สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ปี 2555 (ตุลาคม — ธันวาคม 2555)(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและกระดาษสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 28, 2013 14:48 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ปัจจุบันสังคมยุคไอทีที่มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การออนไลน์ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ความสำคัญของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ในประเทศดังกล่าวรวมทั้งภูมิภาคเอเชียยังคงมีอยู่ แม้ว่าในบางครั้งอาจส่งผลให้การเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์บางชนิดชะลอตัวบ้าง อาทิ หนังสือพิมพ์ แต่สิ่งพิมพ์บางประเภทขยายตัว อาทิ direct mail บรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมได้มีการปรับตัวเพื่อให้สามารถพัฒนาต่อยอดต่อไปได้โดยส่งเสริมการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบ และปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและกลยุทธ์ทางการตลาดให้สามารถขยายตลาดเดิมที่มีการใช้น้อยลงได้ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการขยายตลาดใหม่ ๆ

การผลิต

ในไตรมาส 4 ปี 2555 การผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน โดยเยื่อกระดาษ ลดลงร้อยละ 18.67 กระดาษได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก ลดลงร้อยละ 6.50 5.89 12.13 และ 3.02 ตามลำดับ สอดคล้องกับการลดลงของอัตราการใช้กำลังการผลิตด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีการขยายการผลิตในไตรมาสก่อน เพื่อเร่งส่งมอบสินค้าซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปผลิตในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องรองรับเทศกาลปลายปี นอกจากนี้ บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ลดการแจกปฏิทิน ไดอารี่ และของพรีเมี่ยมต่าง ๆ อีกทั้งมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ 1 โรง ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ และเมื่อเปรียบเทียบการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ ในไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษลดลงสอดคล้องกับการลดลงของอัตราการใช้กำลังการผลิต แต่หากพิจารณาดัชนีผลผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตอุตสาหกรรมกระดาษโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากความต้องการใช้ในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้า

สำหรับปี 2555 เมื่อเทียบกับปี 2554 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวม เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในประเทศอย่างต่อเนื่องของการผลิตผลิตภัณฑ์กระดาษ สิ่งพิมพ์รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่เติบโตตามภาวะเศรษฐกิจและการส่งออก โดยเฉพาะการพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ และสิ่งพิมพ์ที่เป็นเอกสารโฆษณาทางการค้า ฉลากสินค้า (ตารางที่ 1 และ 2)

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1. เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 4 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 16.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.49 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก (ตารางที่ 3 และ 4) เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดต่าง ๆ ขยายตัวจากการส่งมอบสินค้าต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนเพื่อจัดจำหน่ายและนำไปผลิตสินค้าที่ทำจากเยื่อกระดาษตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อาทิ จีน และประเทศในกลุ่มอาเซียน แต่เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งมูลค่าและปริมาณการส่งออกเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ลดลงในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากคู่ค้าหลัก คือ จีน ซึ่งมีอิทธิพลต่อตัวเลขมูลค่าการส่งออกของไทยเพราะมีความต้องการใช้มากกว่าประเทศอื่น มีความต้องการใช้ลดลงเนื่องจากบางช่วงจีนสามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 301.26 และ 24.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.99 และ 6.51 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออก มีทิศทางปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก (ตารางที่ 3 และ 4) เนื่องจากตลาดส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษที่สำคัญโดยเฉพาะประเทศมาเลเซียมีการนำเข้ากระดาษคราฟท์ลดลง ซึ่งกระดาษชนิดนี้ประเทศไทยมีสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกมากที่สุดเมื่อเทียบกับกระดาษชนิดอื่น ๆ สำหรับสาเหตุที่มูลค่าและปริมาณการส่งออกสิ่งพิมพ์ ปรับตัวลดลง เป็นเพราะตลาดสหรัฐอเมริกาที่ประเทศไทยส่งออกไปอันดับ 1ชะลอการนำเข้าจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศ นอกจากนี้ สื่อดิจิทัลมีเดียได้เข้ามาแย่งตลาดสิ่งพิมพ์อย่างชัดเจนดังจะเห็นได้จากการทะยอยปิดตัวของสำนักพิมพ์ในประเทศที่พัฒนาแล้วภาพรวมปี 2555 การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ เทียบกับปี 2554มีมูลค่าการส่งออกลดลง โดยมีมูลค่าการส่งออก 74.41 1,259.65 และ 90.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ซึ่งหากพิจารณาปริมาณการส่งออกมีการปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกเนื่องจากผู้นำเข้าหลักเยื่อกระดาษ และกระดาษ โดยเฉพาะจีนและประเทศอาเซียนชะลอการนำเข้าเนื่องจากปริมาณการใช้ในกลุ่มประเทศดังกล่าวลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำเข้าหลักสิ่งพิมพ์ ชะลอการนำเข้าเช่นกัน เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศ

การนำเข้า

1. เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 4 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 169.34 และ 397.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.74 และ 3.45 ตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้า มีทิศทางปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า (ตารางที่ 5 และ 6) สาเหตุส่วนหนึ่งของการลดลงทั้งมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษ และกระดาษ เป็นเพราะความต้องการใช้ในประเทศชะลอตัวในไตรมาสนี้ เนื่องจากมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งสองหมวดนี้ในไตรมาสก่อนแล้วเพื่อรองรับเทศกาลปลายปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าในสินค้าที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้ อาทิ เยื่อกระดาษใยยาว กระดาษที่มีคุณสมบัติพิเศษ อย่างไรก็ตาม มีการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนจากจีนมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เนื่องจากมีราคาถูกกว่าในประเทศ และภาษีเป็นศูนย์

2. สิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 54.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.97 และ 12.46 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ซึ่งหากพิจารณาปริมาณนำเข้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าหนังสือตำราแบบเรียน และวารสาร เพื่อการศึกษาและความบันเทิง โดยตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

ภาพรวมปี 2555 การนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ เทียบกับปี 2554 ในส่วนของการนำเข้าเยื่อกระดาษ และกระดาษ มีมูลค่าการนำเข้า ลดลงร้อยละ 13.19 และ 40.04 ตามลำดับโดยมีมูลค่าการนำเข้า 683.57 และ 1,606.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ซึ่งหากพิจารณาปริมาณนำเข้า เพิ่มขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า เนื่องจากความผันผวนด้านราคาเยื่อกระดาษ และกระดาษโดยรวม สำหรับการนำเข้าสิ่งพิมพ์ ปี 2555 เทียบกับปี 2554 ทั้งมูลค่าและปริมาณการนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการนำเข้าสิ่งพิมพ์ในภาพรวมจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และจีนโดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับการศึกษา

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. ร่างนโยบายของ BOI เรื่องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เน้นจูงใจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมและลงทุนในลักษณะคลัสเตอร์ ซึ่งหากผู้ลงทุนมีการลงทุนเพิ่มเติมในกิจการเหล่านี้จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม

2. โครงการต่าง ๆ รองรับกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลกประจำปี 2556 (World Book Capital 2013) จากการคัดเลือกของยูเนสโก อาทิ โครงการอ่านกันสนั่นเมือง การเพิ่มพื้นที่การอ่าน และการจัดพื้นที่และจัดหนังสือในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหนังสือได้ทุกที่ทุกเวลาโดยตั้งเป้าหมายจะมีอัตราการอ่านเพิ่มขึ้นเป็น 10 เล่ม จาก 2-5 เล่มต่อคนต่อปี

สรุปและแนวโน้ม

สรุป ภาวะการผลิต การส่งออก และการนำเข้าอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษโดยรวมของไตรมาส 4 ปี 2555 ลดลง เนื่องจากมีการเร่งส่งมอบสินค้าในไตรมาสก่อนเพื่อรองรับเทศกาลปลายปีไปแล้ว สำหรับภาวะการผลิต การส่งออก และการนำเข้า ทั้งปี 2555 เทียบกับปี 2554 ในส่วนของการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการเติบโตในการผลิตผลิตภัณฑ์กระดาษ สิ่งพิมพ์รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการส่งออก สำหรับในส่วนการผลิต การส่งออก และการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์โดยรวม ทั้งปี 2555 ปรับตัวลดลง เป็นเพราะผู้นำเข้าหลักเยื่อกระดาษ และกระดาษ โดยเฉพาะประเทศอาเซียนชะลอการนำเข้า เนื่องจากการใช้ในกลุ่มประเทศนี้ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งผู้นำเข้าหลักหนังสือและสิ่งพิมพ์อย่างสหรัฐอเมริกาชะลอการนำเข้าเช่นกันเนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศ

แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 1 ปี 2556 คาดว่า การผลิตทั้งเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ส่งผลให้มีความต้องการสื่อสิ่งพิมพ์ในการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง สำหรับในส่วนการส่งออกและนำเข้า คาดว่า จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตามแนวโน้มการขยายตัวของภาคการผลิตและเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ แม้ว่าจะมีการใช้สื่อดิจิทัลอย่างกว้างขวาง แต่กระดาษและสิ่งพิมพ์ยังคงมีความสำคัญกับการใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ซึ่งต้องมีการพัฒนาวิจัยการออกแบบใหม่ ๆ ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคอย่างลงตัว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ