สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2554(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 6, 2011 13:39 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีประมาณ 1,727,759 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 12.57 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นผลมาจากการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ราคาเหล็กวัตถุดิบที่มีความผันผวน และการใช้สินค้าคงคลังที่มีอยู่เดิม สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 17.80 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 25.86 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง ร้อยละ 12.88 แต่ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่เหล็กแผ่นชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.86 สำหรับเหล็กทรงยาว มีการเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.10 เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อรักษาปริมาณสินค้าคงคลังที่มีอยู่ให้คงเดิม

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญครึ่งปีแรกของ ปี 2554 มีประมาณ 3,712,194 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 4.41 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยแรกคือช่วงนี้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กจากประเทศจีนในปริมาณที่มาก ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลจีนมีนโยบายที่จะไม่ส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปแต่มีนโยบายสนับสนุนให้ผู้ผลิตส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปแทนเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ปัจจัยที่สองมาจากการใช้สินค้าคงคลังที่มีอยู่เดิม สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 11.97 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 11.86 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลงร้อยละ 11.70 แต่เหล็กแผ่นชนิดอื่นๆ กลับมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.69 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 3.69

การใช้ในประเทศ(1)

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 ประมาณ 3,127,702 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 0.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 1.65 สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 0.44 เนื่องจากอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้ามีการปรับลดระดับการผลิตลง

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญในครึ่งปีแรกของปี 2554 ประมาณ 6,348,331 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.42 เนื่องจากโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคของภาครัฐซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 1.41 เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่หดตัวลง ซึ่งยังได้รับผลกระทบจากสึนามิในประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามเหล็กที่ใช้ในประเทศสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กที่นำเข้ามาไม่ใช่เหล็กที่ผลิตได้ในประเทศ ซึ่งเหล็กที่ผลิตในประเทศส่วนใหญ่จะใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

การนำเข้า-การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีจำนวนประมาณ 77,468 ล้านบาท และ 2,558,158 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.78 และ ร้อยละ 13.34 ตามลำดับ โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่นและจีน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก(billet) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 511.6 ท่อเหล็กมีตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 124.46 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 116.7 และเหล็กแผ่นหนารีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 47.26 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 30.36 ลวดเหล็ก ลดลง ร้อยละ 6.17 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 4.03

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน มีมูลค่า 11,643 ล้านบาท รองลงมาคือ เหล็กแท่งแบน มีมูลค่า 10,357 ล้านบาท และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน มีมูลค่า 7,647 ล้านบาท

หมายเหตุ (1) ข้อมูลการใช้ในประเทศจะเป็นปริมาณการใช้ปรากฎ (Apparent Steel Use )ซึ่งรวมสต๊อกไว้ด้วย

การส่งออก

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีจำนวนมูลค่า 11,291 ล้านบาท และมีปริมาณ 356,412 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 1.89 และ 18.56 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแท่งแบน ลดลง ร้อยละ 100 เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 96.58 เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 92.80 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 141.22 ท่อเหล็กมีตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 83.61 และ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 75.37 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดในช่วงนี้ คือ ท่อเหล็กมีตะเข็บ มีมูลค่า 3,281 ล้านบาท เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน มีมูลค่า 2,787 ล้านบาท และเหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม มีมูลค่า 1,223 ล้านบาท

การส่งออกครึ่งปีแรก

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในครึ่งปีแรกของปี 2554 มีจำนวนมูลค่า 21,357 ล้านบาท และมีปริมาณ 718,300 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 12.11 และ 14.47 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 89.63 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า ลดลง ร้อยละ 80.13 และท่อเหล็กมีตะเข็บ ลดลง ร้อยละ 42.60 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 733.33 เหล็กแท่งเหล็ก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 221.95 ลวดเหล็ก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 60.36 และ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดในช่วงนี้ คือ ท่อเหล็กมีตะเข็บ มีมูลค่า 4,988 ล้านบาท เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน มีมูลค่า 3,908 ล้านบาท และเหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม มีมูลค่า 2,650 ล้านบาท รายละเอียดตามตารางที่ 6

2. สรุป

สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 12.57 เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากประเทศจีน ประกอบกับมีการระบายสินค้าคงคลัง จึงทำให้ผู้ผลิตผลิตน้อยลง สำหรับความต้องการใช้ในประเทศ ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.55 โดยสำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีจำนวนประมาณ 77,468 ล้านบาท และ 2,558,158 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.78 และ ร้อยละ 13.34 ตามลำดับ โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุดยังคงเป็นประเทศญี่ปุ่นและจีน สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีจำนวนประมาณ 11,291 ล้านบาท และ 356,412 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 1.89 และ 18.56 ตามลำดับ

สถานการณ์เหล็กโดยรวมในครึ่งปีแรกของปี 2554 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 4.41 สำหรับความต้องการใช้ในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.91เนื่องจากโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคของภาครัฐซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญ ในครึ่งปีแรกของปี 2554 มีจำนวนประมาณ 144,278 ล้านบาท และ 5,019,666 เมตริกตัน โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.65 และมีปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.29 โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุดยังคงเป็นประเทศญี่ปุ่นและจีน สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในครึ่งปีแรกของปี 2554 มีจำนวนประมาณ 21,357 ล้านบาท และ 718,300 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 12.11 และ 14.47 ตามลำดับ

3.แนวโน้ม

อุตสาหกรรมเหล็กในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 โดยในส่วนของเหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะได้ผลบวกจากความต้องการใช้เหล็กในโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐและ อสังหาริมทรัพย์ สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าจะขยายตัวตามอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการปรับตัวที่ดีขึ้นและชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กในครึ่งปีหลังของปี 2554 คาดว่าการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะกลับมาผลิตเพื่อทดแทนกับผลผลิตส่วนที่ขาดหายไปจากช่วงไตรมาส 2 จะส่งผลต่อระดับการขยายตัวของตลาดอุตสาหกรรมเหล็กและแนวโน้มการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนระดับการผลิตภายในประเทศขึ้นกับทิศทางของภาคการก่อสร้างเป็นหลัก คาดว่ามีโอกาสชะลอตัวลงต่อเนื่องจากครึ่งแรกของปี เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนมีน้อย ขณะที่ปัจจัยลบทั้งอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังผันผวนจะทำให้ระดับการลงทุนใหม่ในภาคการก่อสร้างชะงักตามไปด้วย สำหรับนโยบายการลงทุนในส่วนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลใหม่นั้น คาดว่ายังไม่ส่งผลกระทบในช่วงนี้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ