สศอ. สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2556 และคาดการณ์แนวโน้มของปี 2557 ยังมีโอกาสสดใส

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 28, 2013 15:02 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีอุตสาหกรรม 10 เดือนของปี 2556 หดตัว-2.1% โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิต
อยู่ที่ระดับ 64.94% ส่วนดัชนีอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2556 หดตัว-4.0% เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมรถยนต์ปรับตัวลดลงจากฐานการผลิตที่สูงในช่วง
เดียวกันของปีก่อนหน้าและอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งจากผลกระทบโรคระบาดกุ้ง

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ของปี 2556 คาดว่าจะหดตัว -2.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ด้านการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวในระดับต่ำ รวมถึงสถานการณ์ด้านการส่งออกสินค้า อุตสาหกรรมที่ขยายตัวในระดับที่ไม่สูงมากนักจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนตุลาคม หดตัวลดลง -4.0% ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 63.40% โดยภาพรวมสิ้นสุด 10 เดือนของปี 2556 หดตัวลง -2.1% เมื่อเทียบกับช่วง เดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 64.94% เป็นผลเนื่องมาจากการผลิตรถยนต์ปรับตัวลดลงและอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง

ภาวะการผลิตรายอุตสาหกรรมของปี 2556 ที่สำคัญ มีดังนี้

อุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่าอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของปี 2556 จะขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณการส่งออกขยายตัว ในขณะที่ ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของปี 2556 ชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลจากผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ได้ทยอยส่งมอบรถให้กับลูกค้าจากนโยบายรถยนต์คันแรกไป เรียบร้อยแล้ว

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของปี 2556 คาดว่าปรับตัวลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบ กับปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 2.60 โดยลดลงทั้งในกลุ่มไอซี และฮาร์ดดิสไดรฟ์จากการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ความต้องการคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktops PC) โน๊ตบุ๊ค (Note book) ลดลงอย่างมาก โดยผู้บริโภคหันมาใช้ Smart Phone และ Tablet แทน สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 0.76 โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่มี การปรับตัวลดลง โดยมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีการชะลอตัวลงจากภาระค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ยังไม่ฟื้นตัว ยกเว้นเครื่องปรับอากาศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมในประเทศและการส่งออกไปตลาดอาเซียน สหภาพยุโรป

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทยปี 2556 คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 9.94 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อยู่ในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลมาจากตลาดเหล็กในประเทศช่วงครึ่งหลังของปี 2556 มีทิศทางที่ทรงตัว ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล บรรจุภัณฑ์ ที่มีสถานการณ์ทรงตัวอยู่ ขณะที่สถานการณ์ ตลาดเหล็กโลกมีทิศทางที่ถดถอยเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเส้นใยสิ่งทอฯ ของปี 2556 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้เพื่อผลิตในผลิตภัณฑ์ ต่อเนื่องอื่นๆ ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีสิ่งทอต้นน้ำ สำหรับกลุ่มผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการผลิตลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งในกลุ่มผ้าผืน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าผ้าผืนราคาถูกจากประเทศจีน ส่งผลให้การผลิตผ้าผืนของไทย ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะผลิตตามคำสั่งซื้อเป็นส่วนใหญ่ ที่กว่าร้อยละ 25 เป็นคำสั่งซื้อจากสหภาพยุโรปซึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้คำสั่งซื้อในภาพรวมปรับตัวลดลง

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตอุตสาหกรรมอาหารของปี 2556 คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.4 ส่วนการส่งออกในภาพรวม จะลดลง เนื่องจากการผลิตในสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ประสบปัญหาวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรค ประกอบกับสินค้าหลาย ชนิดได้รับผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 ได้ลามไปยังเศรษฐกิจ ทั่วโลก ทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบจากความผันผวนของระดับราคาสินค้าในตลาดโลกซึ่งผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจและข่าวการแก้ไขวิกฤตการณ์ การเงินและเศรษฐกิจของหลายประเทศในสหภาพยุโรป

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต
Index                                                        2555                                                                 2556
                                   ก.ย.       ต.ค.       พ.ย.      ธ.ค.      ม.ค.      ก.พ.      มี.ค.    เม.ย.      พ.ค.     มิ.ย.      ก.ค .    ส.ค.    ก.ย.     ต.ค.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม                 177.87    178.46     192.6    179.73    180.63    174.17    199.55      163      179.3    180.9    170.3    173.9    172.8    171.3
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) %            -0.6       0.3       7.9      -6.7       0.5      -3.6      14.6    -18.3         10      0.9     -3.7     -0.2     -0.6     -0.9
อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY) %           -15.8      35.9      81.3      22.7      10.1      -1.2       0.7     -3.9       -7.5     -3.2     -4.9     -2.8     -2.9       -4
อัตราการใช้กำลังการผลิต %              65.49      67.81    68.37     63.64     67.15      63.43    71.56     60.4      66.85    64.93    64.54     63.5    63.58    63.46

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ