สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) 2554 (อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 30, 2011 11:37 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีค่าดัชนีผลผลิต 100.0 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้นเช่นกันในส่วนของภาวะการผลิตกระดาษโดยรวม ในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับอัตราการใช้กำลังการผลิตกระดาษโดยรวม (ตารางที่ 1 และตารางที่ 2) เนื่องจากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าผู้บริโภคจะมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นจากเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ จึงมีการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษเพื่อเตรียมรองรับสำหรับการใช้ผลิตเป็นวัตถุดิบและสินค้าต่างๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และภาคบริการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป

หากพิจารณาค่าดัชนีผลผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วง 9 เดือนของปี 2554 กับ 9 เดือนของปี 2553 พบว่าค่าดัชนีทั้ง 2 ตัว ลดลงในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากในปี 2553 มีปัจจัยหนุนที่สำคัญ ได้แก่ การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในแต่ละประเทศรวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศขยายตัวเกือบทุกรายการ และมีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ทำให้อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษได้รับผลพลอยได้จากปริมาณความต้องการใช้กระดาษในการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณาและบรรจุภัณฑ์ขยายตัวตามไปด้วย ต่างจากปี 2554 โดยเปรียบเทียบ ทำให้ค่าดัชนีผลผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษลดลง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาค่าดัชนีผลผลิตกระดาษโดยรวม ในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วง 9 เดือนของปี 2554 กับ 9 เดือนของปี 2553 เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการผลิตกระดาษสำหรับกล่องเพื่อบรรจุสินค้าและเพื่อการขนส่ง ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากบางหมวดอุตสาหกรรมหลักยังคงขยายตัว อาทิ อาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวยังคงมีความต้องการใช้กระดาษ และกล่องกระดาษ เพื่อห่อหุ้มให้สินค้ามีความน่าสนใจสวยงามดึงดูดผู้ซื้อ และเป็นการป้องกันสินค้ามิให้เสียหายจากการขนส่ง ตลอดจนการจัดทำคู่มืออธิบายวิธีการใช้สินค้า และฉลาก

2. การนำเข้าและการส่งออก

2.1 การนำเข้า

ภาวะการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้าเยื่อกระดาษใยยาวและเศษกระดาษมาจากต่างประเทศทุกๆ ไตรมาสอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแหล่งนำเข้าเยื่อกระดาษใยยาวจากประเทศแคนาดา แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา สำหรับแหล่งนำเข้าเศษกระดาษจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถผลิตได้ เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในกระบวนการผลิตเยื่อและกระดาษ โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่าการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษทั้งสิ้น 213.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.1 และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 กลับเพิ่มขึ้นสวนทางกับไตรมาสก่อนร้อยละ 2.2 (ตารางที่ 3)ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และ

ไตรมาสเดียวกันของปี 2553 จะเพิ่มขึ้น (ตารางที่ 4) โดยการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน จะสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า เนื่องจากคาดว่าอุปสงค์ของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายตลอดจนผู้บริโภค จะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ประกอบกับราคาเยื่อกระดาษใยยาว ในไตรมาสนี้ลดลงจากไตรมาสก่อนที่เฉลี่ยตันละ 1,019.9 เหรียญสหรัฐฯ เป็นเฉลี่ยตันละ1,000.4 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับสาเหตุที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณการนำเข้า ในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรองรับความต้องการใช้เยื่อกระดาษและกระดาษของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายรวมทั้งผู้ใช้สินค้าในอุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจจากหลายสถาบันว่า เศรษฐกิจในประเทศและประเทศคู่ค้าหลักในภูมิภาคเอเชียจะยังคงขยายตัว

สำหรับปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนของปี 2554 กับ 9 เดือนของปี 2553 ลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ ราคาเยื่อกระดาษใยยาวโดยเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนของปี 2554 มีราคาสูงกว่า 9 เดือนของปี 2553 ประมาณตันละ37.6 เหรียญสหรัฐฯ จากเดิมตันละ 959.4 เหรียญสหรัฐฯ เป็น 997.0 เหรียญสหรัฐฯ

ภาวะการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่า489.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วง 9 เดือนของปี 2554 กับ 9 เดือนของปี 2553 เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน(ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน มีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า แต่เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการนำเข้าของไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วง 9 เดือนของปี 2554 กับ 9 เดือนปี 2553 พบว่าลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า (ตารางที่ 4)

สาเหตุที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณในไตรมาสนี้กับไตรมาสก่อน เป็นเพราะการขยายตัวในการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษทุกรายการ เพื่อรองรับความต้องการใช้ภายในของผู้ประกอบการผลิตสำหรับใช้ในประเทศและส่งออกที่จะเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศจากเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ประกอบกับมีการขยายตัวนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนเคลือบผิวจากประเทศจีนอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เพื่อนำมาใช้สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ซึ่งมีราคาจำหน่ายต่ำกว่าในประเทศ สำหรับแหล่งนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษโดยรวมที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ส่วนสาเหตุที่ปริมาณการนำเข้าลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วง 9 เดือนของปี 2554 เนื่องจากในไตรมาสก่อนได้มีการนำเข้ามาสำรองไว้บางส่วนแล้วเพื่อเป็นสินค้าคงคลังและทยอยผลิตส่งให้กับลูกค้าต่อไป รวมทั้งราคากระดาษโดยรวมทุกประเภทในตลาดโลกเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ประมาณตันละ 62.6 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจากเดิมราคากระดาษในตลาดโลกเฉลี่ยตันละ 1,003.6 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 941.0 เหรียญสหรัฐฯ แต่เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนของปี 2554 กับ 9 เดือนของปี 2553 เฉลี่ยสูงขึ้นตันละประมาณ 103.6 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจากเดิมราคากระดาษในตลาดโลกเฉลี่ยตันละ 999.3 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 895.7 เหรียญสหรัฐฯ

ภาวะการนำเข้าสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่า 57.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ยกเว้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนของปี 2554 กับ 9 เดือนของปี 2553 มีทิศทางลดลงสวนทางกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้าสิ่งพิมพ์ มีทิศทางลดลงทั้งหมด (ตารางที่ 4) โดยสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ปริมาณการนำเข้าสิ่งพิมพ์ลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าเมื่อเปรียบเทียบไตรมาสนี้กับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากในไตรมาสนี้มีการขยายตัวในการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทรูปลอก จากประเทศฮ่องกง ไต้หวัน และจีน ซึ่งในไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 มีการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเป็นเล่ม และตำราแบบเรียน ซึ่งมีน้ำหนักมากและมีมูลค่าน้อยกว่าสิ่งพิมพ์ประเภทรูปลอก

ส่วนสาเหตุที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนของปี 2554 นั้น เนื่องจาก 9 เดือนของปี 2553 มีการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทภาพพิมพ์ ภาพถ่ายและอื่นๆ ซึ่งมีมูลค่าสูงและน้ำหนักเบาจากประเทศเกาหลีใต้ ตามกระแสความนิยมในภาพยนตร์ ซีรีย์ นักแสดงและนักร้อง ซึ่งมีมูลค่าเป็นอันดับหนึ่งในประเภทสิ่งพิมพ์ทั้งหมดมาหลายไตรมาสและหลายปีติดต่อกัน แต่ปัจจุบันผู้บริโภคมีกำลังซื้อสิ่งพิมพ์ดังกล่าวชะลอตัวลงมากเนื่องจากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งผู้บริโภคอยู่ระหว่างการชะลอการใช้จ่าย จึงทำให้ดูเหมือนว่า ช่วง 9 เดือนของปี 2554 มีการขยายตัวของการนำเข้าสิ่งพิมพ์จำพวกหนังสือ ตำราแบบเรียนจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าสิ่งพิมพ์จำพวกภาพพิมพ์ภาพถ่ายฯ เพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่มูลค่าการนำเข้ายังคงใกล้เคียงกับทุกปีที่ผ่านมา

2.2 การส่งออก

ภาวะการส่งออกเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่า 31.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วง 9 เดือนของปี 2554 กับ 9 เดือนของปี 2553 เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 5) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออกเยื่อกระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปี 2553และช่วง 9 เดือนของปี 2554 กับ 9 เดือนของปี 2553 พบว่า เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก(ตารางที่ 6) โดยสาเหตุที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณ เป็นเพราะมีการขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศจีนและฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะมีมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปยังประเทศจีนมากกว่าร้อยละ 50

ภาวะการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่า1,031.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วง 9 เดือนของปี 2554 กับ 9 เดือนของปี 2553 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 171.3 208.7 และ 80.9 ตามลำดับ (ตารางที่ 5) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วง 9 เดือนของปี 2554 กับ 9 เดือนของปี 2553 กลับลดลงสวนทางกับมูลค่าการส่งออก (ตารางที่ 6) สำหรับสาเหตุที่ปริมาณลดลงสวนทางกับมูลค่าการส่งออก เนื่องจากปัจจัยด้านราคาของกระดาษในตลาดโลกสูงขึ้น ประกอบกับความสามารถของผู้ประกอบการในการขยายตลาดใหม่และยังคงรักษาตลาดหลักในภูมิภาคเอเชียได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกกระดาษแข็งไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเปรียบเทียบในช่วง 9 เดือนของปี 2554 กับ 9 เดือนของปี 2553 จากมูลค่า 33.0ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 727.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ภาวะการส่งออกสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่า 948.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 19.5 แต่หากเปรียบเทียบไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วง 9 เดือนของปี 2554 และ 9 เดือนของปี 2553 เพิ่มขึ้นสวนทางกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 5)ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วง 9 เดือนของปี 2554 กับ 9 เดือนของปี 2553 พบว่า มีปริมาณเพิ่มขึ้น

สาเหตุการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนสวนทางกับมูลค่าการส่งออก เป็นเพราะมีการส่งออกสิ่งพิมพ์ที่มิใช่สินค้าหลักซึ่งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น อาทิ หนังสือที่เป็นเล่ม หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และวารสาร ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งมีการส่งออกสิ่งพิมพ์ประเภทภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และอื่นๆ ไปยังประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนาม แทนการส่งออกสิ่งพิมพ์หลักจำพวกปลอดการปลอมแปลง ซึ่งมีมูลค่าลดลงเล็กน้อย สำหรับการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกสิ่งพิมพ์ของไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วง 9 เดือนของปี 2554กับ 9 เดือนของปี 2553 เป็นผลมาจากการส่งออกสิ่งพิมพ์หลักประเภทปลอดการปลอมแปลงไปยังตลาดหลักคือ ฮ่องกง คิดเป็นร้อยละ 98 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งพิมพ์ทั้งหมด ประกอบกับมีการขยายตัวของการส่งออกสิ่งพิมพ์จำพวกภาพพิมพ์ และภาพถ่ายด้วย

4. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะการผลิต การนำเข้า และการส่งออกเยื่อกระดาษ และกระดาษ โดยรวมในไตรมาสนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าผู้บริโภคจะมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นจากเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ จึงมีการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษเพื่อเตรียมรองรับสำหรับการใช้ผลิตเป็นวัตถุดิบและสินค้าต่างๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และภาคบริการ

หากเปรียบเทียบช่วง 9 เดือนของปี 2554 กับช่วงเดียวกันของปี 2553 ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ปรับตัวลดลง โดยเปรียบเทียบเนื่องจากในปี 2553 มีปัจจัยบวกจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในแต่ละประเทศรวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศขยายตัวเกือบทุกรายการ และมีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ทำให้อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษได้รับผลพลอยได้จากปริมาณความต้องการใช้กระดาษในการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณาและบรรจุภัณฑ์ขยายตัวตามไปด้วย สำหรับภาวะการผลิตกระดาษโดยรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับเยื่อกระดาษ โดยเฉพาะการผลิตกระดาษสำหรับกล่องเพื่อบรรจุสินค้าและเพื่อการขนส่งเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักของประเทศยังคงขยายตัว อาทิ อาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวยังคงมีความต้องการใช้กระดาษ และกล่องกระดาษ เพื่อห่อหุ้มให้สินค้า และป้องกันสินค้ามิให้เสียหายจากการขนส่ง ตลอดจนการจัดทำคู่มืออธิบายวิธีการใช้สินค้า และฉลาก ในส่วนภาวะการนำเข้า และการส่งออกอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ

สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสหน้าคาดว่า ทั้งภาวะการผลิต การส่งออก และการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ จะมีอัตราการขยายตัวลดลง เนื่องจากไตรมาสนี้เป็นช่วงปกติที่การผลิตจะชะลอตัวจากการส่งมอบสินค้าเพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ในปลายไตรมาสที่ 3/2554 แล้ว ประกอบกับคาดการณ์ว่า ทั้งการผลิต และการบริโภค/การจำหน่ายในประเทศ จะชะลอตัวจากสถานการณ์น้ำท่วมในเกือบทุกจังหวัดของประเทศ ทำให้การขนส่งเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ประสบปัญหาล่าช้าและไม่สามารถกระจายสินค้าได้ทั่วถึง รวมทั้งโรงงานสิ่งพิมพ์ SMEs ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และต้องปิดโรงงานเพื่อซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องจักร ส่งผลกระทบต่อการผลิตในประเทศนอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และประชาชนทั่วไป ซึ่งต้องมีการบูรณะฟื้นฟูหลังน้ำลดด้วยมูลค่ามหาศาลอาจทำให้ความต้องการในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงสำหรับการส่งออกและการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะมีอัตราการขยายตัวทรงตัวเนื่องจากอุตสาหกรรมหลักที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอาหาร จะมีความต้องการใช้ลดลง เป็นผลมาจากโรงงานได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกภายนอก ได้แก่ แนวโน้มตลาดคู่ค้าที่สำคัญในแถบประเทศเอเชีย อาทิ ฮ่องกง จีน มาเลเซีย และเวียดนาม ขยายตัวเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ