สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2558 (มกราคม - มีนาคม 2558)(อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 26, 2015 15:41 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 1 ปี 2558 เมื่อเปรียบ เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เส้นใยสิ่งทอฯ ผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากความต้องใช้ในประเทศ ในขณะที่การทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) ลดลง ทั้งในส่วนการผลิตและการจำหน่าย เนื่องจากผู้ผลิตมีสต๊อกค่อนข้างมาก ประกอบกับคำสั่งซื้อของตลาดอาเซียนลดลง โดยเฉพาะจากประเทศเวียดนาม และจีน ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลัก สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ผลิตเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักและผ้าทอ จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ เช่น การให้ข้าราชการแต่งเครื่องแบบข้าราชการทั่วประเทศ การรณรงค์ให้ประชาชน องค์กรต่าง ๆ ใส่เสื้อสีม่วงในเดือนเมษายนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ สยามบรมราชกุมารี การส่งเสริมยอดขายที่มีการกระตุ้นตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ ในห้างสรรพสินค้า

การผลิตและการจำหน่าย

กลุ่มสิ่งทอ ไตรมาส 1 ปี 2558 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.40 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ แต่ปรับลดลง ร้อยละ 1.94 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่การทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) มีการผลิตลดลง ร้อยละ 6.67 และ 4.11 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากผู้ผลิตมีสต๊อกค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของตลาดภายใน ประกอบกับคำสั่งซื้อจากตลาดอาเซียนลดลง โดยเฉพาะจากประเทศเวียดนาม และ จีน ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าหลักเส้นใยสิ่งทอและผ้าผืนจากไทย (ตารางที่ 1 และ 2)

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 1 ปี 2558 เมื่อพิจารณาจากการผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าถัก) ดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.65 และ 5.95 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ สอดคล้องกับการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.81 และ 8.44 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เป็นผลจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในลักษณะหนาวเย็นนาน (ตารางที่ 3)

ในส่วนการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าทอ) ดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.58 และ 3.75 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ สอดคล้องกับการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.26 และ 0.04 จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของตลาดภายใน ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ เช่น การให้ข้าราชการแต่งเครื่องแบบข้าราชการ การรณรงค์ให้ประชาชน องค์กรต่าง ๆ ใส่เสื้อสีม่วงในเดือนเมษายน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ สยามบรมราชกุมารี การส่งเสริมยอดขายที่มีการกระตุ้นตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ (ตารางที่ 4)

หากพิจารณาข้อมูลโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การประกอบกิจการในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2558 พบว่า มีโรงงานปิดกิจการทั้งสิ้น จำนวน 15 โรงงาน แบ่งเป็น โรงงานเส้นใยและปั่นด้าย และโรงงานถักผ้า ประเภทละ 2 โรงงาน โรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูป 6 โรงงาน และโรงงานทอผ้า โรงงานฟอกย้อม โรงงานเคหะสิ่งทอ โรงงานปักลวดลาย และโรงงานผลิตซึ่งมิได้ทำด้วยการถักหรือทอ (ทำจากเส้นใยที่ไม่ใช้แล้ว) ประเภทละ 1 โรงงาน อย่างไรก็ตาม มีการจดทะเบียนประกอบกิจการใหม่ จำนวน 8 โรงงาน แบ่งเป็น โรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวน 3 โรงงาน โรงงานทอผ้า โรงงานพิมพ์ผ้า โรงงานถักผ้า โรงงานผ้าเคลือบ และโรงงานผลิตซึ่งมิได้ทำด้วยการถักหรือทอ (ทำจากเส้นใยที่ไม่ใช้แล้ว) ประเภทละ 1 โรงงาน โดยปัจจุบันมีจำนวนโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งสิ้น 4,840 โรงงาน

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก

ไตรมาส 1 ปี 2558 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออก 1,699.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.52 และ 7.59 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียน และสหภาพยุโรป สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มส่งออกที่สำคัญ ได้แก่

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก 1,045.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 5.99 และ 9.58 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 61.49 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1) ผ้าผืนและด้าย ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 553.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 10.03 และ 8.92 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเวียดนามลดการนำเข้า เนื่องจากเวียดนามมีการพัฒนาการผลิตในส่วนอุตสาหกรรมกลางน้ำ เช่น ปั่นด้าย เพิ่มขึ้น จากการเข้าไปลงทุนของจีน และไต้หวัน โดยในส่วนของผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 363.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 190.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าการส่งออกผ้าผืนและด้ายคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 52.95 ของมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสิ่งทอ โดยมีประเทศเวียดนาม จีน เมียนมาร์ และบังคลาเทศ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

2) เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 179.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.88 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 7.70 เนื่องจากมีโรงงานปิดกิจการจำนวน 2 โรงงาน ประกอบกับมีการสั่งซื้อลดลงจากประเทศเวียดนาม โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม ตุรกี อินเดีย และปากีสถาน

3) เคหะสิ่งทอ ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 65.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 12.45 และ 15.85 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา มีการนำเข้าลดลง โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย

4) สิ่งทออื่นๆ ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 153.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.83 และ 11.10 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับโดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน และอินเดีย

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 654.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 7.36 และ 4.22 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 38.51 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คือ

เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออก 563.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 7.59 และ4.09 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน ทำให้มูลค่าการส่งออกชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ประกอบกับมีการเร่งการส่งมอบสินค้าไปแล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 และ 4 เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าก่อนจะถูกตัดสิทธิ GSP เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา

การนำเข้า

ไตรมาส 1 ปี 2558 มีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นมูลค่า 1,133.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.12 และ 2.29 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ (ตารางที่ 6) โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งทอต้นน้ำสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) รวมทั้งสิ้น 947.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.72 และ 4.83 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องลดลงทั้งผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม โดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 83.59 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1) เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 192.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 18.00 และ 4.89 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯ ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย จีน และบูร์กินา ฟาร์โซ

2) ด้ายทอผ้าและเส้นด้าย มีมูลค่านำเข้า 192.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.78 และ 1.10 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากราคาที่นำเข้าถูกกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม และอินโดนีเซีย

3) ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 410.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.82 และ 4.78 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ผ้าผืนนำเข้าในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีทิศทางลดลง

4) ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 106.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ10.74 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 14.69 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

2. กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 185.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.92 และ 13.08 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและเกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยพิจารณาได้จากมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 16.41 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินกลยุทธ์เร่งด่วนเพื่อพัฒนา SMEs ไทยให้พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรองรับฐานผู้บริโภคประมาณ 600 ล้านคนทั่วอาเซียน โดยจะดำเนินงาน 3 โครงการหลัก ได้แก่

(1) โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมรองรับ AEC การพัฒนาบุคลากร การปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงรุกสู่ตลาด AEC รวมทั้งนำผู้ประกอบการไปเจรจาธุรกิจ และทดลองตลาดในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และอาเซียน+3

(2) โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย โดยมุ่งผลักดัน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคและการจัดการ การพัฒนานักออกแบบ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่น การสร้างกลุ่มเครือข่ายย่านธุรกิจแฟชั่น และการเพิ่มประสิทธิภาพตลอดสายกระบวนการผลิต

(3) โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและดำเนินธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 1,890 ราย/ปี

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

กลุ่มสิ่งทอ การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไตรมาส 1 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.40 ในขณะที่การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 1.99 และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การผลิตลดลง ร้อยละ 1.94 แต่การจำหน่ายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 0.02 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในชะลอตัว

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักและผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.65 และ 7.58 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.95 และ 3.75 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเสื้อผ้านักเรียนเพื่อเตรียมการสำหรับเปิดภาคการศึกษาใหม่

สำหรับการส่งออกลดลงตามภาวะเศรษฐกิจในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป จากการถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การส่งสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปสหภาพยุโรปต้องเสียภาษีในอัตราประมาณร้อยละ 12

แนวโน้ม

ไตรมาส 2 ปี 2558 คาดว่า การผลิตและการจำหน่ายในประเทศจะทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศอาจชะลอตัวภายหลังถูกตัดสิทธิ

GSP จากสหภาพยุโรป และภาวะเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังไม่ฟื้นตัว ส่วนการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 2 ปี 2558 คาดว่า จะทรงตัวทั้งกลุ่มสิ่งทอ และกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม จากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าสำคัญยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน สำหรับการนำเข้า คาดว่า จะขยายตัวในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งจะมีการนำเข้าตามความต้องการบริโภคในประเภทผลิตภัณฑ์ชุดสูท กางเกง กระโปรงและเครื่องแต่งตัวสตรี และเสื้อผ้าอื่น ๆ จากประเทศฮ่องกง จีน เวียดนาม และอิตาลี

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ