สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2558 (เมษายน - มิถุนายน 2558)(อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2015 16:36 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส2ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เส้นใยสิ่งทอฯ ชะลอตัวลงจากความต้องใช้ในประเทศ เนื่องจากผู้ผลิตมีสต๊อกค่อนข้างมาก ในขณะที่การทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) ลดลง ทั้งในส่วนการผลิตและการจำหน่าย ประกอบกับคำสั่งซื้อของตลาดส่งออกหลักลดลง โดยเฉพาะจากเวียดนาม และจีน ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลัก สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ผลิตลดลงทั้งในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักและผ้าทอตามฤดูกาล เนื่องจากไตรมาสนี้มีจำนวนวันทำงานน้อยกว่าไตรมาสอื่น ๆ

การผลิตและการจำหน่าย

กลุ่มสิ่งทอ ไตรมาส 2 ปี 2558เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯและการทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) มีการผลิตลดลงร้อยละ 1.31 และ 9.63ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ และปรับลดลง ร้อยละ4.98 และ 5.94ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาในขณะที่การจำหน่ายลดลงเช่นกัน เนื่องจากผู้ผลิตมีสต๊อกค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของตลาดภายในและต่างประเทศประกอบกับคำสั่งซื้อจากตลาดอาเซียนลดลง โดยเฉพาะจากประเทศเวียดนาม และ จีน ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าหลักเส้นใยสิ่งทอและ ผ้าผืนจากไทย (ตารางที่ 1และ 2)

กลุ่มเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 2 ปี 2558เมื่อพิจารณาจากการผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าถัก) ดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 0.50 และ 5.66เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ สอดคล้องกับการจำหน่ายที่ลดลงร้อยละ 3.91 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.16 เป็นผลจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐและการส่งเสริมยอดขายที่มีการกระตุ้นตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ (ตารางที่ 3)

ในส่วนการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าทอ) ดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง ร้อยละ 3.58 และ 14.95เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ สอดคล้องกับการจำหน่ายที่ลดลง ร้อยละ 3.48และ 13.82จากคำสั่งซื้อที่ลดลงของตลาดคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ส่วนตลาดในประเทศ ยังขยายตัวได้ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ เช่น การให้ข้าราชการแต่งเครื่องแบบข้าราชการ การรณรงค์ให้ประชาชน องค์กรต่าง ๆ ใส่เสื้อสีม่วงในเดือนเมษายนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ สยามบรมราชกุมารี การส่งเสริมยอดขายที่มีการกระตุ้นตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ (ตารางที่ 4)

หากพิจารณาข้อมูลโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การประกอบกิจการไตรมาส 2 ปี 2558พบว่า มีโรงงานประกอบกิจการใหม่ จำนวน 22 โรงงาน กว่าร้อยละ 60 เป็นโรงงานประกอบกิจการเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีเงินลงทุนรวม 194.20 ล้านบาท และจ้างแรงงาน จำนวน 670 คน นอกจากนี้มีโรงงานขอขยายกิจการ จำนวน 4 โรงงาน เป็นโรงงานประกอบกิจการเสื้อผ้าสำเร็จรูป2 โรงงาน และโรงงานทอผ้า 2 โรงงาน มีเงินทุนรวม 459.35 ล้านบาท สำหรับโรงงานที่ขอยกเลิกกิจการ จำนวน 42 โรงงาน เป็นโรงงานประกอบกิจการเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวน 20 โรงงาน โรงงานถัก/ทอผ้า จำนวน 12 โรงงาน ฟอกย้อมและพิมพ์ จำนวน 6 โรงงาน และอื่น ๆ จำนวน 4 โรงงาน

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ไตรมาส 2 ปี 2558อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออก 1,733.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 8.79เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน(ตารางที่ 5) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียน และสหภาพยุโรป แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.99 ตามการขยายตัวในตลาดอาเซียน สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญ ได้แก่

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก 1,054.82ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.48 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.91โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.84 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1) ผ้าผืนและด้ายไตรมาส 2 ปี 2558มีมูลค่าการส่งออก541.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.14และ 2.13เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับส่วนหนึ่งเป็นผลจากเวียดนามลดการนำเข้า เนื่องจากเวียดนามมีการพัฒนาการผลิตในส่วนอุตสาหกรรมกลางน้ำ เช่น ปั่นด้าย เพิ่มขึ้น จากการเข้าไปลงทุนของจีน และไต้หวัน โดยในส่วนของผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 342.26ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 199.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าการส่งออกผ้าผืนและด้ายคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.36ของมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสิ่งทอโดยมีประเทศเวียดนาม จีน ญี่ปุ่นและเมียนมาร์เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

2) เส้นใยประดิษฐ์ไตรมาส 2 ปี 2558มีมูลค่าการส่งออก 179.89ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.55เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ในไตรมาสนี้ผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้การส่งออกลดลง แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.29เนื่องจากมีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม ปากีสถาน โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ปากีสถาน และจีน

3) เคหะสิ่งทอ ไตรมาส 2 ปี 2558มีมูลค่าการส่งออก70.43ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ8.65เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.92 ตามลำดับเนื่องจากประเทศออสเตรเลีย อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากไทยโดยตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย และอินเดีย

4)สิ่งทออื่นๆไตรมาส 2 ปี 2558มีมูลค่าการส่งออก 168.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.36และ 9.86เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับโดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซียจีน และอินเดีย

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 2 ปี 2558มีมูลค่าการส่งออก 678.80ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 7.70เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.70 โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 39.16ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คือ

เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออก 591.21ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.44เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.90 โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย ใยประดิษฐ์ ไหม ขนสัตว์ และเสื้อผ้าเด็กอ่อน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวในตลาดอาเซียนถึงร้อยละ 19.76 ประกอบกับการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ขยายตัวเช่นเดียวกัน ร้อยละ 5.76 และ 9.65 ตามลำดับ

การนำเข้า

ไตรมาส 2 ปี 2558มีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นมูลค่า 1,122.14ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.67และ 0.99เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ (ตารางที่ 6) โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งทอต้นน้ำสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) รวมทั้งสิ้น 962.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 7.60เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.55เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเพิ่มขึ้นทั้งด้าย เส้นใย และผ้าผืน โดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 85.74 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1)เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่าการนำเข้า 206.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 18.22เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.03 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล มาลี และออสเตรเลีย

2)ด้ายทอผ้าและเส้นด้ายมีมูลค่าการนำเข้า 177.58ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.63และ 7.72เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากราคาที่นำเข้าถูกกว่าที่ผลิตได้ในประเทศโดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม และอินโดนีเซีย

3)ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่าการนำเข้า 103.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ7.72เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 3.08โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีนญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกา เวียดนาม และเยอรมนี

4)ผ้าผืน มีมูลค่าการนำเข้า 425.57ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 4.01 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนส่วนหนึ่งมาจากการผลิตภายในลดลงมาก และมีโรงงานทอผ้าปิดกิจการในไตรมาสนี้จำนวน 3 โรงงาน ในขณะเดียวกันมีโรงงานขอขยายกิจการจำนวน 2 โรงงาน ซึ่งอาจต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มีการนำเข้าผ้าผืนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.77โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีนไต้หวัน และเกาหลีใต้

2. กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 160.00ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.85เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน อิตาลี เวียดนาม และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 14.26 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 13.95

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ดำเนินกลยุทธ์เร่งด่วนเพื่อพัฒนา SMEs ไทยให้พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรองรับฐานผู้บริโภคประมาณ600 ล้านคนทั่วอาเซียน โดยจะดำเนินงาน 3 โครงการหลัก ได้แก่

(1) การเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมรองรับ AEC การพัฒนาบุคลากร การปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงรุกสู่ตลาด AEC รวมทั้งนำผู้ประกอบการไปเจรจาธุรกิจ และทดลองตลาดในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และอาเซียน+3

(2) การพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย โดยมุ่งผลักดัน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคและการจัดการ การพัฒนานักออกแบบ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่น การสร้างกลุ่มเครือข่ายย่านธุรกิจแฟชั่น และการเพิ่มประสิทธิภาพตลอดสายกระบวนการผลิต

(3) การเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ มุ่งเน้นการสร้างให้สามารถเริ่มต้นและดำเนินธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ จำนวน 1,890 ราย/ปี

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

กลุ่มสิ่งทอการผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอและการทอสิ่งทอ (ผ้าผืน)ไตรมาส 2 ปี 2558เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 1.31 และ 9.63 ตามลำดับ ในขณะที่การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 6.28 และ 12.07 และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การผลิตและการจำหน่ายลดลงเช่นเดียวกันส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในชะลอตัว

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา สอดคล้องกับการจำหน่ายที่ปรับตัวลดลงตามคำสั่งซื้อประกอบกับโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปบางส่วนได้ขยายฐานการผลิตไปในอาเซียน ส่งผลให้การผลิตและการจำหน่ายลดลง ในส่วนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถัก เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา สอดคล้องกับการจำหน่ายที่ลดลง แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายเพิ่มขึ้น จากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐและการส่งเสริมยอดขายที่มีการกระตุ้นตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ

สำหรับการส่งออกลดลงตามภาวะเศรษฐกิจในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป จากการถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.99

แนวโน้ม

ไตรมาส 3ปี 2558คาดว่าการผลิตจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นจากตลาดคู่ค้าหลัก สำหรับใช้บริโภคในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ ส่วนการจำหน่ายในประเทศ คาดว่าจะขยายตัวมากกว่าไตรมาสที่ 2 เนื่องจากมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการกระตุ้นตลาด โดยการลดราคาสินค้าครึ่งปี เป็นต้น ส่วนการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 3ปี 2558 คาดว่า จะทรงตัวในกลุ่มสิ่งทอ ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าสำคัญ รวมถึงตลาดอาเซียน ซึ่งมีการเจาะกลุ่มลูกค้าใน CLMV มากขึ้น และสินค้าไทยเป็นที่ต้องการในอาเซียนสำหรับการนำเข้า คาดว่า จะขยายตัวในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งจะมีการนำเข้าตามความต้องการบริโภคในประเภทผลิตภัณฑ์ชุดสูท กางเกง กระโปรงและเครื่องแต่งตัวสตรี และเสื้อผ้าอื่น ๆ จากประเทศฮ่องกง จีน เวียดนาม และอิตาลี

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ