สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2011 15:38 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ไตรมาส 4 ปี 2553 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียตลอดไตรมาสปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ประกอบกับความต้องการมีมาก และอุปทานจากตะวันออกกลางและอินเดียมีเข้ามาน้อย ส่วนราคาเอทิลีนช่วงต้นไตรมาสมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาแนฟธาและน้ำมันดิบ ช่วงกลางไตรมาสราคาปรับลดลงสวนทางกับการปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ เป็นผลมาจากระดับสินค้าในภูมิภาคมีมาก ส่วนช่วงปลายไตรมาส ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ ตลาดผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องปรับตัวดีขึ้น และความต้องการมีเข้ามามากโดยเฉพาะจากประเทศจีน เพื่อ Stock ไว้ใช้ผลิตสินค้ารองรับช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีน

สำหรับการซื้อขายเม็ดพลาสติกทั้ง PE และ PP ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดไตรมาส ตามการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบตั้งต้น และข้อจำกัดด้านอุปทานจากการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน โดยเฉพาะในประเทศจีน

การผลิต

ไตรมาส 4 ปี 2553 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีภายในประเทศ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์สายการผลิตโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LLDPE) โดยมีกำลังการผลิต C8 metallocene (MLLDPE) 350,000 ตัน/ปี ในช่วงกลางไตรมาสที่ 4 ปี 2553 โดยผลผลิตที่ได้จะส่งออกไปยังตลาดจีนโดยเฉพาะ

สำหรับการผลิตในภูมิภาคเอเชีย อินเดียอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสูงสุด ทั้งในสายโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ได้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 21.3 โดยการศึกษาครั้งนี้รวมถึงการสร้างโรงงาน LDPE ขนาด 400,000 ตัน/ปี โรงงานโมโนเอทิลีน ไกลคอล (MEG) ขนาด 730,000 ตัน/ปี โรงงานกรดอะซิติกขนาด 790,000 ตัน/ปี และโรงงานอะซิติกแอนไฮไดร์ขนาด 150,000 ตัน/ปี ส่วนในธุรกิจกลุ่มอะโรมาติกส์วางแผนก่อสร้างโรงงานพาราไซลีน (PX) ขนาด 1.5 ล้านตัน/ปี และโรงงานเบนซีนขนาด 300,000 ตัน/ปี ส่วนธุรกิจกลุ่มอิลาสโตเมอร์พิจารณาก่อสร้างโรงงานยางบิวทิลขนาด 100,000 ตัน/ปี โรงงานยางบิวทิลไดอีน (BR)ขนาด 400,000 ตัน/ปี และโรงงานยางสไตรีนบิวทาไดอีน (SBR) ขนาด 75,000 ตัน/ปี แครกเกอร์และโรงงานผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องครบวงจรคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2557

มองโกเลีย ก่อสร้างสร้างโรงงาน PVC แห่งใหม่ กำลังการผลิต 300,000 ตัน/ปี และหน่วยผลิตแคลเซียมคาร์ไบด์ กำลังการผลิต 600,000 ตัน/ปี ในช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ปี 2553 คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ปี 2555

จีน ดำเนินการก่อสร้างหน่วยการผลิต PVC และโซดาไฟแห่งใหม่ขนาดกำลังการผลิต 400,000 และ 300,000 ตัน/ปี ตามลำดับ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายไตรมาสที่ 4 ปี 2555 และเปิดดำเนินการในช่วงต้นไตรมาสที่ 1 ปี 2556 นอกจากนี้ยังมีแผนก่อสร้างโรงงาน PP สปันบอนด์ประสิทธิภาพสูงแบบไม่ทอ (PP สปันบอนด์) ขนาด 20,000 ตัน/ปี เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมผ้าอ้อม ยา เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอื่นในจีน ส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 58,000 ตัน/ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ปี 2555 โครงการร่วมทุนระหว่างจีนและคูเวตเพื่อพัฒนาโรงกลั่นขนาด 300,000 บาร์เรล/วัน และแครกเกอร์เอทิลีนขนาด 1 ล้านตัน/ปี ในประเทศจีน คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2556 โครงการร่วมทุนระหว่างจีนกับรัสเซียเพื่อก่อสร้างโรงกลั่นและโรงงานปิโตรเคมีครบวงจรในประเทศจีน คาดว่ารัสเซียจะเริ่มจัดส่งก๊าซให้จีนได้ในปี 2558

การ์ตา เริ่มเปิดดำเนินการโรงงานผลิตโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) กำลังการผลิต 350,000 ตัน/ปี ในช่วงต้นไตรมาส 4 ปี 2553 และมีแผนเปิดดำเนินการโรงอัลฟาโอเลฟินส์กำลังการผลิต 350,000 ตัน/ปี ในช่วงปลายไตรมาสที่ 4 ปี 2553 นอกจากนี้ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับเนเธอร์แลนด์ เพื่อพัฒนาแครกเกอร์ที่ใช้วัตถุดิบตั้งต้นแบบผสม (Mixed Feed) และปิโตรเคมีครบวงจรในประเทศการ์ตา โดยโครงการดังกล่าวจะครอบคลุมการลงทุนในโรงงานผลิตโมโนเอทิลีนไกลคอล (MEG) กำลังการผลิตมากกว่า 1.5 ล้านตัน/ปี และโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องโอเลฟินส์อื่นๆ ที่ให้ผลผลิตกว่า 2 ล้านตัน/ปี

สหรัฐอาหรับเอมิเรต โครงการขยายโพลีโอเลฟินส์ระยะที่ 2 โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตโพลีโอเลฟินส์เป็น 2 ล้านตัน/ปี และเพิ่มกำลังการผลิตเอทิลีนเป็น 2.1 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ส่วนโครงการในระยะที่ 3 มีแผนขยายโรงงานปิโตรเคมี ซึ่งประกอบด้วยโรงงาน PE ขนาด 1.08 ล้านตัน/ปี โรงงาน PP ขนาด 960,000 ตัน/ปี และโรงงาน LLDPE ขนาด 350,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2558 นอกจากนี้ มีโครงการร่วมทุนกับประเทศออสเตรีย เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิตโอเลฟินส์ส่วนขยายในช่วงต้นไตรมาส 4 ปี 2553 ทำให้กำลังการผลิต PE เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านตัน/ปี

การตลาด

ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2553 ราคาจำหน่ายเม็ดพลาสติก (ราคาเฉลี่ย SE Asia CIF) ในเดือนธันวาคม 2553 ของ LDPE, HDPE, และ PP อยู่ที่ระดับ 49.44, 39.26, และ 45.20 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ LDPE,HDPE, และ PP มีระดับราคาเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2553 ที่ระดับราคา 43.39, 36.26 และ 40.49 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

การนำเข้า

ไตรมาส 4 ปี 2553 การนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่า 3,608.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.84 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 7.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่านำเข้า 7,400.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.75 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่านำเข้า 22,910.61 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออก

ไตรมาส 4 ปี 2553 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 10,213.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.54 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 55.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 13,367.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.96 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 49,115.78 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.75 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้ม

จากการขยายกำลังการผลิตของประเทศในแถบตะวันออกกลาง และจีน รวมถึงไทย ในโครงการปิโตรเคมีซึ่งเริ่มเปิดดำเนินการแล้ว ส่งผลให้มีอุปทานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม ประกอบด้วย การปรับสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในประเทศ ความผันผวนของค่าเงินบาทดังนั้น ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ โดยการวางแผนธุรกิจให้รัดกุม การรักษาฐานการผลิตเดิมในสินค้าประเภท Commodity ให้สามารถแข่งขันได้ต่อไป สำหรับกลุ่มสินค้า Specialty ควรต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมปลายทาง เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และไม่ควรมองข้ามการรุกหาตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดของประเทศที่เริ่มพัฒนาประเทศ ต้องให้ความใส่ใจต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคมในปัจจุบันดังบทเรียนจากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ