รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 20, 2012 15:47 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2555

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 178.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (174.9) ร้อยละ 2.3 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 (181.8) ร้อยละ 1.6

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี2554 ได้แก่ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เส้นใยสิ่งทอ เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 4.3 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เส้นใยสิ่งทอ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 69.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 62.6) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 (ร้อยละ 59.7)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ โทรทัศน์สี ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 ได้แก่ โทรทัศน์สี ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์เลนส์ชนิดต่างๆ เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 65.9 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ โทรทัศน์สี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหารสัตว์สำเร็จรูปเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น

แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2555

ภาพรวมภาคอุตสาหกรรมปี 2555 นั้น คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 6-7

ปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ 1.การทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรมที่จะเร่งตัวกลับมาเพื่อชดเชยในช่วงน้ำท่วม 2. การขยายตัวเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจในประเทศจากการดำเนินนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรถคันแรก นโยบายจำนำสินค้าเกษตร (ข้าว ยางพารา) ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท การลงทุนทดแทนความเสียหายจากน้ำท่วมและในโครงการเพื่อป้องกันน้ำท่วม รวมถึงภาคเอกชนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้ส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตอบสนองความต้องการในประเทศสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง และ 3. ปัจจัยฐานในการคำนวณที่ต่ำในปีที่ผ่านมา

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคการจ้างงานและการบริโภค และความล่าช้าของการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของกลุ่มประเทศยูโรซึ่งความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจจีนผ่านการส่งออกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

พ.ค. 55 = 189.0

มิ.ย. 55 = 182.4

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • เบียร์
  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

พ.ค. 55 = 74.3

มิ.ย. 55 = 72.4

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
  • เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนมิถุนายน 2555 มีค่า 182.4 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2555 (189.0) ร้อยละ 3.5 และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนมิถุนายน2554 (201.8) ร้อยละ 9.6

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2555 ได้แก่ เบียร์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ Hard Disk Drive น้ำตาล เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เส้นใยสิ่งทอเป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนมิถุนายน 2555 อยู่ที่ระดับร้อยละ 72.4 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2555 (ร้อยละ 74.3) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนมิถุนายน2554 (ร้อยละ 64.4)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนพฤษภาคม2555 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ โทรทัศน์สี ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เลนส์ชนิดต่างๆ เหล็ก เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2555

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2555 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 261 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 344 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 24.1 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 8,499.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งมีการลงทุน 6,009.37 ล้านบาท ร้อยละ 41.4 และมีการจ้างงานจำนวน 13,109 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2555 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 9,063 คน ร้อยละ 44.6

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 344 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 24.1 มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งมีการลงทุน 9,633. ล้านบาท ร้อยละ 11.8 แต่มีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2554 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 9,186 คน ร้อยละ 42.71

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนมิถุนายน 2555 คืออุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งภายในอาคารจากไม้ จำนวน 27 โรงงานรองลงมาคือ อุตสาหกรรมทรายและร่อนล้างหรือคัดกรวดทราย จำนวน 18 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2555 คืออุตสาหกรรมผลิตผงสังกะสีออกไซด์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน จำนวน1,127.80 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อจำ หน่ายจำนวน 1,000 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2555 คืออุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งภายในอาคารจากไม้ จำนวนคนงาน 7,964คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวนคนงาน 313 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2555 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 102 ราย มากกว่าเดือนพฤษภาคม2555 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 86 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.6 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 16,067.41 ล้านบาท มากกว่าเดือนพฤษภาคม 2555 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,542.86 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 3,767 คน มากกว่าเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 2,432 คนภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 73 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 39.7 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนมิถุนายน2554 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 714.38 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนมิถุนายน 2554 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,080 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนมิถุนายน 2555 คือ อุตสาหกรรมกลึง เจาะ คว้าน กัด ไส เจียน เชื่อมโลหะทั่วไป จำนวน 9 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ ประกอบและซ่อมตัวถังรถยนต์ จำนวน 8 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2555 คืออุตสาหกรรมทำขดสปริงเหล็ก สลัก แป้นเกลียว วงแหวน หมุดย้ำ หลอดชนิดพับได้ เงินทุน 13,070 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมถักผ้า ผ้าลูกไม้ เครื่องนุ่งห่มด้วยด้ายหรือเส้นใยเงินทุน 1,328.20 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2555 คือ อุตสาหกรรมผลิตรองเท้าหรือชิ้นส่วนรองเท้า ซึ่งมิได้ทำจากไม้ ยางอบแข็ง พลาสติกจำนวนคนงาน 925 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมถักผ้า ผ้าลูกไม้ เครื่องนุ่งห่มทำด้วยด้ายหรือเส้นใย จำนวนคนงาน 490 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม - มิถุนายน 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 1,016 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 853โครงการ ร้อยละ 19.11 และมีเงินลงทุน 338,300 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน253,300 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.56

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม - มิถุนายน 2555
          การร่วมทุน                 จำนวน(โครงการ)          มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%            446                      89,100
          2.โครงการต่างชาติ 100%           359                     100,100
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ     211                     149,100
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม — มิถุนายน 2555 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 149,900 ล้านบาทรองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม47,200 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศชะลอตัวลง ส่วนการจำหน่ายภายในประเทศจะปรับตัวลดลงเช่นกัน จากการปรับเพิ่มขึ้นของระดับราคาน้ำมันและราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ส่งผลให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมิถุนายน 2555 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 10.9 แต่ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 4.2 แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก เช่น แป้งมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ไก่ มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ23.9 และ 18.8 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน และโรงงานแปรรูปไก่เริ่มผลิตไก่เพื่อรองรับการที่สหภาพยุโรปยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดจากประเทศไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม2555 แต่หากพิจารณากลุ่มสินค้าสำคัญโดยเปรียบเทียบกับเดือนก่อนเช่น กุ้งแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตลดลง จากคำสั่งซื้อจากต่าง ประเทศที่ชะลอตัวลง กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น อาหารไก่ มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามการขยายตัวของการผลิตและเลี้ยงไก่นอกจากนี้การผลิตน้ำมันพืช มีการผลิตเพิ่มขึ้น หลังจากที่ชะลอการผลิตและปริมาณสต็อกได้ลดลง จนต้องมีการอนุมัติให้นำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนมิถุนายน 2555 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 9.6 และ 13.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเงินเดือนข้าราชการตามนโยบายของรัฐบาล และการส่งสินค้าชดเชยจากที่ส่งได้ลดลงในเดือนก่อน

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร(ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 8.2ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 9.2 เนื่องจากระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวลดลงตามระดับราคาน้ำมัน ประกอบกับวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยที่เริ่มชะลอตัวลง

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนจากคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์การเงินในกลุ่มสหภาพยุโรปและสถานการณ์เศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ชะลอตัวลงเช่นกันสำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน จากสถานการณ์ราคาน้ำมันและราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“ แนวโน้มการผลิตในภาพรวมและการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ คาดว่าจะปรับตัวลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยเนื่องจากราคาฝ้ายในตลาดล่วงหน้าเริ่มปรับตัวสูงขึ้นและวิกฤตหนี้ในสหภาพยุโรป”

1. การผลิต

เดือนมิถุนายน 2555 ภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอเมื่อเทียบกับเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ ผ้าผืน เครื่องนอนและผ้าขนหนู ผ้าลูกไม้ผ้ายางยืด และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6, 12.64, 1.63, 18.25, และ 1.58 ตามลำดับ ส่วนเส้นใยสิ่งทอฯ และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ ปรับตัวลดลง โดยลดลงร้อยละ 2.65 และ 0.49 ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงในผลิตภัณฑ์ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืนเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและผ้าทอ โดยลดลงร้อยละ 36.57, 12.54, 15.32, และ 11.78 ตามลำดับ โดยมีเครื่องนอนและผ้าขนหนู ผ้าลูกไม้ และผ้ายางยืด ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.91, 1.60 และ 12.99

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เดือนมิถุนายน 2555 การจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนการจำหน่ายส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เครื่องนอนและผ้าขนหนู ผ้าลูกไม้ ผ้ายางยืด และเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าทอ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.22, 0.11, 16.13, และ 0.83 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์เครื่องนอนและผ้าขนหนู ผ้าลูกไม้ ผ้ายางยืด เสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าถัก และเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าทอ ร้อยละ 3.26 15.80 14.66 1.12 และ 5.74 ตามลำดับ

การส่งออก โดยรวมเมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.01 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องยกทรงฯ และเคหะสิ่งทอ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.02, 9.90, และ 10.58 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกลดลงเช่น ผ้าผืน ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และเส้นใยประดิษฐ์ โดยลดลงร้อยละ 4.919.08 และ 7.52 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกลดลงโดยรวมร้อยละ 17.68 สำหรับตลาดส่งออก การส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในตลาด ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.24,5.91, และ 5.64 ตามลำดับ มีเพียงตลาดอาเซียนที่การส่งออกลดลงร้อยละ 6.64และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกลดลงในทุกตลาด คืออาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป โดยลดลงร้อยละ 3.55, 26.33,18.21, และ 27.87 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตในภาพรวมและการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ คาดว่าจะปรับตัวลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย เนื่องจากราคาฝ้ายในตลาดล่วงหน้าเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ต้องระมัดระวังต่อ คือ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในตลาดส่งออกหลักอย่างสหภาพยุโรป

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

กระทรวงการคลังของประเทศอินเดียได้ประกาศปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเหล็กกล้าเจือในกลุ่มเหล็กแผ่นจาก ร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 7.5 เพื่อควบคุมปริมาณการนำเข้าเหล็กแผ่นที่เติมโบรอนที่นำเข้ามาจากประเทศจีนโดยอัตราภาษีใหม่นี้จะครอบคลุมกลุ่มพิกัดศุลกากร 7225 30 90, 7225 40 19, 7225 50 และ 7225 99 00 ซึ่งเป็นเหล็กชนิดเหล็กกล้าเจือ (Alloy) ด้วย

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมิถุนายน 2555 ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.72 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.92 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.11 ซึ่งการผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นการผลิตโดยปกติของเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนเนื่องจากที่ผ่านมีการนำเข้าของเหล็กในกลุ่มที่เป็นเหล็กกล้าเจือ (Alloyed product) สูงมาก โดยเหล็กกล้าเจือที่นำเข้ายังคงเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีลักษณะของการนำไปใช้งานที่เหมือนกับกลุ่มเหล็กกล้าคาร์บอน แต่ถ้านำเข้าโดยระบุว่าเป็นกลุ่มเหล็กกล้าเจือนั้นจะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า จากเดิมที่ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 5% (หากเป็นเหล็กกล้าคาร์บอน) รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีเพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.08 สำหรับกลุ่มเหล็กทรงยาวพบว่ามีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.75 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.56 รองลงมาคือ เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.93 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ผู้ผลิตขยายการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.43 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.91 แต่เหล็กทรงยาวมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 10.70

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนมิถุนายน 2555 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 132.55 เป็น 120.93 ลดลง ร้อยละ 8.77เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 134.57 เป็น 124.29 ลดลง ร้อยละ 7.64 เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 140.52 เป็น 130.38 ลดลง ร้อยละ 7.22 เหล็กเส้น ลดลงจาก 139.36 เป็น 129.46 ลดลง ร้อยละ 7.10 และเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 125.12เป็น 117.53 ลดลง ร้อยละ 6.07 เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กจากประเทศที่สำคัญของโลก เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปที่ยังคงซบเซาอยู่อันเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ในขณะที่ปริมาณการผลิตส่วนเกินยังคงมีอยู่จึงส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนกรกฎาคม 2555 ในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้เหล็กของอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาก จากการขยายตัวในการผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 2 อุตสาหกรรมดังกล่าว ในขณะที่เหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตที่ทรงตัวเนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศที่ยังคงทรงตัวอยู่

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2555 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งการผลิตรถยนต์เพื่อให้ทันการส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นผลจากยอดค้างจากปัญหาอุทกภัย และความต้องการของลูกค้าภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากความนิยมในรถยนต์รุ่นใหม่ และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 205,600 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน2554 ซึ่งมีการผลิต 153,646 คัน ร้อยละ 33.81 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2555 ร้อยละ 0.92 ซึ่งเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์กระบะ 1ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 123,471 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน2554 ซึ่งมีการจำหน่าย 70,259 คัน ร้อยละ 75.74 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2555 ร้อยละ 6.49 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 94,727 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน2554 ซึ่งมีการส่งออก 75,651 คัน ร้อยละ 25.22 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง อเมริกากลาง และอเมริกาใต้และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2555ร้อยละ 10.16 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2555 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2555 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2555 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 54 และส่งออกร้อยละ 46

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2555 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนมิถุนายน ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 231,728 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งมีการผลิต 222,149 คัน ร้อยละ 4.31 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2555 ร้อยละ 2.87 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 214,102 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งมีการจำหน่าย 221,818 คัน ร้อยละ 3.48โดยเป็นการปรับลดลงของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์ และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2555 ร้อยละ 0.33 โดยเป็นการปรับลดลงของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 28,069คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งมีการส่งออก 21,574 คันร้อยละ 30.11 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น แต่มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2555 ร้อยละ 8.32
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม2555 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2555 หรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2555 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 87 และส่งออกร้อยละ 13
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศยังคงขยายตัวได้ตามปัจจัยสนับสนุนการใช้ปูนซีเมนต์ในภาคก่อสร้างสำหรับการส่งออกยังมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนมิถุนายน 2555 ปริมาณการผลิต และปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ลดลงร้อยละ 12.71และ3.25 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 1.31 แต่ปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.93 เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ยังคงขยายตัวได้ สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศ คือ การลงทุนโครงการพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบคือต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนมิถุนายน 2555 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 26.14 และ9.05 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดภายในประเทศยังขยายตัวได้ ทำให้ผู้ประกอบการหันมาเน้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น อีกทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้เศรษฐกิจในประเทศแถบอาเซียนชะลอตัวตามไปด้วย สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ เมียนมาร์ กัมพูชา บังคลาเทศ โตโก และลาว

3.แนวโน้ม

แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง อีกทั้งเป็นช่วงซ่อมบำรุงของโรงงานปูนซีเมนต์ ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการใช้ในประเทศจะเริ่มขยายตัวอีกครั้งในช่วงไตรมาส ที่ 4โดยปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนสนับสนุน คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ สำหรับการส่งออกคาดว่ายังทรงตัว เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในภูมิภาคนี้ ย่างเข้าฤดูฝนเช่นเดียวกันกับประเทศไทย จึงเป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน มิ.ย. 2555

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์              มูลค่า (ล้านเหรียญฯ)      %MoM            %YoY
          อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์           1,898.24           -2.3           +17.5
          วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี                   17.16           +4.8           -24.4
          เครื่องปรับอากาศ                             368.9           -8.0           -11.3
          กล้องถ่าย TV , VDO                          224.4           -2.8           +18.4
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์            5,059.71           -2.4            -1.2

ที่มา กรมศุลกากร

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมิถุนายน 2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 304.04 ลดลงร้อยละ 3.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 28.33 ซึ่งอยู่ระหว่างการฟื้นฟูให้กลับมาผลิตได้เต็มกำลังการผลิต

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมิถุนายน2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 304.04 ลดลงร้อยละ 3.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนและเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 28.33 เนื่องจากปัญหาอุทกภัยที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีก่อน ทำให้สายการผลิตเสียหาย และไม่สามารถผลิตสินค้าได้เต็มกำลังการผลิต อย่างไรก็ตามในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตชิ้นส่วนในโซ่อุปทานเริ่มกลับมาผลิตได้แล้ว เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 3.58 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.23 สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 3.02 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 32.95

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมิถุนายน 2555 มีมูลค่า 5,059.71ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 1.2 โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่าการส่งออกรวมคือ 2,107.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 368.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการปรับตัวลดลงในสหภาพยุโรปมากถึงร้อยละ 43.3 รองลงมาคือกล้องถ่าย TV,VDO มีมูลค่าส่งออก 224.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ18.4 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกตลาด

สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,952.53 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวลดลงร้อยละ 2.4 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุด ได้แก่อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,898.24 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการผลิตเพื่อส่งออกตามคำสั่งซื้อได้แล้ว ส่วนวงจรรวมและไมโครแอสแซมบลีมีมูลค่า 617.16 ล้านเหรียญสหรัฐมีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอยู่ระหว่างการฟื้นฟูโรงงานและการย้ายฐานการผลิต

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนกรกฎาคม2555 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ13.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน การประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 14.55เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ