สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2557 (เมษายน - มิถุนายน 2557)(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 9, 2014 14:44 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมยาปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมยาของไทยมีการขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีปริมาณการผลิตที่อยู่ในระดับทรงตัวและมีปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่สูงขึ้น รวมถึงมีการขยายตัวของการส่งออกไปยังตลาดหลักในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นด้วย

การผลิต

ไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 มีปริมาณการผลิตยาในประเทศทั้งสิ้นรวม 7,027.80 ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.04 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยคิดเป็นร้อยละ 0.53 ในภาพรวม อุตสาหกรรมยามีการขยายตัวที่ดีขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐจำกัดงบประมาณในการเบิกจ่ายสวัสดิการสำหรับการ รักษาพยาบาลของข้าราชการ ทำให้ต้องมีการผลิตยาในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีราคาแพงมากขึ้น

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 มีปริมาณ 6,148.92 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 6.46 และ 0.02 ตามลำดับ เนื่องจากอุตสาหกรรมยาในประเทศมีการขยายตัวที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณการผลิตที่ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่เนื่องจากโรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยามีการสั่งซื้อยาเพิ่มขึ้น ทำให้มีการวางจำหน่ายในประเทศในปริมาณที่สูงขึ้นด้วย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 มีมูลค่า 2,122.06 ล้านบาท หดตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.89 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.89 ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีสถานการณ์ผิดปกติที่ทำให้ต้องใช้ยาจำนวนมากใน ประเทศเช่นในเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อสองปีที่ผ่านมา ทำให้การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคมีการขยายตัวที่ดีขึ้น ในส่วนของมูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 เพิ่มขึ้นตามปกติ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวในไตรมาสที่ 2-4 และหดตัวลงในไตรมาสที่ 1 ของทุกปีอยู่แล้ว โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ ตามลำดับ มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,357.98 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 63.99 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ทั้งนี้ จะเห็นว่าตลาดส่งออกยาที่สำคัญของไทยยังคงเป็นตลาดอาเซียน โดยตลาดที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุด 5 ลำดับแรกของไทยในไตรมาสนี้ ยังคงเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้งสิ้น

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 มีมูลค่า 11,622.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 19.32 และ 5.65 ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ มีมูลค่าการนำเข้ารวม 4,683.85 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40.30 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสนี้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ภาครัฐมีนโยบายเข้มงวดการเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการของข้าราชการเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงพยาบาลต่างๆ สั่งซื้อยามาตุนไว้เป็นจำนวนมาก และเมื่อรัฐประกาศยกเลิกการเข้มงวดในการเบิกจ่ายดังกล่าวไปเมื่อเดือนธันวาคม ก็ทำให้มียาตกค้างอยู่ในสต๊อคมาก ยอดการนำเข้าจึงลดลงในไตรมาสที่ 1 และปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 นี้

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมยามีการขยายตัวที่ดีขึ้นในทุกปี

สำหรับมูลค่าการส่งออกขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศค่อนข้างปกติ ไม่มีความต้องการใช้ในประเทศสูงเช่นเมื่อสองปีก่อน ประกอบกับมีปริมาณการผลิตยาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถส่งออกได้มากขึ้นเล็กน้อย ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากยาที่ตกค้างอยู่ในสต๊อคจากการซื้อเพื่อกักตุนของโรงพยาบาลต่างๆ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาหมดลง จึงมีการนำเข้ายามากขึ้น

แนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่โรงพยาบาลจะเร่งใช้จ่ายเงินเพื่อให้ทันสิ้นปีงบประมาณ และอุตสาหกรรมยาในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี สำหรับการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและระเบียบในการขึ้นทะเบียนยาซึ่งถูกปรับเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมาของเวียดนามอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อภาพรวมของการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคในระยะต่อไปไม่มากก็น้อย เนื่องจากเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดหลักของไทย ในส่วนของการนำเข้า คาดว่าจะมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถึงแม้ว่าการเข้มงวดในการเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการของภาครัฐจะทำให้แพทย์สั่งจ่ายยาที่นำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพงลดลง และหันมาใช้ยาที่สามารถผลิตได้เองในประเทศเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ