สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2557 (ตุลาคม – ธันวาคม 2557)(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2015 13:54 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาวะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางล้อเริ่มฟื้นตัวขึ้น ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากชะลอตัวลงในช่วงต้นปี เนื่องจากตลาดในอาเซียน ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นทดแทนความต้องการที่ลดลงของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป สำหรับราคายางยังคงลดลง อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากในไตรมาสที่ 1 เป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ ปริมาณยางพาราที่เข้าสู่ตลาดจะลดลง

การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 3.70 และ 7.14 ตามลำดับ และเมื่อมองภาพรวมทั้งปี 2557 ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นลดลงร้อยละ 4.59

ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางล้อ คือ ผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง/ รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สำหรับยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสก่อน การผลิตปรับตัวลดลง และเมื่อพิจารณาในภาพรวมทั้งปี 2557 ปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ยางปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์

การผลิตผลิตภัณฑ์ยางในกลุ่มยางล้อ โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง/รถกระบะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมทั้งปี การผลิตปรับตัวลดลง ร้อยละ 4.70 ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ และจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไปเป็นจำนวนมาก

สำหรับการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.87 และ 3.56 ตามลำดับ และในภาพรวมทั้งปี 2557 การผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.25 เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้ในทางการแพทย์ ภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.61 และ 32.38 ตามลำดับ และเมื่อมองภาพรวมทั้งปี 2557 การจำหน่ายในประเทศ ลดลงร้อยละ 18.31

การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในกลุ่มยางล้อภายในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ที่มีการจำหน่ายลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.81 และ 2.72 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้ผู้บริโภคและนักลงทุนชะลอการบริโภคและชะลอการลงทุนออกไป โดยเฉพาะยางนอกรถยนต์นั่ง ที่ได้รับผลกระทบทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ และจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไปเป็นจำนวนมาก

ในส่วนของการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.26 และ 33.55 ตามลำดับ และเมื่อมองภาพรวมทั้งปี 2557 การจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.83 เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 1,394.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.46 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 40.94 และในภาพรวมทั้งปี 2557 มีมูลค่าส่งออก 6,109.33 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 26.09 ซึ่งแม้ว่าปริมาณการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางปรับตัวลดลงมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย โดยตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญ คือ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยยางยานพาหนะปรับตัวลดลงร้อยละ 5.40 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ1.98 สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.53 และ 13.27 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถุงมือยาง/ถุงมือตรวจเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากชะลอตัวลงในช่วงต้นปีเนื่องจากตลาดในอาเซียนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทดแทนความต้องการที่ลดลงของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวม ไตรมาสที่ 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 1,991.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.39 และ 6.40 ตามลำดับ และในภาพรวมทั้งปีมีมูลค่าส่งออก 8,032.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 5.62

การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 การนำเข้ายางและเศษยาง มีมูลค่า 246.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 11.67 และ 1.95 ตามลำดับ และในภาพรวมทั้งปี 2557 มีปริมาณการนำเข้า 1,065.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 8.53 โดยผลิตภัณฑ์ยางนำเข้าที่สำคัญ คือ ยางสังเคราะห์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตยางรถยนต์ ในภาพรวมปรับตัวลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมยางรถยนต์ชะลอตัวตามภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ และจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่า 286.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 3.71 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.03 และในภาพรวมทั้งปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า1,142.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.42

ราคาสินค้า

ราคายางยังคงปรับตัวลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ยังมีสต๊อกยางพาราอยู่จำนวนมาก ทำให้จีนยังคงชะลอการสั่งซื้อออกไปนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. ในปีงบประมาณ 2558 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย และโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว คือสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบยางผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และได้มาตรฐานสากลซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

2. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2557 และวันที่ 21 ต.ค. 2557 ตามลำดับ เห็นชอบการดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ณ ที่ตั้งเดิม หรือที่ตั้งใหม่ ให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำ และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อยางส่วนเกินออกจากระบบ ในช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศทั้งปี 2557 ชะลอตัวลง เนื่องจากสัญญาณชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากตลาดรถยนต์ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ หรือจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไปจำนวนมากในปีก่อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ชะลอตัวลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ และอุตสาหกรรมถุงมือยาง/ถุงมือตรวจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น

ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกยางยานพาหนะยังขยายตัวได้ และถุงมือยาง/ถุงมือตรวจเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากชะลอตัวลงในช่วงต้นปี เนื่องจากตลาดในอาเซียนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทดแทนความต้องการที่ลดลงของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

แนวโน้ม

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 อุตสาหกรรมยางล้อในประเทศคาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ และในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และภาคอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มด้านราคายางพาราในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ ปริมาณยางพาราที่เข้าสู่ตลาดจะลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ทำให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ