สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ปี 2555 (ตุลาคม — ธันวาคม 2555)(อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 1, 2013 13:45 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่สร้างสรรค์คุณค่าเพิ่มให้กับหนังสัตว์ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น รองเท้า กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์หนัง ของเล่นสัตว์เลี้ยง เข็มขัด ถุงมือ เป็นต้น โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวกำลังได้รับผลกระทบจากค่าแรงที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม จีน มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ทำให้คาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังในปี2556 จะมีแนวโน้มทรงตัว

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง จำแนกได้ดังนี้

  • การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 4 ปี 2555 เทียบกับไตรมาสที่3 ของปี 2555 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.36 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 0.19 โดยดัชนีการส่งสินค้าเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.31 และ 0.28 ตามลำดับ ในส่วนดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.32 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 0.32
  • การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 4 ปี 2555 เทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 2.15แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.80 โดยดัชนีการส่งสินค้าเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 1.08 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.55ในส่วนดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ15.77 และ 6.43 ตามลำดับ
  • การผลิตรองเท้า ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 4 ปี 2555 เทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 8.78 เนื่องจากอุตสาหกรรมรองเท้าเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับค่าจ้างแรงงาน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้มีบางโรงงานต้องปิดตัวลงไป เพราะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.01 ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2554ทำให้ฐานดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ต่ำ ในส่วนดัชนีการส่งสินค้าเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.49 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.78 สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง เทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.81 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.38

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

  • รองเท้าและชิ้นส่วน ไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 174.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 183.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.26 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าลดลง คือ รองเท้ากีฬา รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง และส่วนประกอบรองเท้า ลดลงร้อยละ 28.01 13.69 7.72 และ 48.94 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น คือ รองเท้าอื่น ๆ เช่น รองเท้าเซฟตี้ รองเท้าดำน้ำ เป็นต้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.66หากพิจารณาโดยเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วนมีมูลค่าส่งออก 192.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.66 (โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดนมาร์ก) เนื่องจากเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ชะลอตัวและยังไม่ฟื้นตัว ผลิตภัณฑ์ที่ลดลง คือรองเท้ากีฬา รองเท้าแตะ และส่วนประกอบของรองเท้า ลดลงร้อยละ 41.92 21.82 และ 66.24ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น คือ รองเท้าหนัง และรองเท้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.31 และ 19.38 สำหรับตลาดคู่ค้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักรมีสัดส่วนร้อยละ 13.94 8.40 และ 7.39 ตามลำดับ
  • เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 มีมูลค่าส่งออก 71.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 74.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.46 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าลดลง คือ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ และเครื่องเดินทางอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 6.65 4.89 และ 9.09 ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น คือ กระเป๋าใส่เศษสตางค์เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.02

หากพิจารณาโดยเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทางมีมูลค่า 65.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.88 (โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น ฝรั่งเศส) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คือ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ และกระเป๋าใส่เศษสตางค์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.76 22.07 และ 117.40 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ลดลง คือเครื่องเดินทางอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 28.00 สำหรับตลาดคู่ค้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วนร้อยละ 24.11 11.05 และ 10.60 ตามลำดับ

  • หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 มีมูลค่าส่งออก 155.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 163.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.77 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าลดลง คือ หนังโคกระบือฟอก ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง และหนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 6.24 15.82 และ 5.79 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คือ ถุงมือหนัง และเครื่องแต่งกายและเข็มขัด เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.19 และ 18.20

หากพิจารณาโดยเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดมีมูลค่าส่งออก 155.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.14(โดยเฉพาะในตลาดฮ่องกง เวียดนาม สหรัฐอเมริกา) ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คือ ถุงมือหนังเครื่องแต่งกายและเข็มขัด และ หนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.56 0.06 และ 0.25ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าลดลง คือ หนังโคกระบือฟอก และของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ลดลงร้อยละ 1.18 และ 5.22 ตามลำดับ สำหรับตลาดคู่ค้าที่สำคัญ คือ ฮ่องกง จีน และเวียดนาม มีสัดส่วนร้อยละ 17.03 15.73 และ 14.52 ตามลำดับ

การนำเข้า

  • หนังดิบและหนังฟอก ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 179.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 164.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.97 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หนังดิบและหนังฟอกมีมูลค่าการนำเข้า 172.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.77 (โดยเฉพาะในตลาดเนเธอร์แลนด์ บราซิลญี่ปุ่น) โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และ ออสเตรเลีย มีสัดส่วนร้อยละ 12.53 11.32 และ 7.94 ตามลำดับ
  • รองเท้า ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 54.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 55.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.42และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ารองเท้ามีมูลค่า 49.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.51 (โดยเฉพาะในตลาดเวียดนาม อิตาลี) สำหรับแหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ จีนเวียดนาม และอิตาลี โดยมีสัดส่วนร้อยละ 52.96 12.25 และ 8.71 ตามลำดับ
  • กระเป๋า ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 80.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 78.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.18และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ากระเป๋ามีมูลค่า 68.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.41 (โดยเฉพาะในตลาดจีน อิตาลี ฝรั่งเศส) สำหรับแหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ จีนอิตาลี และฝรั่งเศส โดยมีสัดส่วนร้อยละ 51.31 19.19 และ 16.74 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. นโยบายการปรับค่าจ้างแรงงาน 300 บาท ทั่วประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2556 เป็นต้นไป ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ปรับตัวสูงขึ้น

2. นโยบายรถคันแรกของภาครัฐที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2555 แต่การส่งมอบรถยนต์ที่จองไว้ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ในปี 2555 ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ยังต้องผลิตเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าในปี 2556 ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้หนังฟอก เช่น เบาะรถยนต์ มีแนวโน้มที่ดีตามไปด้วย

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ดัชนีผลผลิตการฟอกและตกแต่งหนังฟอก ไตรมาส 4 ปี 2555 เทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.36 ส่วนการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ลดลงร้อยละ 2.15 และการผลิตรองเท้า ลดลงร้อยละ 8.78 เนื่องจากอุตสาหกรรมรองเท้ากำลังได้รับผลกระทบจากต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีบางโรงงานอาจถึงขั้นต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การฟอกและตกแต่งหนังฟอก ชะลอตัวลงร้อยละ 0.19 ส่วนการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และการผลิตรองเท้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.01 เนื่องจากฐานปีที่แล้วต่ำกว่าจากสถานการณ์อุทกภัยช่วงปลายปี 2554

การส่งออกของสินค้ากลุ่มรองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 เทียบกับไตรมาสที่3 ของปี 2555 มีมูลค่าลดลงในผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ คือ รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องใช้สำหรับเดินทาง รวมทั้งหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ลดลงร้อยละ 5.26 3.46 และ 4.77ตามลำดับ เนื่องจากสถานประกอบการถูกน้ำท่วมช่วงปลายปี 2554 ทำให้คำสั่งซื้อถูกย้ายไปยังจีนและเวียดนามจำนวนมากขึ้นประกอบกับวิกฤติเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในปี 2555 ส่งผลให้ลูกค้าจำเป็นต้องหาของถูกจากแหล่งอื่นทดแทน ทำให้ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนังของไทยยิ่งหดตัวมากขึ้น

การนำเข้า ไตรมาส 4 ของปี 2555 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกที่นำมาผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำภายในประเทศ เช่น เบาะรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.97 ตามความต้องการของผู้ประสบอุทกภัย ประกอบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ตามนโยบายของรัฐ นอกจากนี้สินค้าปลายน้ำ คือ กระเป๋า เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.18 เนื่องจากความต้องการและกำลังซื้อภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น

แนวโน้ม

ปี 2556 คาดว่าการส่งออกรองเท้าจะลดลงกว่าปี 2555 เนื่องจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะยังคงชะลอตัวจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่า การส่งออกไปตลาดเอเชียและอาเซียนจะมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนและเวียดนามที่นำเข้าชิ้นส่วนรองเท้าไปผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดอื่น รวมทั้งตลาดเมียนมาร์ที่มีความต้องการรองเท้ามากขึ้น จึงมีโอกาสนำเข้าจากไทยมากขึ้นด้วย สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องหนัง คาดว่า จะสามารถขยายตัวได้เช่นเดียวกันจากความต้องการใช้สินค้าต่อเนื่องเช่น เบาะรถยนต์ ที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ