดดีขึ้น ผู้ประกอบการจึงได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 โดยดูจากดัชนีการส่งสินค้าของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.79 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ และอุตสาหกรรมตู้เย็นคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.70 และ 10.08 ตามลำดับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.95 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าวไม่มากนัก เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาเริ่มกลับเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากการสะสมของสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น ทำให้การสั่งซื้ออาจน้อยลงและราคาเริ่มลดต่ำลง หากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.49 Semiconductor devices Transisters ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.99 และ IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38 ทั้งนี้เนื่องจากส่วนประกอบและชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับความต้องการในตลาดโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกเหล่านี้มีการขยายตัวไปยังตลาดหลักที่มีความต้องการอย่างจีน และความต้องการของสินค้าสำเร็จรูปด้านไอทีมีผลเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น

เคมีภัณฑ์ ไตรมาส 4 ปี 2553 การส่งออกเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 4,221 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.37 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าส่งออก 11,371 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.19 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 7.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่าการส่งออก 781 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.38 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอุตสาหกรรมสีมีมูลค่าส่งออก 2,999 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออก 13,544 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.45 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์น่าจะดีขึ้น ทั้งการผลิต การจำหน่าย นำเข้าและส่งออก เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้น มีมาตรการทางด้านการเงินออกมากระตุ้นภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการส่งออกที่ดีขึ้น รวมทั้ง การเบิกจ่ายงบโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลในปี 2553 ที่มีเป้าหมายในการใช้เงินงบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 85 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 278,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการจับจ่ายใช้สอยกันเพิ่มมากขึ้นแต่ทั้งนี้ต้องระวังการแข็งค่าของเงินบาท ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป ปัญหาทางการเมืองของอียิปต์ ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

ปิโตรเคมี ไตรมาส 4 ปี 2553 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 10,213.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ13.54 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 55.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 13,367.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.96 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 49,115.78 ล้านบาทลดลงร้อยละ 1.75 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรม จากการขยายกำลังการผลิตของประเทศในแถบตะวันออกกลาง และจีน รวมถึงไทย ในโครงการปิโตรเคมีซึ่งเริ่มเปิดดำเนินการแล้ว ส่งผลให้มีอุปทานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม ประกอบด้วย การปรับสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในประเทศ ความผันผวนของค่าเงินบาท ดังนั้น ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ โดยการวางแผนธุรกิจให้รัดกุม การรักษาฐานการผลิตเดิมในสินค้าประเภท Commodity ให้สามารถแข่งขันได้ต่อไปสำหรับกลุ่มสินค้า Specialty ควรต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมปลายทางเช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และไม่ควรมองข้ามการรุกหาตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดของประเทศที่เริ่มพัฒนาประเทศ ต้องให้ความใส่ใจต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคมในปัจจุบันดังบทเรียนจากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้

เหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนพบว่าการผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 24.11 ความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ 14.52 สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญ มีจำนวนประมาณ 72,475 ล้านบาท และ 2,758,963เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการนำเข้าลดลง ร้อยละ 4.04 และ 20.11 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำเข้าในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ปริมาณสต๊อกยังคงมีอยู่ ในไตรมาสนี้ผู้นำเข้าจึงชะลอการนำเข้าลง สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีจำนวนประมาณ 8,744 ล้านบาท และ 284,946 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ12.93 และ 4.32 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนได้แก่ เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 83.33 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า ลดลง ร้อยละ 75.00 และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 61.30

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในปี 2554 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากทั้งภาคการก่อสร้างและภาคการผลิตคาดว่าจะขยายตัวได้ แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะยังอยู่ภายใต้ความผันผวนและปัญหาค่าเงิน โดยภาคการก่อสร้างมีโอกาสใหม่ๆ จากการลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ในปี 2553 มีการเปิดประมูลและเตรียมงานก่อสร้าง ขณะที่ภาคการผลิต อุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในอัตราที่สูงมากจากการผลิต Eco-car ของหลายบริษัทส่วนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง คาดว่าอาจอยู่ในระดับที่ทรงๆ ตัวด้วยข้อจำกัดจากฐานการผลิตที่สูงในปี 2553

ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในปี 2553 มีจำนวน 1,645,304 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.63 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 76.87, 59.04 และ 58.91 ตามลำดับ ซึ่งจากปริมาณการผลิตรถยนต์โดยรวม เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 894,690 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.38 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดโดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์นั่งเพื่อการส่งออก ร้อยละ 76 และ 24 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2553 มีการผลิตรถยนต์ จำนวน 448,074 คัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.85 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.02, 16.48 และ 52.85 ตามลำดับ หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สี่กับไตรมาสที่สามของปี 2553 ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.63 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.58, 0.91 และ 29.94 ตามลำดับ

สำหรับในปี 2554 คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1.8 ล้านคัน โดยเป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 44 และการผลิตเพื่อการส่งออกร้อยละ 56

พลาสติก ไตรมาสที่ 4 อุตสาหกรรมพลาสติก มีมูลค่าส่งออก 23,632 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดอยู่ที่หมวด 3923 ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีมูลค่า 6,345 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด รองลงมาได้แก่หมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีมูลค่าส่งออก 5,700 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 อุตสาหกรรมพลาสติกยังคงมีการขยายตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศที่ดีขึ้น และผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นหลังภาวะน้ำท่วม รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ยังคงมีหลายปัจจัยที่ต้องพึงระวังคือ ภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้สินค้าต่าง ๆ มีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้อำนาจซื้อของผู้บริโภคลดลง ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ปัจจัยทางการเมืองในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน การปะทะกันระหว่างไทยกับกัมพูชา รวมถึงจีนได้ออกมาตรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อที่จะลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจในประเทศ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนด้วยเช่นกัน

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ดัชนีผลผลิต ดัชนีการส่งสินค้าของการฟอกและการตกแต่งหนังฟอก การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ในไตรมาส 4 ปี 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ในปีเดียวกัน มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด เนื่องจากคำสั่งซื้อจากหนังแผ่นที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น เฟอร์นิเจอร์ เบาะรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น และคำสั่งซื้อโดยรวมที่เพิ่มขึ้นขณะที่ดัชนีผลผลิต และการส่งสินค้าการผลิตรองเท้าชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 เป็นในทิศทางเดียวกับมูลค่าการส่งออกของรองเท้าและชิ้นส่วนที่มีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3

แนวโน้มการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังใน ปี 2554 เมื่อเทียบกับปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมรองเท้าจะเพิ่มขึ้น แต่สำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หนังจะทรงตัว ทั้งนี้ปัจจัยบวกในปีหน้าจะมาจากการขยายตัวด้านการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มของเศรษฐกิจภายในประเทศ และเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย จะมาจากอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยนโยบายราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และปัญหาภาวะเศรษฐกิจของยุโรป

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มธัญพืชและแป้ง ผักผลไม้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.1 58.0 9.8 และ 5.4 ตามลำดับ เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบ เช่น มันสำปะหลัง สับปะรดออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับการห้ามทำการประมงจากการปิดอ่าวเม็กซิโกที่เป็นผลจากแท่นขุดเจาะน้ำมันระเบิด และประเทศผู้ผลิตกุ้งประสบปัญหาภัยธรรมชาติและโรคระบาด ทำให้ประเทศคู่ค้าหันมาสั่งซื้อกุ้งจากไทยทดแทน

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 คาดว่า ทิศทางการผลิต และการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาทที่เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และหากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคดีขึ้น จะส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น เหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบ คือ ความรุนแรงของการระบาดของโรคใหม่ๆภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ การก่อจลาจลในหลายประเทศ รวมถึงการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต เช่น การประกาศมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าประมงกับประเทศที่ทำประมงผิดกฎหมายของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา มาตรการบังคับปิดฉลากเพิ่มเติมของหลายประเทศ และการประกาศเกณฑ์ขั้นต่ำของสารตกค้างในอาหารที่เข้มงวดมากขึ้นในหลายสินค้า นอกจากนี้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มมีการบังคับใช้โดยเฉพาะการทำฉลากระบุร่องรอยคาร์บอนที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป ทำให้ไทยต้องเร่งดำเนินการเพื่อรองรับกับมาตรการต่างๆ ที่จะประกาศใช้ในอนาคต

ไม้และเครื่องเรือน ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีปริมาณการผลิต 2.31 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 7.23 และร้อยละ 6.85 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่ลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการประสบปัญหาต้นทุนการผลิต คือราคาวัตถุดิบไม้ยางพารา ที่ปรับตัวสูงขึ้น จากสภาวะราคายางที่เพิ่มสูง ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางลดการโค่นต้นยาง นอกจากนี้ เศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร ทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นและชะลอการลงทุนและการผลิตออกไป ไป

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศเริ่มขยายตัว ซึ่งรวมถึงที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าและเส้นทางคมนาคมสาธารณะอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นใหม่ ตลอดจนสถานการณ์หลังอุทกภัย จะส่งผลทำให้อุปสงค์ของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังหันมาเพิ่มการทำการตลาดภายในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดส่งออก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่ยังปรับตัวสูงขึ้น ความผันผวนของราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 7.73 และ 15.71 ตามลำดับ.แต่เมื่อรวมทั้งปี 2553 การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.34 ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ แบ่งออกเป็น การผลิตยางนอกรถยนต์

ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ยางใน และถุงมือยาง ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตยางนอกรถยนต์ และยางใน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.09 และ 2.56 ตามลำดับ ในขณะที่ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และ การผลิตถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ลดลงร้อยละ 3.11 และ 26.33 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.77และ 5.87 ตามลำดับ สำหรับการผลิตยางใน และ การผลิตถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ลดลงร้อยละ 6.57 และ19.32 ตามลำดับ และเมื่อรวมทั้งปี 2553 การผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ยางใน และถุงมือยาง ถุงมือตรวจ เพิ่มขึ้นทั้งหมด โดยคิดเป็นร้อยละ 25.88 11.59 6.84 และ2.92 ตามลำดับตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มไตรมาสที่ 1 ปี 2554 คาดว่าผลผลิตยางแปรรูปขั้นต้นอาจจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงต้นยางพาราผลัดใบ เริ่มต้นเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ยางพาราในการผลิตยางล้อ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ยังคงเพิ่มขึ้นตามภาวการณ์ขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านราคายาง คาดว่าแนวโน้มราคายางในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากในช่วงต้นปีเป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ ทำให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดโลกลดลง ประกอบกับความต้องการใช้ยางในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในช่วงเทศกาลปลายปี ประกอบกับมีสต๊อกลดลงจากไตรมาสก่อน ส่วนภาวะการผลิตอุตสาหกรรมกระดาษโดยรวมกลับลดลงสวนทางกับการผลิตเยื่อกระดาษ เนื่องจากผู้ผลิตชะลอการผลิตลง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากราคากระดาษในประเทศสูงกว่าต่างประเทศ และผู้จำหน่ายกระดาษและผู้ใช้กระดาษมีการนำเข้ามาบางส่วนเนื่องจากราคาที่ต่ำกว่า สำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสนี้ลดลงเนื่องจากไตรมาสก่อนมีการขยายตัวในการนำเข้าเพื่อรองรับการเติบโตในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ไปแล้ว ส่งผลให้ ไตรมาสนี้มีการนำเข้าที่ชะลอตัวลง ในส่วนการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้น เป็นผลจากราคาสินค้าได้ปรับตัวสูงขึ้น และสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดที่ไม่ใช่ตลาดหลัก เช่น บังคลาเทศ อัฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ประกอบกับยังคงมีการส่งออกสิ่งพิมพ์ประเภทปลอดการปลอมแปลงอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสหน้า คาดว่า จะทรงตัวเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ การปรับค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกภายในประเทศจากการจัดทำรายงานประจำปีของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะมีส่วนในการช่วยกระตุ้นให้มีการใช้เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้น

ยา การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 มีปริมาณ 7,652.3 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.6 สำหรับปี 2553 มีปริมาณการผลิต 30,556.7 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ8.9 โดยปริมาณการผลิตขยายตัว ตามยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งการรับจ้างผลิต สำหรับประเภทยาที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาก คือ ยาน้ำ เพราะเป็นยาที่ผลิตและจำหน่ายได้ง่าย รวมทั้งราคาไม่แพง นอกจากนี้ยังมี ยาครีม โดยผู้ผลิตได้ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าจนเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น และยาผง เนื่องจากมีคำสั่งซื้อของประเทศสหรัฐอเมริกากลับเข้ามาจำนวนหนึ่ง หลังจากหายไปเมื่อปีก่อน เพราะประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตลดลงร้อยละ 0.4 โดยยาที่มีปริมาณการผลิตลดลงมาก คือ ยาน้ำ เนื่องจากไตรมาสนี้มีผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาเครื่องจักรชำรุด และบางรายได้ยกเลิกสายการผลิตยาชนิดนี้

แนวโน้มไตรมาสแรก ของปี 2554 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยา รวมทั้งมูลค่าการนำเข้าและส่งออก จะยังมีแนวโน้มทรงตัวหรือชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการผลิตและจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการนำเข้า เป็นจำนวนมากในช่วงไตรมาสที่ 3 แล้ว ซึ่งผู้ซื้ออาจจะยังมีสินค้าเก่าเหลืออยู่ โดยสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ต่อไป ตามวัฏจักรธุรกิจ

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะราคาฝ้ายดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเส้นด้ายและผ้าผืนได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก รวมถึงราคาฝ้ายดิบในตลาดโลก และอาจจะส่งผลให้โรงงานปั่นด้าย โรงงานทอผ้า และโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มมีต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

แนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน จะยังขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากราคาฝ้ายที่ปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม เนื่องจากมีตลาดยังมีความต้องการสินค้า อีกทั้งผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งตัวและมีแนวโน้มจะแข็งค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งผลจากการแข็งค่าของเงินบาทช่วยให้ผู้ประกอบการสิ่งทอต้นน้ำที่นำเข้าฝ้ายในราคาที่ถูกลงได้บ้าง แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่มีรายได้จากการส่งออกและกำไรที่ลดลง จากสภาวะการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการควรจะผลิตสินค้าที่มีรูปแบบสอดคล้องกับความต้องการในช่วงต่างๆ ของตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและหลีกเลี่ยงกับการแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศหลังจากภัยน้ำท่วมคาดว่าจะมีความต้องการเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นและเพิ่มการทำการตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีต่างๆ อาทิ เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า เพื่อกระจายความเสี่ยงของการส่งออก และการทำตลาดเฉพาะ เช่น ตลาดของผู้สูงอายุ หรือตลาดแฟชั่น เป็นต้น เพื่อสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น

ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 9.48 ล้านตัน การผลิตซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) 9.17 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 0.21 และ 0.42 ตามลำดับ และการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.77 และ 9.82 ตามลำดับ สำหรับในปี 2553 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 38.94 ล้านตัน ส่วนการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีจำนวน 36.62ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.12 และ 9.12 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากในไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง รวมทั้งมีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายหลังจากปัญหาน้ำท่วม และเมื่อพิจารณาในภาพรวมทั้งปี 2553 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นขยายการลงทุนเพิ่ม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูงตามแนวรถไฟฟ้า รวมทั้งรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อโดยการอัดฉีดงบภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งลงระบบกระจายไปยังภูมิภาคมากขึ้น จึงส่งผลทำให้การใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ในไตรมาสที่ 1 2554 การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศคาดว่าจะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในปีนี้ที่อยู่อาศัยตามแนวราบจะขยายตัวมากขึ้นเนื่องจากมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ขยายตัวออกสู่จังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ เช่น โครงการรถไฟฟ้าที่เชื่อมออกสู่ชานเมือง ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ยังคงเป็นการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของรัฐบาล และส่วนหนึ่งมาจากการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายหลังจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2553 ซึ่งจะส่งผลทำให้การใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 36.29 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงในอัตราร้อยละ 12.64 แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.55 ในขณะที่การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.88 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.04 และ 23.32 ตามลำดับ ทั้งนี้ การเติบโตของเครื่องสุขภัณฑ์จะมีอัตราสูงกว่ากระเบื้องปูพื้น บุผนัง ซึ่งเครื่องสุขภัณฑ์สามารถขยายตัวได้ตามการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมที่มีเพิ่มมากขึ้น

สำหรับการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของตลาดในช่วงฤดูกาลขาย และความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลด

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ด้านการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.89 และการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.05 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป และเครื่องประดับแท้ เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 149.16 และ 4.22 ตามลำดับ สำหรับสาเหตุที่การส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปมีมูลค่ามากกว่ามูลค่าการนำเข้า เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับราคาเฉลี่ยที่ 1,370เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ ในช่วงไตรมาสนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น ด้านเครื่องประดับแท้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ระดับหนึ่ง ส่วนการนำเข้าสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 37.95 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ปัจจัยด้านบวก ได้แก่ การบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาทองคำในตลาดโลกที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูง ปัจจัยด้านลบ ได้แก่ การแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะแข็งค่าต่อเนื่องไปอีกสักระยะ ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่อยู่ในระดับสูงขึ้น แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจัยบวกและปัจจัยลบดังที่กล่าวมานั้น ปัจจัยบวกและปัจจัยลบจะส่งผลเท่าๆ กันดังนั้นจึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ