สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2557 (ตุลาคม – ธันวาคม 2557)(อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2015 11:39 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 4 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง ทั้งกลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตกลุ่มเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น จากคำสั่งซื้อทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะคู่ค้าหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอาเซียน ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก และการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก ทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพการตัดเย็บ และคุณภาพวัตถุดิบผ้าที่ได้มาตรฐานสากล สำหรับกลุ่มสิ่งทอการผลิตลดลงเล็กน้อย

การผลิตและการจำหน่าย

กลุ่มสิ่งทอ ไตรมาส 4 ปี 2557 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ มีการผลิตลดลง ร้อยละ 0.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลง ร้อยละ 0.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.71 ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 1.16 ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของตลาดภายใน ประกอบกับคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะจากประเทศเวียดนาม และบังคลาเทศ ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าหลักเส้นใยสิ่งทอจากไทย (ตารางที่ 1)

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 4 ปี 2557 การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าถัก) ดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง ร้อยละ 2.80 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.44 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของตลาดภายใน ส่วนตลาดส่งออกหลักชะลอตัวเล็กน้อย ทั้งในตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น สำหรับการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.85 และ 9.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น ส่งผลให้ผู้บริโภคภายในประเทศมีต้องการใช้เพิ่มขึ้น (ตารางที่ 2) ในส่วนการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าทอ) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 3.09 แต่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน (ตารางที่ 3) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออก ในขณะที่การบริโภคภายใน เริ่มกระเตื้องขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้น หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย ประกอบกับมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ เช่น การให้ข้าราชการทั่วประเทศแต่งเครื่องแบบข้าราชการ การรณรงค์ให้ประชาชน องค์กรต่าง ๆ ใส่เสื้อเหลืองในเดือนธันวาคมเพื่อถวายเป็นราชกุศล เป็นต้น

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ไตรมาส 4 ปี 2557 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออก 1,839.52 ล้าน เหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.24 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 4) ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.53 จากการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป และอาเซียน ลดลง สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มส่งออกที่สำคัญ ได้แก่

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก 1,156.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 1.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.36 โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 62.85 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1) ผ้าผืนและด้าย ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 607.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 0.83 และ 4.49 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเวียดนามลดการนำเข้า เนื่องจากเวียดนามมีการพัฒนาการผลิตในส่วนอุตสาหกรรมกลางน้ำ เช่น ปั่นด้าย เพิ่มขึ้น จากการเข้าไปลงทุนของจีน และไต้หวัน โดยในส่วนของ ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 379.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 227.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าการส่งออกผ้าผืนและด้ายคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 52.57 ของมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสิ่งทอ โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

2) เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 194.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.91 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานการผลิตที่ต่ำในปีก่อน ประกอบกับมีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน อินโดนีเซีย อินเดีย และปากีสถาน โดยมีประเทศอินโดนีเซีย จีน เวียดนาม อินเดีย และบังคลาเทศ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

3) เคหะสิ่งทอ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 78.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.84 และ 2.44 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยมีประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

4) สิ่งทออื่นๆ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 172.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.28 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน โดยมีประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน และอินเดีย เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 683.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.60 และ 5.07 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 37.15 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คือ

เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออก 587.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 7.56 และ 6.72 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน ทำให้มูลค่าการส่งออกชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ประกอบกับมีการเร่งการส่งมอบสินค้าไปแล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาสก่อน เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าก่อนจะถูกตัดสิทธิ์ GSP ในวันที่ 1 มกราคม 2558

การนำเข้า

ไตรมาส 4 ปี 2557 มีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นมูลค่า 1,159.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.80 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 5) โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งทอต้นน้ำสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) รวมทั้งสิ้น 995.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.29 และ 1.78 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องลดลงทั้งผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม โดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึง ร้อยละ 85.82 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1) เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 202.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบ กับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 14.11 และ 17.00 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯ ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ บราซิลสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บูร์กินา ฟาร์โซ และจีน

2) ด้ายทอผ้าและเส้นด้าย มีมูลค่านำเข้า 190.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.23 เนื่องจากราคาที่นำเข้าถูกกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ บราซิล จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ อินโดนีเซีย

3) ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 430.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.28 และ 0.45 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณการผลิตภายในเพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้ผ้าผืนนำเข้าในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีทิศทางลดลง

4) ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 124.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.71 และ 22.93 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

2. กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 164.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 5.77 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและเกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย พิจารณาได้จากมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 14.18 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ เช่น การให้ข้าราชการทั่วประเทศแต่งเครื่องแบบข้าราชการ การรณรงค์ให้ประชาชน องค์กรต่าง ๆ ใส่เสื้อเหลืองในเดือนธันวาคมเพื่อถวายเป็นราชกุศล เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคผ้าผืนเพิ่มขึ้น

การเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการของสถานประกอบกิจการ โดยกรมพัฒนา ฝืมือแรงงาน กำลังดำเนินโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไทย ที่มีพนักงานในสถานประกอบกิจการ 50-200 คน และมีนายจ้างเป็นคนไทย มีความต้องการชัดเจนในการลดต้นทุนการผลิตด้วยการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ให้สามารถแข่งขันและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง หรือการแข่งขันในตลาด แรงงานทั้งในและต่างประเทศที่มีมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น โดยตั้งเป้าให้กับสถานประกอบกิจการ 260 แห่งทั่วประเทศ ใน 19 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจสิ่งทอและแฟชั่น ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ ธุรกิจหัตถกรรมธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับธุรกิจเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ธุรกิจพลาสติกและยางธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ธุรกิจสิ่งพิมพ์ธุรกิจไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจเซรามิก ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยวและภัตตาคาร ธุรกิจสร้างสรรค์และออกแบบ ธุรกิจโลจีสติกส์ ธุรกิจเพื่อสุขภาพ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจซ่อมบำรุง และธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยสถานประกอบกิจการที่มีความสนใจสามารถเข้าร่วมโครงการโยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด สามารถติดต่อที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

กลุ่มสิ่งทอ การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไตรมาส 4 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 0.58 ในขณะที่การจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.71 ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง ร้อยละ 0.97 สำหรับการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 1.16 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในที่ลดลง ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในภาคการผลิต

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถัก ลดลง ร้อยละ 2.80 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.44 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศ ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ ลดลง ร้อยละ 3.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเร่งการผลิตตั้งแต่ไตรมาสที่ผ่านมา เพื่อให้ทันการส่งมอบในช่วงปลายปี จากการถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในวันที่ 1 มกราคม 2558 ส่งผลให้สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่ไปสหภาพยุโรปต้องเสียภาษีในอัตราประมาณร้อยละ 12

แนวโน้ม

ไตรมาส 1 ปี 2558 คาดว่า จะส่งผลดีต่อการขยายตัวของภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าของไทย โดยผู้ผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มและผู้นำเข้าหลายรายเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และ มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้นำเข้าบางรายเริ่มมีคำสั่งซื้อกับประเทศคู่แข่ง ได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เนื่องจากกลุ่มสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีการผลิตในหลายประเทศในอาเซียนและคุณภาพผลผลิตใกล้เคียงกับไทย ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ทดแทนได้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในส่วนปริมาณการผลิตสินค้าเครื่องนุ่งห่มมีสัดส่วนสำหรับการส่งออก ร้อยละ 50 และใช้ภายในประเทศ ร้อยละ 50 ดังนั้น ถ้าการบริโภคในประเทศยังมีสัญญาณของการฟื้นตัวไม่มากนัก ขณะที่ปัจจัยบวกด้านตลาดส่งออกยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร อาจส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของการผลิตและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในระยะต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ