สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2555 และแนวโน้มปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 15, 2013 15:24 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลกในปี 2555 IMF คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรปที่รุนแรงมากขึ้น ปัญหาการว่างงานในหลาย ๆ ประเทศที่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง เช่น สเปน กรีซ อิตาลี สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

สถานการณ์การเงินโลกธนาคารกลางหลาย ๆ ประเทศ มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน

สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกยังคงผันผวนเนื่องมาจากความวิตกด้านอุปทาน และจากการคาดการณ์เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นนโยบายการเงินซึ่งอาจทำให้แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2555 โดยราคาน้ำมันดิบ(Dubai) เฉลี่ย 11 เดือน อยู่ที่ 109.2 USD:Barrel และราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมกราคม (ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2555) มีราคาอยู่ที่ 86.77 USD:Barrel สำหรับราคาน้ำมันดิบในปี 2556 กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) มีมติคงเป้าหมายการผลิตน้ำมันของปี 2556 อยู่ที่ 30 ล้านบาร์เรล ต่อวัน ในการประชุมที่กรุงเวียนนา (ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2555) เนื่องจากความผันผวนและความซบเซาของเศรษฐกิจโลกในปี 2556

ส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.4และชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 คือ การหดตัวของอุปสงค์ระหว่างประเทศขณะที่อุปสงค์ในประเทศโดยรวมยังขยายตัว ซึ่งประกอบด้วย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน เป็นการขยายตัวจากการบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะสินค้าหมวดยานยนต์ รวมทั้งหมวดสินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม น้ำประปา ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ยารักษาโรค การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวดีขึ้น ส่วนดุลการค้าและบริการเกินดุลเทียบกับที่ขาดดุลในไตรมาสที่แล้ว

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัวร้อยละ 5.5 สำหรับการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 — 5.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก

ในภาคอุตสาหกรรม ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2554 โดยเฉพาะ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น ส่วนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554

การค้าต่างประเทศในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555 ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวในเดือนตุลาคม ทำให้ตลอดทั้ง 10 เดือน การส่งออกจึงขยายตัวขึ้นเล็กน้อย สำหรับการนำเข้าตลอดทั้ง 10 เดือนนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 14,251.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในเดือนมกราคม — ตุลาคมของปี 2555 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 1,890 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 1,273 โครงการ โดยใน 10 เดือนแรกของปี 2555 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 773,200 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นมาก และสูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ BOI ตั้งไว้ 630,000 ล้านบาท เนื่องจากต่างชาติมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติรายเดิมเริ่มฟื้นกิจการลงทุนและขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติมอีกหลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปีก่อน โดยโครงการลงทุนประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 718 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 226,400 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 471 โครงการ เป็นเงินลงทุน 357,700 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 701 โครงการ เป็นเงินลงทุน 189,200 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคมปี 2555พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 288,800 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 155,700 ล้านบาท และหมวดเคมี กระดาษ และพลาสติกมีเงินลงทุน 114,000 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 533 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 248,895 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์ได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 70 โครงการมีเงินลงทุน 16,479 ล้านบาท ประเทศสหรัฐอเมริกามีจำนวน 32 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 14,074 ล้านบาท และประเทศเนเธอร์แลนด์มีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 27 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 12,427 ล้านบาท

ภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมไทยปี 2555 ภาวะอุตสาหกรรมในรอบปี 2555 เป็นอีกหนึ่งปีที่ถือเป็นบททดสอบสำคัญของผู้ประกอบการไทย โดยมีอุปสรรคใหญ่ 2 ประการ ได้แก่ความเสียหายจากมหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 และ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ที่ปัญหาเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งพิจารณาได้จากการหดตัวของเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลายตัว

อุปสรรคประการแรกในส่วนของมหาอุทกภัยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 จากความเสียหายครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาทำการผลิตได้ตามเดิม โดยส่วนที่อยู่ในนิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง มีโรงงานประกอบกิจการแล้ว 663 ราย คิดเป็นร้อยละ 79.02 ของโรงงานทั้งหมด 829 ราย และส่วนที่อยู่ภายนอกนิคมอุตสาหกรรมมีโรงงานเปิดดำเนินการแล้ว 7,802 รายคิดเป็นร้อยละ 98.77 ของสถานประกอบการทั้งหมด 7,899 ราย(1) สำหรับส่วนที่เหลือที่ยังไม่สามารถทำการผลิตได้ ส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นฟูการผลิต ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2555 ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลอย่างเป็นทางการ สถานการณ์ล่าสุด คาดว่าโรงงานในส่วนที่อยู่ในนิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรมฟื้นตัวและกลับมาประกอบกิจการแล้วร้อยละ 90 - 95

อุปสรรคประการที่สอง ในเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ที่ปัญหาเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปี2555 ซึ่งพิจารณาได้จากการหดตัวในรอบใหม่หลังอุทกภัยของเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลายตัว อาทิ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กลับมามีการหดตัวหรือติดลบในลักษณะของอัตราการหดตัวที่เร่งขึ้นหรือหดตัวเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่มีการทยอยฟื้นตัวขึ้นตามลำดับหลังเหตุอุทกภัย โดยเริ่มปรับตัวขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2555 โดย MPI ทยอยฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ จนมีการขยายตัวเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2555 โดยขยายตัวร้อยละ 6.0 แต่หลังจากนั้น MPIกลับมาหดตัวหรือติดลบร้อยละ 9.61 ในเดือนมิถุนายน และเริ่มมีอัตราการหดตัวที่เพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอดจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3/2555 อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสที่ 4/2555 จะได้อานิสงค์จากฐานการคำนวณที่ต่ำในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ที่โรงงานอุตสาหกรรมหลายส่วนหยุดการผลิตจากปัญหาอุทกภัย ทำให้ MPI ในไตรมาสที่ 4/2555 มีการขยายตัวเป็นบวก

หมายเหตุ

(1) รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย ของกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2555

จากปัจจัยสำคัญ 2 ประการในรอบปี 2555 ดังได้กล่าวในข้างต้น ซึ่งได้ส่งผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงการขยายตัวของ MPI ที่จะขยายตัวในระดับสูงในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 จากปัจจัยฐานการคำนวณต่ำช่วงอุทกภัยไตรมาสที่ 4/2554 ทำให้ในปี2555 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 5.0 — 6.0 จากปี2254 ที่หดตัวร้อยละ 9.25

จากปี 2555 ก้าวผ่านไปยังปี 2556 ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดมีอยู่ด้วยกันหลายประการ ประการแรก ได้แก่บริบทการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2555 ต่อเนื่องปี 2556 โดยเฉพาะ 3 เสาหลักของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกา หลังจากการกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวาระที่ 2 ของนายบารัก โอบามา จะต้องติดตามว่าจะสามารถสะสางปัญหาอย่างไรในเรื่องของ “หน้าผาทางการคลัง” หรือ FISCAL CLIFF

ในด้านของประเทศจีน กระบวนการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในจีน อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะในการเลือกคณะกรรมการหลักต่างๆของประเทศหลายคณะ ซึ่งทำให้การประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีนอาจล่าช้าออกไปเป็นช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2556 ซึ่งส่งผลต่อความรวดเร็วและขนาดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ส่วนในภูมิภาคยุโรป ความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายของกลุ่มประเทศยูโร (สพภาพยุโรป 17 ประเทศ) อาจส่งผลต่อการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจะมีการเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลี และเยอรมนี เสาหลักกลุ่มสหภาพยุโรปในปี 2556 ที่อาจจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจได้

ปัจจัยทางเศรษฐกิจต่อไปที่จะต้องติดตาม ได้แก่ การฟื้นตัวของบางอุตสาหกรรมอาจจะล่าช้าไปจนถึงสิ้นปี 2555 ต่อเนื่องปี 2556 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังประสบความล่าช้าในการฟื้นฟูการผลิต อาทิ อุตสาหกรรม Hard Disk Drive โรงงานที่ได้รับผลกระทบกลับมาดำเนินการผลิตแล้วยังไม่ครบหนึ่งร้อยเปอร์เซนต์ คาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 1/2556 เป็นต้นไป ส่วนโรงงานในเขตอุตสาหกรรมนวนคร ยังไม่เปิดดำเนินการ

ในด้านของอุตสาหกรรม IC หรือแผงวงจรไฟฟ้า มีลักษณะการกลับมาดำเนินการผลิตค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น ดำเนินการผลิตในต่างพื้นที่ที่ปลอดภัยจากอุทกภัย หรือ ปิดกิจการโดยบริษัทแม่ให้การสนับสนุนรับโอนพนักงานในโรงงานที่ปิดกิจการ และมีบางโรงงานยังไม่มั่นใจในการกลับมาดำเนินการหรือรอการประเมินและรอรับการจ่ายค่าเสียหาย(2)

นอกจากปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตาม ในปี 2556 ก็ยังมีปัจจัยบวกที่จะส่งผลบวกต่อภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนยังสามารถขยายตัวต่อได้จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ อาทิ โครงการบ้านหลังแรก โครงการจำนำสินค้าเกษตร โครงการป้องกันอุทกภัยต่างๆ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการรถไฟฟ้า แม้ว่าอาจจะชะลอลงบ้างจากปี 2555 จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจบางประการที่สิ้นสุดระยะเวลาและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการหลังน้ำท่วมที่ได้ดำเนินการไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และเป็นแรงผลักให้เศรษฐกิจขยายตัวในปี 2555

นอกจากนี้แรงกดดันด้านราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ระดับรายได้ที่แท้จริงของครัวเรือนและอำนาจซื้อของประชาชนปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลดีต่อภาคการบริโภคโดยเฉพาะสินค้าคงทนและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้แล้วภาระดอกเบี้ยที่ลดลงเป็นผลให้ต้นทุนการลงทุนลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการลงทุนมากขึ้น และจากปัจจัยทั้งด้านบวกและด้านลบทั้งหมดดังกล่าวที่จะส่งผลต่อภาวะอุตสาหกรรมไทย คาดว่าในปี 2556 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.5 แม้เศรษฐกิจโลกจะยังไม่ฟื้นตัวดี

หมาเหตุ

(2) รางานสถานการณ์การฟื้นตัวของนิคมอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงอุตสาหกรรม —กันยายน 2555

สรุปภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2555 มีประมาณ 6,763,387 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 2.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 21.94 แต่เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.78 ในขณะที่เหล็กทรงแบนก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นเดียวกัน คือ ร้อยละ 0.95 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 13.35 เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นผู้ใช้ที่สำคัญมีการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในปี 2556 ในส่วนของเหล็กทรงแบนโดยเฉพาะเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดกัดกรดและเคลือบน้ำมัน (HR sheet P&O)เหล็กแผ่นรีดเย็น (CR carbon steel)และเหล็กเคลือบสังกะสี (Galv.sheet (EG)) คาดการณ์ว่าการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลซึ่งถึงแม้จะหมดระยะเวลาแล้วแต่ก็ยังมีรถยนต์ที่ยังต้องรอการส่งมอบอีก จึงส่งผลทำให้แนวโน้มสถานการณ์เหล็กทรงแบนในปี 2556 ขยายตัวขึ้น สำหรับในส่วนของเหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าในปี 2556 จะทรงตัวเนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์พบว่าโครงการต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนยังคงทรงตัวอยู่จึงมีผลทำให้แนวโน้มสถานการณ์การผลิตและความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กในกลุ่มทรงยาวทรงตัวด้วย

ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 1,975,789 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.03 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่งจำนวน 747,487 คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน จำนวน 1,193,397 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ จำนวน 34,899 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.35, 44.92 และ 101.01 ตามลำดับ ซึ่งจากปริมาณการผลิตรถยนต์โดยรวม เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 840,149 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.52 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด

โดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์ ประมาณการว่า ในปี 2555 คาดว่าการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,400,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 45-50 เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์มีการเร่งการผลิตรถยนต์เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าภายในประเทศเป็นหลัก ประกอบกับจะสิ้นสุดระยะเวลาการจองและยื่นเอกสารการขอใช้สิทธิ์สำหรับนโยบายรถยนต์คันแรก

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 265.87 ลดลงร้อยละ 16.51 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ทำให้ในช่วงต้นปี 2555 ต้องหยุดการผลิตหรือชะลอการผลิตออกไปเพราะอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการให้สามารถกลับมาผลิตได้เช่นเดิม โดยสามารถเริ่มกลับมาผลิตได้ในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตามบริษัทบางรายได้ปิดกิจการ หรือย้ายบริษัทไปตั้งที่อื่นแทนรวมถึงบริษัทแม่ของบางรายยังไม่มีการเพิ่มยอดการผลิตให้กับฐานการผลิตในไทยเท่าที่ควร

นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2556 คาดว่าจะมีการขยายตัวร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปี 2555 โดยมาจากความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้น จากนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะทำให้กำลังซื้อภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การส่งออกอยู่ในภาวะชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง

เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2555 โดยภาพรวมอยู่ในภาวะที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากหลายบริษัทเริ่มที่จะกลับมาผลิตได้เหมือนเดิมหลังจากประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปีก่อน ประกอบกับมาตรการบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรกของภาครัฐ ที่จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังจากผ่านเหตุการณ์สึนามิ อีกทั้ง ปัจจัยหนุนตามฤดูกาลในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ และตรุษจีน ซึ่งเป็นวันหยุดยาว ทำให้หลายบริษัทเร่งกำลังการผลิต จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีภาวะดีขึ้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2556 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกได้แก่ การแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และการแก้ปัญหาความเสี่ยงทางการเงิน ที่เรียกว่าภาวะหน้าผาทางการคลัง ( Fiscal Cliff ) ของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการขึ้นค่าแรงงาน 300 บาททั่วประเทศทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น มีผลทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตาม ดังนั้น หากปัญหาดังกล่าวยังมิได้รับการแก้ไขหรือมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ชัดเจน อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกต่ออุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมหลักภายในประเทศ

พลาสติก ดัชนีผลผลิตโดยรวมของอุตสาหกรรมพลาสติก 10 เดือน เท่ากับ 148.72 ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 3.80 เนื่องจากมีฐานสูงในปี 2554 ซึ่งมีการผลิตกระสอบพลาสติกออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อใช้เตรียมรับมือกับอุทกภัย โดยดัชนีผลผลิตของพลาสติกบรรจุภัณฑ์และการอุปโภคบริโภคทั่วไป ได้แก่ พลาสติกแผ่น แผ่นฟิล์มพลาสติก และถุงพลาสติก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเล็กน้อย คือ ร้อยละ 2.47, ร้อยละ 0.55 และร้อยละ 5.19 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมพลาสติกปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัว ร้อยละ 3.53 ตามสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายนขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือนประกอบกับในปี 2554 มีฐานค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงผู้นำ จะส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกในระยะสั้น การส่งออกขยายตัวต่ำ โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.46ในขณะที่การเพิ่มการลงทุนในประเทศจะส่งผลให้การนำเข้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2556มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปี 2555 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ

ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2555 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่ลดลง โดยมีปัจจัยมาจากการที่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยมีการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาวิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อในสหภาพยุโรป รวมถึงมีแผนการขยายกำลังการผลิตส่งผลให้ลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากไทย

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยในปี 2555 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2554 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลง รวมถึงปัญหาหนี้ในสหภาพยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อ จึงส่งผลให้การส่งออกและนำเข้าของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไทยมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำตามไปด้วย สำหรับปี 2556 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมปลายทาง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งในปี 2556 รัฐบาลมีมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อในสหภาพยุโรป ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิต และการนำเข้า อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษกระดาษ และสิ่งพิมพ์โดยรวมในไตรมาสปี 2555 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน การจำหน่ายในประเทศมีมากขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวลงจากวิกฤตน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา แต่ภาคการส่งออกยังไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อลดลง ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำเข้าหนังสือและสิ่งพิมพ์รายใหญ่จากไทย ชะลอการนำเข้า ขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงาน อีกทั้งสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กเข้ามาแทนที่ โดยเฉพาะกระดาษที่นำไปผลิตเป็นสื่อสิ่งพิมพ์และวารสารต่างๆ มีความต้องการใช้ลดลง แต่ในขณะเดียวกันกระดาษลูกฟูกสำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้า มีแนวโน้มขยายตัวตามภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์ เครื่องสำอางค์ และยา เป็นต้น

แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในปี 2555 คาดว่าการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวมจะเพิ่มขึ้น ทั้งเยื่อกระดาษและกระดาษ สำหรับการส่งออกคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งมีกระแสการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี2558 ซึ่งประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลาง (hub) ด้านการพิมพ์ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มวางแผนขยายธุรกิจ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติรวมถึง ผู้ประกอบการไทยยังมีความพยายามที่จะรุกเข้าไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งตลาดสิ่งพิมพ์ยังไม่โตเท่าเมืองไทย สำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษ และสิ่งพิมพ์ ประเภทภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และอื่นๆ คาดว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เซรามิก การผลิตเซรามิก ปี 2555 ทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ เติบโตเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมหนักในช่วงปลายปี 2554ได้เข้าสู่ภาวะปกติ โดยการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีประมาณ 177.12 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีประมาณ 6.84 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.48 และ 2.70 ตามลำดับ

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดอาเซียนเป็นสำคัญ ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามทิศทางตลาดในประเทศ โดยการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น ได้แก่ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และอิฐทนไฟ เป็นสำคัญ

ปูนซีเมนต์ ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในปี 2555 คาดว่ายังคงขยายตัวได้ เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายจากอุทกภัย และเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต อีกทั้งความต้องการใช้เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมออกสู่ชานเมือง และนโยบายบ้านหลังแรก ทำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมตามเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในปี 2556 คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนรองรับเส้นทางรถไฟฟ้าและโครงข่ายคมนาคมสู่ชานเมือง สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2556 คาดว่ายังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทยล้วนเป็นประเทศกำลังพัฒนายังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกเป็นจำนวนมาก

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตและการจำหน่ายของเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ ผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ และเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ ปี 2555ลดลง เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อลดลงสอดคล้องกับการส่งออกที่ลดลง ด้านการส่งออกในภาพรวมของปี 2555 ลดลงร้อยละ 12.54 เนื่องจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป เป็นผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ลดลงในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องนุ่งห่มลดลงร้อยละ 9.20 ผ้าผืนและด้ายลดลงร้อยละ 16.87 เคหะสิ่งทอลดลงร้อยละ 12.00 เส้นใยประดิษฐ์ลดลงร้อยละ 14.93 และสิ่งทออื่นๆ ลดลงร้อยละ 17.63

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกในปี 2556 พิจารณาจากปัจจัยลบ ได้แก่ ความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงวิกฤตหนี้สินในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจและกลุ่มผู้บริโภค ปัจจัยบวก ตลาดอาเซียนที่คาดว่าจะเติบโตได้ดี และตลาดเกิดใหม่ในกลุ่ม BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) ที่จะเป็นตลาดสำคัญในการเติบโตของตลาดโลกจากปัจจัยลบและปัจจัยบวกที่กล่าวมา คาดว่าปัจจัยลบและปัจจัยบวกจะส่งผลพอๆ กัน ดังนั้นจึงคาดว่าการส่งออกในปี 2256 จะทรงตัว

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ปี 2555 มีประมาณ 9.00 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.39 ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนเครื่องเรือนใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่เสียหายจากน้ำท่วมในปี 2554 ในขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ปี 2555ลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง และปัญหาวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปสำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ปี 2555 เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากความต้องการของตลาดในประเทศ ในขณะที่การผลิตเพื่อรองรับการส่งออกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ปี 2556 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีความต้องการไม้และเครื่องเรือนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การหาตลาดใหม่ในแถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง เช่น จีน ญี่ปุ่นอินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อทดแทนตลาดเดิม อาจทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้

ยา ปี 2555 การผลิตยาในประเทศคาดว่า จะมีปริมาณ 30,155.02 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ5.10 เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกผู้ผลิตเร่งทำการผลิต จากการที่ช่วงปลายปีก่อนเกิดปัญหามหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตยาและ Supplier ทั้งทางตรงและทางอ้อมทำให้ในช่วงปลายปีผู้ผลิตไม่สามารถผลิตได้ หรือผลิตได้แต่ไม่เพียงพอกับคำสั่งซื้อ เมื่อปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลง ผู้ผลิตจึงได้เร่งทำการผลิต นอกจากนี้ผู้ผลิตยังทำการผลิตยาสามัญชนิดใหม่เพื่อทดแทนยาซึ่งเคยมีความต้องการสูงแต่ถูกจำกัดการจำหน่าย และเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง จากการที่ประชาชนเพิ่มความใส่ใจกับการดูแลสุขภาพและมีพฤติกรรมการซื้อยาใช้เองมากขึ้น

ในปี 2556 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศ จะมีการขยายตัวจากปีก่อน เนื่องจากภาครัฐยังคงเดินหน้าควบคุมค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสำหรับการเติบโตของยาสามัญ เพราะมีการใช้ยาในกลุ่มนี้มากขึ้น สำหรับช่องทางการจำหน่าย ผู้ผลิตจะให้ความสำคัญกับตลาดร้านขายยามากกว่าเดิม เนื่องจากประชาชนปรับพฤติกรรมในการหาซื้อยาใช้เองมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของร้านขายยาเครือข่ายเพิ่มขึ้น

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในปี 2555 อุตสาหกรรม ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางล้อ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ อย่างไรก็ตาม การส่งออกในรูปยางแปรรูปขั้นต้นชะลอตัวลง เนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางลดลง อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมยังขยายตัวได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิลยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก รวมทั้งตลาดในแถบอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมมากนัก

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อ ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ สำ หรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทดแทนการนำเข้าที่ลดลงได้ รวมทั้งประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มากซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมากเกินไป นอกจากนี้กรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย แต่ประเด็นที่ต้องระวังคือ ผลของกรอบ FTA นอกจากจะช่วยผลักดันการส่งออกแล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ในปี 2555 สถานการณ์การผลิตเมื่อเทียบกับปี 2554 คาดว่าจะลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ คือ การฟอกหนังและการตกแต่งหนังฟอก การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก การผลิตรองเท้า ลดลงร้อยละ 7.08 5.43 และ 30.81ตามลำดับ เนื่องจากส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ทำให้การผลิตชะลอตัวลดลงและเพิ่งเริ่มฟื้นตัวมาผลิตได้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป ที่ส่งผลให้คำสั่งซื้อลดลง

ปี 2556 คาดว่าการส่งออกรองเท้าจะดีขึ้นกว่าปี 2555 เล็กน้อย เพราะการส่งออกไปตลาดเอเชียและอาเซียนยังมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนและเวียดนามที่นำเข้าชิ้นส่วนรองเท้าไปผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดอื่น รวมทั้งตลาดเมียนมาร์ที่มีความต้องการรองเท้ามากขึ้น จึงมีโอกาสนำเข้าจากไทยมากขึ้นด้วยเช่นกัน คาดว่าการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะยังชะลอตัวจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ

อัญมณีและเครื่องประดับ โดยสรุปภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2555เมื่อเทียบกับปี 2554 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 3.13 ซึ่งเป็นการลดลงตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ชะลอตัว สำ หรับภาพรวมด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2555 จะมีการขยายตัวร้อยละ 15.19 โดยตลาดส่งออกที่สำ คัญ คือสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และอินเดีย ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการส่งออก เพชร พลอย เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทอง เครื่องประดับอัญมณีเทียม อัญมณีสังเคราะห์และทองคำยังไม่ขึ้นรูป

สำหรับแนวโน้มการผลิต ในปี 2556 คาดว่าจะทรงตัว ซึ่งจะต้องติดตามมาตรการการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปต่อไป สำหรับแนวโน้มด้านการส่งออก ในปี 2556ปัจจัยบวก คือ ความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนที่มองการซื้อเพชร และทองคำยังไม่ขึ้นรูป เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย และตลาดอาเซียนและญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเติบโตได้ดี ปัจจัยลบ คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจคาดว่าปัจจัยบวกจะส่งผลมากกว่าปัจจัยลบ ดังนั้นจึงคาดว่าการส่งออกในปี 2256 จะขยายตัวได้

อาหาร ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2555 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.71 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบลดลง ประกอบกับต้นทุนสินค้าอาหารโดยรวม ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบนำเข้าจากตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันแม้ว่าค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก แต่จากสถานการณ์หนี้สาธารณะของหลายประเทศในสหภาพยุโรป เริ่มส่งผลต่อเนื่องทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ภาคการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารไทยโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อการส่งออกกลับชะลอตัวลง

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงปี 2556 คาดว่า ทิศทางการผลิต และการส่งออกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นภายหลังเกิดภัยแล้งในสหรัฐอเมริกา ที่ผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้เพิ่มขึ้นประกอบกับการประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 และการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้การส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตามการลดลงของวัตถุดิบในพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ และจากปัจจัยลบ เช่น ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ รวมถึงการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าที่ชะลอตัว จากวิกฤตหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปที่เริ่มส่งผลกระทบไปยังตลาดอื่น ๆ ตลอดจนมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มมีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะการทำฉลากระบุร่องรอยคาร์บอนที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป อาจทำให้การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยในภาพรวมปรับตัวได้ไม่มากนัก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ