สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2555 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2555(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 23, 2012 15:41 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนทั้งเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะการผลิตกระดาษสำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้าและขนส่ง กระดาษแข็งและกระดาษลูกฟูก ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้กระดาษดังกล่าวมีอย่างต่อเนื่องในการบรรจุสินค้าในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ สำหรับเยื่อกระดาษส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ในเมืองไทยเป็นชนิดเยื่อใยสั้น จำเป็นต้องมีการนำเข้าเยื่อใยยาวจากต่างประเทศเพื่อเพิ่มความเหนียวให้กับกระดาษ

การผลิต

ในไตรมาส 1 ปี 2555 การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ เยื่อกระดาษกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.71 ,20.32, 18.66, 16.98 และ 4.69 ตามลำดับ สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษที่ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.71 , 20.32, 18.66, 18.99 และ 3.60 ตามลำดับ แต่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ลดลงได้แก่ เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคราฟท์ ลดลงร้อยละ 2.13 ,7.09 และ 3.55 ตามลำดับ เป็นผลสืบเนื่องจากน้ำท่วมในประเทศไทยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนที่ได้รับผลกระทบยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้เหมือนเดิม ประกอบกับระบบการขนส่ง (โลจิสติกส์) และศูนย์กระจายสินค้าต่างๆ ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามการผลิตกระดาษสำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้าและขนส่ง โดยเฉพาะกระดาษแข็งและกระดาษลูกฟูก มีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.24 และ 3.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 18.66 และ 4.69 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้กระดาษดังกล่าวมีอย่างต่อเนื่องในการบรรจุสินค้าในภาคการเกษตรอุตสาหกรรมและบริการ (รายละเอียดตามตารางที่ 1 และ 2)

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1. เยื่อกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 28.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.04 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศส่งออกหลักอย่างประเทศจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1ของไทย มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 67.00 ยังมีความต้องการใช้เยื่อกระดาษเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในไตรมาสนี้บางประเทศมีปริมาณคำสั่งซื้อเยื่อกระดาษจากไทยเพิ่มขึ้น อาทิ อินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตเยื่อกระดาษในประเทศขยายการส่งออกทั้งเยื่อกระดาษบริสุทธิ์และเยื่อกระดาษที่ได้จากกระดาษที่ใช้แล้ว แต่มูลค่าและปริมาณการส่งออกยังลดลงร้อยละ 6.68 และ 0.56 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามคาดว่าในไตรมาส 2 จะมีการส่งออกที่เพิ่มขึ้น(รายละเอียดตามตารางที่ 3 และ 4) โดยประเทศส่งออกหลักของเยื่อกระดาษในไตรมาสนี้ ได้แก่จีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สัดส่วนร้อยละ 66.99, 7.79 และ 5.82 ตามลำดับ

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 311.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 72.98 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและลดลงร้อยละ 12.05 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และหากพิจารณาปริมาณการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษในไตรมาสนี้ พบว่า มีทิศทางลดลงเช่นเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก เนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักในภูมิภาคเอเชียนำเข้าจากไทยลดลง อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซียออสเตรเลีย และ ไต้หวัน นำเข้าลดลงร้อยละ 28.38, 18.33, 31.34 และ 11.86 ตามลำดับ อีกทั้งปัจจัยด้านราคาในไตรมาสนี้ได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกยังขยายตัวได้ในประเทศเวียดนามและเกาหลีใต้ ร้อยละ 9.75 และ 29.79 ตามลำดับ(รายละเอียดตามตารางที่ 3 และ 4) โดยประเทศส่งออกหลักกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษในไตรมาสนี้ ได้แก่ เวียดนาม เกาหลีใต้ และมาเลเซีย สัดส่วนร้อยละ 12.37, 9.95 และ 8.14ตามลำดับ

3. หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 1 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 21.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 94.19 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและลดลงร้อยละ 72.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และหากพิจารณาปริมาณการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไตรมาสนี้กับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก ร้อยละ 11.66 และ 31.09 ตามลำดับ ซึ่งสาเหตุหลักที่การส่งออกลดลงทั้งมูลค่าและปริมาณ เป็นเพราะผู้นำเข้ารายใหญ่ คือ ฮ่องกง ชะลอการนำเข้า เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน (รายละเอียดตามตารางที่ 3 และ 4) โดยประเทศส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไทยในไตรมาสนี้ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย สัดส่วนร้อยละ13.55, 8.60 และ 8.27 ตามลำดับ

การนำเข้า

1. เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2555 มีมูลค่า 191.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.85 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 4.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากพิจารณาปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.82เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้เยื่อกระดาษและเศษกระดาษในประเทศมีมากขึ้น ประกอบกับไตรมาสก่อนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้เหมือนเดิม จำเป็นจะต้องนำเข้ามาเพื่อผลิตในผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องมากขึ้น (รายละเอียดตามตารางที่ 5 และ 6) ประเทศนำเข้าหลักในไตรมาสนี้ ได้แก่แคนาดา แอฟริกาใต้ และ สหรัฐอเมริกา สัดส่วนร้อยละ 17.16, 14.87 และ 13.57 ตามลำดับ

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2555 มีมูลค่า 393.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.54 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.59เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สำหรับปริมาณการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.28 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.64 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและมูลค่าในไตรมาสนี้ จะเป็นในลักษณะเดียวกันกับการนำเข้าเยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้น กล่าวคือ ในไตรมาสก่อนเกิดอุทกภัยในประเทศที่ส่งผลต่อภาคการผลิต ประกอบกับในไตรมาสนี้ความต้องการใช้มีปริมาณมากขึ้นและมีการขยายตัวของการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนเคลือบผิวจากประเทศจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่นเกาหลีใต้ และไต้หวัน เนื่องจากมีราคาจำหน่ายต่ำกว่าในประเทศ เพื่อนำมาใช้สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ (รายละเอียดตามตารางที่ 5 และ 6) แหล่งนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สิงคโปร์ จีนญี่ปุ่น และ อินโดนีเซีย สัดส่วนร้อยละ 15.22, 14.57, 12.49 และ 9.31 ตามลำดับ

3. หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 1 ปี 2555 มีมูลค่า 61.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.86 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.02 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสิ่งพิมพ์ที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และอื่นๆ จากเกาหลีใต้ตามกระแสความนิยมนักร้อง นักแสดง ภาพยนตร์ อาหารและวัฒนธรรม ซึ่งสิ่งพิมพ์ดังกล่าวจะมีมูลค่าสูงกว่าสิ่งพิมพ์ประเภทอื่นๆ และหากพิจารณาปริมาณการนำเข้าสิ่งพิมพ์ของไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 7.6 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.31 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าเป็นผลมาจากน้ำหนักและมูลค่าของสิ่งพิมพ์แต่ละประเภทที่นำเข้าแตกต่างกันในลักษณะสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือที่เป็นรูปเล่ม หรือแผ่น อาทิ ตำราแบบเรียน นิตยสาร วารสารต่างๆ (รายละเอียดตามตารางที่ 5 และ 6) โดยแหล่งนำเข้าหลักในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 29.36, 10.13 และ 9.73 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

การรณรงค์และการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนสนใจและรักการอ่าน เพื่อรองรับให้กรุงเทพฯ เป็น World Book Capital ในปี 2013 ตามพันธกิจที่มีต่อยูเนสโก อาทิ การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือเล่มแรก การส่งเสริมพัฒนาการเด็กผ่านการอ่าน ตลอดจนการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยการเปิดห้องสมุดเฉพาะ ได้แก่ห้องสมุดวรรณกรรมและการท่องเที่ยว ห้องสมุดการ์ตูน

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิต และการนำเข้า อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์โดยรวมในไตรมาส 1 ปี 2555 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งปกติในไตรมาสแรกของทุกปีการผลิต การนำเข้าและการส่งออกจะชะลอตัว เพราะได้ส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าในภาคอุตสาหกรรม เกษตรและบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้วตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2554 แต่เนื่องจากในไตรมาสดังกล่าวที่ผ่านมาเกิดอุทกภัยในประเทศ ส่งผลกระทบต่อการใช้วัตถุดิบและสินค้าในอุตสาหกรรมเชื่อมโยงต่างๆ เพิ่มขึ้น ประกอบกับคำสั่งซื้อเดิมยังมีอยู่และขณะนี้ผู้ประกอบการบางส่วนสามารถกลับมาผลิตได้เป็นปกติแล้ว สำหรับภาคการส่งออกในไตรมาสนี้ส่วนใหญ่ยังติดลบ เนื่องจากการผลิตยังไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังไม่แน่นอน รวมถึงฮ่องกงที่เป็นผู้นำเข้าหนังสือและสิ่งพิมพ์รายใหญ่จากไทย ชะลอการนำเข้า

แนวโน้ม

แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาส 2ปี 2555 คาดว่า จะเพิ่มขึ้นทั้งภาคการผลิต การส่งออก และการนำเข้า ทั้งนี้มีปัจจัยบวกในประเทศ โดยเฉพาะกระดาษสำหรับผลิตหนังสือเรียน ในอุตสาหกรรมหลักที่ต้องใช้กระดาษสำหรับผลิตกล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์รวมทั้งสิ่งพิมพ์ ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งการส่งเสริมการอ่านเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สำหรับปัจจัยบวกจากภายนอก ได้แก่ แนวโน้มตลาดคู่ค้าที่สำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียอาทิ ฮ่องกง จีน ยังคงมีการขยายตัวในการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไปยังประเทศเหล่านี้สูงกว่ากลุ่มประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับปัจจัยลบอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเช่น การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรป อาจทำให้ทั้งการผลิต การบริโภค/การจำหน่ายในประเทศการส่งออก และการนำเข้าเกิดการชะลอตัวจากความต้องการใช้เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคธุรกิจการค้าและบริการ และผู้บริโภคที่ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวอยู่

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ