สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) 2554 (อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 30, 2011 10:56 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีประมาณ 1,862,963 เมตริกตัน( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ )เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.28 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการเหล็กภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวและประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในโครงการบ้านหลังแรก เมื่อพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.26 สำหรับเหล็กทรงแบนมีการผลิตลดลง ร้อยละ 7.50 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 12.33 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 10.95 และเหล็กแผ่นรีดเย็นลดลง ร้อยละ6.28 ในทางกลับกันผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่เหล็กแผ่นชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.55 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและแผ่นเหล็กเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้นร้อยละ12.35 เนื่องจากเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

การใช้ในประเทศ(1)

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ประมาณ 3,289,779เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.55 อย่างไรก็ตามปริมาณการใช้ในประเทศเป็นปริมาณการใช้ปรากฎซึ่งรวมสต๊อกด้วย จึงมีผลทำให้ความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้นทั้งที่ภาวะอุตสาหกรรมการก่อสร้างในช่วงนี้ยังคงทรงตัว สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 1.66 เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้ายังอยู่ในช่วงของการปรับลดระดับการผลิตในส่วนยานยนต์มีการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น

การนำเข้า-การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีประมาณ 78,269ล้านบาท และ 2,555,015 เมตริกตันตามลำดับ โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.63 แต่มีปริมาณการนำเข้าลดลง ร้อยละ 0.97 ตามลำดับ โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ท่อเหล็กมีตะเข็บเพิ่มขึ้น ร้อยละ 70.01 เหล็กแท่งเล็ก (billet) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 53.79 และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 50.53 จะเห็นได้ว่าสาเหตุที่เหล็กแท่งเล็ก (billet) ซึ่งเป็นวัตถุดิบของเหล็กทรงยาวมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงนี้เนื่องจากผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างจะฟื้นตัวขึ้นจึงนำเข้าวัตถุดิบมาเพื่อเก็บเป็นสต๊อก ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแท่งแบน (slab) ลดลง ร้อยละ 16.52 เหล็กลวดลดลง ร้อยละ 14.36 และท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ลดลง ร้อยละ 5.45

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนมีมูลค่า 11,864 ล้านบาท รองลงมาคือ เหล็กแท่งแบน มีมูลค่า 10,195 ล้านบาท และเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน มีมูลค่า 7,683 ล้านบาท รายละเอียดตามตารางที่ 2

หมายเหตุ(1) ข้อมูลการใช้ในประเทศจะเป็นปริมาณการใช้ปรากฎ (Apparent Steel Use) ซึ่งรวมสต๊อกไว้ด้วย

การส่งออก

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีประมาณ 8,098ล้านบาท และ 243,461 เมตริกตันตามลำดับ โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 15.22 และ26.74 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 99.46 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 98.92 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก (Billet) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 547.83 เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 177.78 และท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 66.41 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน มีมูลค่า 2,892 ล้านบาท ท่อเหล็กมีตะเข็บ มีมูลค่า 1,663 ล้านบาท และเหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม มีมูลค่า 1,210 ล้านบาท รายละเอียดตามตารางที่ 3

2. สรุป

สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.28 เนื่องจากความต้องการเหล็กภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวและประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในโครงการบ้านหลังแรก จึงทำให้ผู้ผลิตผลิตเพิ่มมากขึ้น สำหรับความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.29 เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีการปรับตัวที่ดีขึ้น เพื่อเร่งการผลิตให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้เพื่อชดเชยในช่วงที่ผ่านมา โดยสำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีจำนวนประมาณ78,269 ล้านบาท และ 2,555,015 เมตริกตัน โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.63 แต่มีปริมาณการนำเข้าลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.97 ตามลำดับ โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุดยังคงเป็นประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 8,098 ล้านบาท และมีปริมาณการส่งออก 332,340 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 26.74 และ 15.22 ตามลำดับ

3.แนวโน้ม

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 คาดว่าจะหดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3ของปีเดียวกันเนื่องจากผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมซึ่งถึงแม้โรงงานเหล็กจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเนื่องจากโรงงานไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง (เช่น จ.อยุธยา,จ.ปทุมธานี) แต่ก็จะได้รับผลกระทบโดยอ้อมเนื่องจากเหล็กเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะมีผลให้คำสั่งซื้อในส่วนของเหล็กทรงแบนลดลง เมื่อพิจารณาความต้องการใช้เหล็กเส้นคาดว่าชะลอตัวจากภาวะหยุดชะงักของตลาดที่อยู่อาศัยไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นในขณะนี้ แต่น่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ไปจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้า แต่จะมีบ้างในการซ่อมแซมอาคาร บ้านเรือน ถนน รวมทั้งสะพานที่เสียหายไป แต่ก็คงไม่มาก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ