สศอ. ปลุกกระแสแฟชั่นยั่งยืน ด้วยสุดยอด 10 ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยธรรมชาติ และขยะรีไซเคิล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 9, 2013 15:00 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน ปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ พิจารณาได้จากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก สาเหตุเกิดจากกิจกรรมการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่มีการใช้ทรัพยากรและสารเคมีเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศทั่วโลกเกิดการตื่นตัวและการตระหนักในการลดผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาแล้วนำโดยกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้หันมาใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่ามากขึ้น โดยพัฒนาการผลิต การออกแบบ และการนำเทคโนโลยีหรือกระบวนการใหม่ๆ มาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำฉลากสิ่งแวดล้อมมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือ/สัญลักษณ์ที่แสดงภาพลักษณ์ของสินค้าว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า เครื่องนุ่งห่มเป็นปัจจัยสี่ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และได้ถูกพัฒนาจนกลายเป็นสินค้าแฟชั่น ซึ่งผู้คนทั่วโลกมีการบริโภคเป็นจำนวนมากต่อปี โดยตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2555 มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท และมีการส่งออกกว่า 314,000 ล้านบาท ตลาดสำคัญได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และแอฟริกา ตามลำดับ ซึ่งการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการจำนวนมากส่งผลให้เกิดมลภาวะต่างๆ ทั้งนี้ วัตถุดิบของการผลิตสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นส่วนใหญ่จะมาจากโพลีเอสเตอร์ (ผลิตมาจากปิโตเลียม) ซึ่งกระบวนการผลิตเป็นสาเหตุก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของโลก นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์แฟชั่นในแต่ละปี (หรือแต่ละฤดูกาล) ทำให้ผู้บริโภคต้องวิ่งตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นเพื่อความทันสมัยก่อให้เกิดขยะแฟชั่นที่สร้างมลภาวะให้กับโลกมาอย่างต่อเนื่อง

จากสถานการณ์ข้างต้น สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจึงได้ดำเนินโครงการ “การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความตระหนักและเผยแพร่องค์ความรู้ในเรื่องการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฉลากสิ่งแวดล้อม และพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดด้านคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การดำเนินงานภายใต้โครงการดังกล่าว ได้จัดกิจกรรมการอบรม/สัมมนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้วัสดุ การรีไซเคิลจากวัสดุเหลือใช้ และการจัดทำข้อมูลรายละเอียดเพื่อยืนขอฉลากสิ่งแวดล้อม ให้กับผู้ประกอบการ 160 ราย ทำให้ผู้ประกอบการมีข้อมูล

และแนวทางที่จะนำกลับไปพัฒนาต่อยอดในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ โดยคัดเลือกผู้ประกอบการตามเกณฑ์การประเมินเข้าร่วมโครงการ 5 ด้าน คือ ความพร้อมในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบคุณภาพและสิ่งแวดล้อม การส่งออกสินค้าไปตลาดต่างประเทศ ความพร้อมทั่วไปโดยเฉพาะการให้ความสำคัญของผู้บริหาร และประสบการณ์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือได้รับฉลากสิ่งแวดล้อม โดยสุดยอดผลิตภัณฑ์ที่คัดเลือกเพื่อพัฒนาภายใต้โครงการ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยธรรมชาติ จำนวน 7 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เสื้อแจ๊คเก็ตจากเส้นใยนุ่น ชุดผู้สูงอายุจากผ้าฝ้าย 110% ชุดชั้นในจากเส้นใยเทนเซล กระเป๋าใส่อุปกรณ์ไอทีจากเส้นใยเทนเซลเคลือบกันน้ำ พรมถักเช็ดเท้าจากเส้นใยวิสโคส หมวกถักปีกกว้างจากเส้นใยกล้วย และเสื้อยืดจากเส้นใยบัว และผลิตภัณฑ์จากขยะรีไซเคิล จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เสื้อโปโลจากขวดพลาสติก เก้าอี้จากเบาะรถยนต์ และกระเป๋าถือผู้หญิงและผู้ชายจากฝ้ายรีไซเคิล

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ในด้านการออกแบบเชิงนิเวศน์ (Eco Desing) การพัฒนากระบวนการผลิต (Eco Process) การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เส้นใยธรรมชาติ (ฝ้าย ไหม ใยสัปะรด ฯลฯ) และการนำวัสดุเหลือใช้หรือของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดการสูญเสีย (Zero Waste) และลดต้นทุนการผลิต โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุสิ่งทอ ตัวแทนผู้ประกอบการด้านสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนักออกแบบผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จได้รับรางวัลระดับประเทศมาร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำในด้านการเลือกใช้วัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจผู้บริโภค และการสร้างอัตลักษณ์ เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหม่ๆ ในอนาคต

นอกจากนั้น เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นยังผ่านการทดสอบความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากศูนย์วิเคราะห์ทดสอบ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อเป็นรับประกันความเป็นสินค้าแฟชั่นสีเขียว โดยผลิตภัณฑ์ต้นแบบจะถูกนำไปจัดแสดงที่งานสินค้าของขวัญและของใช้ตกแต่งบ้าน หรือ BIG & BIH 2013 ในระหว่างวันที่ 19 — 23 ตุลาคม 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการแสดงสินค้าไบเทค บางนา ซึ่งโครงการนี้เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบนำร่อง คาดหวังว่าจะกระตุ้นผู้ประกอบการรายใหม่ๆ หันมาให้ความสนใจและร่วมเป็นผู้ประกอบการสินค้าแฟชั่นสีเขียวเพื่อสร้างอนาคตอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ยั่งยืน

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมีแนวคิดที่จะต่อยอดโครงการข้างต้นให้ขยายไปสู่กลุ่มผู้บริโภค/ตลาดโดยในปี พ.ศ. 2557 วางแผนว่าจะดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถจัดทำรายละเอียดข้อมูลเพื่อขอรับฉลากสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ฉลากสีเขียว ฉลากคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ ฉลากวอเตอร์ฟุตปริ๊นต์ อันจะเป็นเครื่องหมายยืนยันและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

อนึ่ง นายสมชายฯ กล่าวอีกว่า การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมมุ่งสู่การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ในประเทศหรือเพื่อการส่งออก นับเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมในประเทศมีการพัฒนาที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ