การสัมมนา“FTA กับอุตสาหกรรมไทย ก้าวไกลสู่ AEC และ ตลาดโลก”

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 25, 2012 13:28 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในการสัมมนา “FTA กับอุตสาหกรรมไทย ก้าวไกลสู่ AEC และ ตลาดโลก” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2555 ณ โรงแรมเซนทาราคอนเวนชั่นเซนเตอร์อุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ว่าได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ติดตามสถานะความคืบหน้า ผลกระทบและการใช้ประโยชน์จาก FTA ต่างๆ ในปัจจุบันที่ประเทศไทยได้ทำร่วมกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ทั้ง FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้วระยะหนึ่ง ได้แก่ 1.ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) 2.ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) 3.ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) 4.ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และ 5.โครงการเก็บเกี่ยวล่วงหน้าภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA) รวมถึงความตกลงที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2553 ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค ได้ทราบถึงการใช้ประโยชน์และผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของภาคอุตสาหกรรมไทยรวมถึงโอกาสในการปรับตัวเพื่อรองรับกับสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เปลี่ยนไปได้อย่างเหมาะสม ทันท่วงที และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อรองรับการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 อีกทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น

ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ผลการศึกษาการใช้ประโยชน์จาก FTA ในปี 2554 ภาคส่งออกไทยได้รับประโยชน์ด้านภาษีจาก FTA รวมเป็นมูลค่า 118,195 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปยังประเทศภาคี FTA โดยประโยชน์ที่ได้รับนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 16,407 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้ส่งออกสินค้าไปประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุด (75,579 ล้านบาท) รองลงมาคือผู้ส่งออกไปประเทศจีน (20,295 ล้านบาท) ในขณะเดียวกันภาคนำเข้าไทยได้รับประโยชน์ด้านภาษีจาก FTA รวมเป็นมูลค่า 70,796 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.7 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากประเทศภาคี FTA โดยประโยชน์ที่ได้รับนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 11,638 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุด (33,709 ล้านบาท) รองลงมาคือผู้นำเข้าจากประเทศจีน (21,784 ล้านบาท) แม้ว่าโดยภาพรวม ทั้ง ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้าที่ค้าขายกับประเทศในกลุ่มอาเซียนจะได้รับประโยชน์ในระดับสูง แต่ยังพบว่ามีผู้ประกอบการที่ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA กับประเทศในกลุ่มอาเซียนได้อย่างเต็มที่ โดยผู้ส่งออกและผู้นำเข้าไทยยังใช้สิทธิประโยชน์ต่ำกว่าระดับเต็มที่ 65,424 ล้านบาท และ 11,585 ล้านบาท ตามลำดับ และจากการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ผู้ส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไทยถือว่ามีความพร้อมสูงสุดในการรับมือกับ AEC เนื่องจากสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในตลาดอาเซียนได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ผู้ส่งออกไทยในอีกหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่แม้จะยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่ แต่ก็พอจะแข่งขันสู้กับประเทศอาเซียนด้วยกันได้ เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานในการแข่งขันด้านอื่นดี เช่น ผู้ส่งออกอาหาร สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ส่วนผู้ประกอบการที่ควรต้องรีบปรับตัวอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดลดลงและยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้แก่ ผู้ส่งออกเครื่องหนัง เครื่องใช้ไฟฟ้า และเหล็กและเหล็กกล้า

นอกจากนี้ นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ สศอ. เปิดเผยว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของ AEC จะส่งผลต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมไทยทั้งในแง่บวกและแง่ลบ โดยผลเชิงบวก จะทำให้เกิดการรวมเป็นตลาดเดียว (Single Market) ที่มีผู้บริโภคจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกของไทย ทั้งนี้อาเซียนเป็นตลาดส่งออกอันดับต้นของไทยอยู่แล้ว ชิ้นส่วนและวัตถุดิบจะมีคุณภาพสูงขึ้น ราคาก็จะลดลง อันเกิดจากการแบ่งงานกันทำในภูมิภาคอาเซียน ก่อให้เกิดการกระจายการผลิตไปในประเทศที่มีความชำนาญ และต้นทุนการผลิตต่ำลง และยังเป็นการสร้างโอกาสการลงทุนเมื่อประเทศอาเซียนมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้เสรีมากยิ่งขึ้น ทำให้ขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีการใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกัน และเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกันประเทศสมาชิกอาเซียน สำหรับผลเชิงลบ สินค้าของสมาชิกอาเซียนสามารถเข้าสู่ตลาดไทยได้โดยไม่มีภาระภาษี ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องแข่งขันสูงขึ้น ผู้ผลิตจึงต้องปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุน หากประเทศไทยไม่มีการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน ประสิทธิภาพการผลิตแรงงาน และไม่มีการปรับปรุงกฎระเบียบกฎหมายให้มีความทันสมัย อาจทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ที่เหมาะสมกว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นไปได้เสรี แรงงานฝีมือของไทยอาจไหลไปประเทศที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ต้องจ้างแรงงานต่างด้าวที่ค่าแรงถูกกว่าเข้ามา อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสังคม นอกจากนี้ หากตลาดในประเทศ ยังไม่มีกลไกในการป้องกันสินค้าคุณภาพต่ำกว่าที่ผลิตได้ภายในประเทศ ก็จะทำให้นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย อาจประสบปัญหาได้

ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในการระบุประเด็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้ภาคเอกชนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งได้เผยแพร่กรณีศึกษาแนวทางและวิธีการใช้ประโยชน์จาก FTA โดยผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยใช้ประโยชน์ เนื่องจากอาจขาดความรู้ความเข้าใจหรืออาจยังลังเลไม่แน่ใจมาเริ่มใช้ประโยชน์จาก FTA ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น นอกจากนี้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับประโยชน์จากการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน รวมทั้ง FTA กับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ในตลาดโลกได้อย่างสูงสุด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ