ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนกันยายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 17, 2015 14:28 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2558 ลดลงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2558 ที่ลดลงร้อยละ 8.3 อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงอาทิ HDD เครื่องนุ่งห่มโทรทัศน์ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และเบียร์ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมรถยนต์ ในเดือนกันยายน 2558 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดส่งออกในประเทศแถบอเมริกาเหนือยุโรปและโอเชียเนีย

อุตสาหกรรม HDD ปรับตัวลดลงเนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลงประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง

การเปิดปิดโรงงานเดือนกันยายน 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 498 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2558 ร้อยละ 28.35 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.69 แต่มีจำนวนการจ้างงานลดลงร้อยละ 11.8 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีจำนวน 16 โรง จำนวนเงินทุน 12,266 ล้านบาท และจำนวนคนงาน 90 คน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนมีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการลดลงจากเดือนกันยายน 2557 ร้อยละ 8.12 สำหรับโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมีจำนวน 319 รายมากกว่าเดือนสิงหาคม 2558 ร้อยละ 26.09 และมากกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อย ละ 153.17

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนกันยายน 2558 การนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม และเครื่องมือกล มีมูลค่า 921.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 23.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องมือกลที่ยังคงหดตัวสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 42.8 รวมทั้งการนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 18.6

ด้านการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 5,904.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 19.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลง

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนกันยายน 2558 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 10,100.9 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคม 2558 ร้อยละ 0.26 (10,075.1 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) และเพิ่มขึ้นช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 1.5 (9,950.3 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) หากแยกการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการ พบว่า กิจการขนาดเล็กและขนาดใหญ่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาและช่วงเดียวกันของปี 2557 ส่วนกิจการขนาดกลางมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงจากเดือนที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ติดลบหรือหดตัวร้อยละ 3.6 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้การผลิตลดลง เช่น Hard Disk Drive เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องรับโทรทัศน์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง และเบียร์ เป็นต้น

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันหดตัวร้อยละ 5.6

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 2.5

สำหรับข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนกันยายน 2558 ยังไม่มีการเผยแพร่ แต่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนสิงหาคม 2558 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 4.3 และ 4.4 ตามลำดับ

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2558

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 498 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2558 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 388 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 28.35 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 33,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2558 ซึ่งมีการลงทุน 30,692 ล้านบาท ร้อยละ 7.69 แต่มีการจ้างงานจำนวน 11,779 คน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2558 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 13,355 คน ร้อยละ 11.8

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการน้อยกว่าเดือนกันยายน 2557 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 542 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 8.12 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2557 ซึ่งมีการลงทุน 32,572 ล้านบาท ร้อยละ 1.48 และมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2557 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 10,360 คน ร้อยละ 13.7

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกันยายน 2558 คืออุตสาหกรรมทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ และเครื่องใช้ในครัวเรือน จากไม้ จำนวน 34 โรงงาน รองลงมา คืออุตสาหกรรม ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต จำนวน 29 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกันยายน 2558 คืออุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนเงินทุน 12,266.34 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ห้องเย็นเก็บรักษาเนื้อสัตว์ พืชผักและผลไม้ จำนวนเงินทุน 2,180.80 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกันยายน 2558 คืออุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติก จำนวนคนงาน 4,296 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรม ผลิตและรับจ้างผลิตอะไหล่รถจักรยานยนต์และรถยนต์ จำนวนคนงาน 616 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2558 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 319 ราย มากกว่าเดือนสิงหาคม 2558 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 253 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.09 มีการเลิกจ้างงาน จำนวน 16,623 คน มากกว่าเดือนสิงหาคม 2558 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 5,653 คน แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 7,058 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2558 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 11,374 ล้านบาท

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนกันยายน 2557 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 126 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 153.17 มีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนกันยายน 2557 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 5,124 คน แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนกันยายน 2557 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 9,927 ล้านบาท

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกันยายน 2558 คืออุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 23 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขุดหรือลอก กรวด ทรายหรือดิน จำนวน 22 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนกันยายน 2558 คืออุตสาหกรรม ตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ เงินทุน 1,116.61 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำชิ้นส่วนพิเศษสำหรับรถยนต์หรือรถพ่วง เงินทุน 652.03 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนกันยายน 2558 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวนคนงาน 8,334 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตรองเท้าหรือชิ้นส่วนรองเท้า ซึ่งมิได้ทำจากไม้ ยางอบแข็ง พลาสติก จำนวนคนงาน 838 คน
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง การปรับขึ้นภาษีหลังจากถูกตัด GSP และการทำประมงผิดกฎ IUU ของสหภาพยุโรป ส่งผลให้การส่งออกปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการจำหน่ายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกันยายน 2558 ปรับลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีก่อน 0.9 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีก่อน สินค้าที่ปรับตัวลดลง เช่น กุ้ง แป้งมันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 23.8 21.5 และ 19.8 ตามลำดับ เนื่องจากวัตถุดิบลดลง

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม การผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.7 เนื่องจากปริมาณน้ำมันปาล์มในตลาดมีมาก ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.4

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนกันยายน 2558 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.2 การบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินค้าน้ำมันถั่วเหลืองและไก่ จากราคาที่ปรับชะลอลง

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกันยายน 2558 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.2 โดยเป็นการลดลงจากการส่งออก สินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปลาทูน่ากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ข้าว สับปะรดกระป๋อง และข้าวโพดหวานกระป๋อง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้ายังคงชะลอตัว และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน รวมถึงผลกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP ของของสหภาพยุโรปและการทำประมงผิดกฎ IUU ของสหภาพยุโรป ส่วนสินค้ามูลค่าการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำตาล เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.6 จากคำสั่งซื้อของกลุ่มประเทศในอาเซียนเป็นหลัก และไก่แปรรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.4 จากการที่ประเทศญี่ปุ่นชะลอการนำเข้าจากประเทศจีน เนื่องด้วยปัญหาเรื่อง Food safety จึงนำเข้าสินค้าไก่เนื้อของไทยเพิ่มขึ้น

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออก คาดว่า จะปรับชะลอตัวลงจากปีก่อน เนื่องจาก การผลิตและส่งออกตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศชะลอตัวลงจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าที่ไม่ฟื้นตัว และการประกาศปรับระดับการค้า จากการพิจารณาการดำเนินการในเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทาประมงผิดกฎ lUU ของสหภาพยุโรป รวมถึงการเติบโตในอัตราที่ลดลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะทำให้สถานการณ์การส่งออกยังคงเติบโตได้เล็กน้อย สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะชะลอตัวลงจากผู้บริโภคที่ขาดความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายจากการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

กลุ่มสิ่งทอมีการผลิตลดลงตามความต้องการที่ถดถอย ประกอบกับบางส่วนมีการนำเข้าจากต่างประเทศส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นในส่วนเสื้อผ้าถัก ประเภทเสื้อผ้าชุดกีฬา

1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน การผลิตในผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน ผ้าลูกไม้ และ ยางยืด ลดลง ร้อยละ 4.2 6.4 6.6 5.6 และ 10.4 ตามลำดับ จากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายใน ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการผลิตลงตามความต้องการที่ถดถอย ประกอบกับบางส่วนมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายในผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถผลิตได้

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถักเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.0 ในผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายชั้นนอกทั้งบุรุษและเด็กชาย (เสื้อผ้าชุดกีฬา) และเครื่องแต่งกายชั้นนอกและชั้นในสตรีและเด็กหญิง ในส่วนเสื้อผ้าทอ ลดลงร้อยละ16.7 เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าในตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปลดลงประกอบกับมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเสื้อผ้าแฟชั่นต่างๆ

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทอ มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในส่วนเสื้อผ้าถัก ประเภทเสื้อผ้าชุดกีฬา

การส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมลดลงร้อยละ 9.3 แบ่งเป็นกลุ่มสิ่งทอลดลง ร้อยละ 11.9 ในผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ ลดลง ร้อยละ 8.9 33.2 17.9 22.3 และ 9.5 ตามลำดับ กลุ่มเครื่องนุ่งห่มลดลง ร้อยละ 4.7 ในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปเครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบลดลง ร้อยละ 4.1 และ 11.3 ตามลำดับซึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปตลาดอาเซียน และ สหภาพยุโรป มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 26.8 และ 13.4 ตามลำดับ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

3. แนวโน้ม

คาดว่า กลุ่มสิ่งทอที่ผลิตสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศจะกระเตื้องขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คาดว่า จะหดตัวจากผลิตภัณฑ์ผ้าผืนเนื่องจากมีการพัฒนาการผลิตกลุ่มต้นน้ำและกลางน้ำในเวียดนามทำให้ความต้องการผ้าผืนจากไทยลดลง สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และชุดกีฬา จะขยายตัวได้ตามนโยบายส่งเสริมด้านการกีฬาและการท่องเที่ยวของภาครัฐประกอบกับภาคเอกชนมีการเตรียมการผลิตรองรับความต้องการปลายปี อาจส่งผลต่อคำสั่งซื้อที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

รัฐบาลฟิลิปปินส์ ประกาศขยายระยะเวลาการใช้มาตรการปกป้องการนำเข้า (Safeguard) สินค้าเหล็ก Angle bars (HS 7216.21.00 และ 7216.50.00) ที่มีความหนาเท่ากับหรือมากกว่า 80 มม. ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 4 ปี เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตเหล็กในประเทศ โดยในปีแรก (16 มีนาคม 2015 - 17 มีนาคม 2016) เรียกเก็บอากร safeguard อัตรา 3,345 เปโซต่อตัน หลังจากนั้น อีก 3 ปี จะเรียกเก็บอากร ลดลงในอัตรา 3,178 เปโซต่อตัน 3,019 เปโซต่อตัน และ 2,868 เปโซต่อตัน ตามลำดับ

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกันยายน 2558 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 108.ลดลง ร้อยละ 18.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุดังนี้

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 26.52 โดยเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 57.32 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 30.90 เนื่องจากอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระป๋องประสบปัญหา เช่น สับปะรดกระป๋องประสบปัญหาภัยแล้งจึงขาดแคลนวัตถุดิบ ในขณะที่ทูน่ากระป๋อง ประสบปัญหาเนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ลดลง และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การนำเข้าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.7 (การนำเข้ามีปริมาณ 770,644 ตัน) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก คือ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน Alloy Steel เพิ่มขึ้น ถึง ร้อยละ 420.5 (ปริมาณการนำเข้า 18,264 ตัน) และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน Carbon Steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 135.1 (ปริมาณการนำเข้า 227,438 ตัน) สำหรับการส่งออก ลดลง ร้อยละ 28.1 (การส่งออก มีปริมาณ 26,147 ตัน) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการส่งออก ลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน Alloy Steel ลดลง ร้อยละ 93.8 (ปริมาณการส่งออก 1 ตัน)

ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.59 โดยเหล็กเส้นกลม มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 72.61 แต่ลวดเหล็ก ลดลง ร้อยละ 24.81 และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การนำเข้าลดลง ร้อยละ 10.7 (ปริมาณการนำเข้า 218,959 ตัน) ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าลดลง มากที่สุด คือ เหล็กเส้น Stainless Steel ลดลง ร้อยละ 45.2 (ปริมาณการนำเข้า 613 ตัน) เหล็กเส้นขึ้นรูปเย็น ลดลง ร้อยละ 43.4 (ปริมาณการนำเข้า 4,305 ตัน) สำหรับการส่งออก ลดลง ร้อยละ 15.7 (ปริมาณการส่งออก 98,753 ตัน) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกลดลง มากที่สุด ได้แก่ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ลดลง ร้อยละ 77 (ปริมาณการส่งออก 1,756 ตัน) รองลงมาคือ เหล็กลวด Carbon Steel ลดลง ร้อยละ 66.6 (ปริมาณการส่งออก 319 ตัน)

2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด ClS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนกันยายน 2558 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กมีการปรับตัวลดลงทุกชนิด เช่น เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 112.79 เป็น 60.46 ลดลง ร้อยละ 46.40 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 113.84 เป็น 63.58 ลดลง ร้อยละ 44.15 เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 117.64 เป็น 67.29 ลดลง ร้อยละ 42.80 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 116.82 เป็น 71.96 ลดลง ร้อยละ 38.40 และเหล็กเส้น ลดลงจาก 113.82 เป็น 70.89 ลดลง ร้อยละ 37.72 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกประกอบกับความต้องการใช้เหล็กโลกยังคงชะลอตัว ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนตุลาคม 2558 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าการผลิตเหล็ก โดยรวมจะลดลง ทั้งเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังชะลอตัวอยู่ นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีสถานการณ์การผลิตที่ทรงตัว ถึงแม้บางอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ จะมียอดการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่เหล็กที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กนำเข้าไม่ใช่เหล็กที่ผลิตภายในประเทศ

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกันยายน 2558 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดส่งออกโดยเป็นการขยายตัวในประเทศแถบอเมริกาเหนือยุโรปและโอเชียเนีย เป็นต้น

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 171,496 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2557 ซึ่งมีการผลิต 164,299 คัน ร้อยละ 4.38 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 61,869 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2557 ซึ่งมีการจำหน่าย 69,137 คัน ร้อยละ 10.51 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ทั้งนี้การลดลงเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจประกอบกับหนี้ในภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 124,952 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2557 ซึ่งมีการส่งออก 97,570 คัน ร้อยละ 28.06 แบ่งเป็นการส่งออกรถยนต์นั่งร้อยละ 37 และรถกระบะ 1 ตันและ PPV ร้อยละ 63 โดยการส่งออกรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.08 ซึ่งเป็นการขยายตัวในประเทศแถบอเมริกาเหนือ ยุโรป และโอเชียเนียส่วนการส่งออกรถกระบะ 1 ตัน และ PPV เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 26.38 เป็นการขยายตัวในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย และตะวันออกกลาง

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2558 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2557 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2558 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50 และส่งออกร้อยละ 50

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกันยายน 2558 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดส่งออก

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 149,234 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2557 ซึ่งมีการผลิต 143,990 คัน ร้อยละ 3.64 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 134,434 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2557 ซึ่งมีการจำหน่าย 142,816 คัน ร้อยละ 5.87 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์และแบบสปอร์ต

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป(CBU)

จำนวน 22,530 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2557 ซึ่งมีการส่งออก 22,208 คัน ร้อยละ 1.45 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการส่งออกในประเทศเนเธอร์แลนด์สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม2558 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2557 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2558 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 82 และส่งออกร้อยละ 18

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์หดตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศที่ลดลงชี้ให้เห็นถึงสภาวะการชะลอตัวของตลาดปูนซีเมนต์และภาคก่อสร้างในประเทศ และหากพิจารณากราฟจะเห็นว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปีนี้หดตัวลงค่อนข้างมากสำหรับมูลค่าการส่งออกชะลอตัวลงเช่นกัน เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ทั้งเมียนมาร์ กัมพูชา บังคลาเทศ และมาเลเซีย ปรับลดการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลง"
1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนกันยายน 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 6.30 และร้อยละ 6.21 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์หดตัวลงทั้งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวมลดลงแสดงให้เห็นว่าตลาดปูนซีเมนต์และภาคก่อสร้างในประเทศยังอยู่ในภาวะชะลอตัวและหากดูจากกราฟจะเห็นว่าอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ของไทยในขณะนี้หดตัวลงค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนลง จึงส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศและการผลิตลดลงตาม

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนกันยายน 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.84

เมื่อพิจารณาในภาพรวมมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา บังคลาเทศ และมาเลเซีย ต่างปรับลดปริมาณการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลง โดยปกติจะมีมูลค่าการสั่งซื้อที่เฉลี่ย 21 15 4 และ 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือนตามลำดับ ในขณะที่ในเดือนนี้มียอดสั่งซื้อเพียง 18 11 1.6 และ 0.003 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับเท่านั้น

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องแต่อาจปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย เนื่องจากเดือนตุลาคมเป็นช่วงเร่งก่อสร้างก่อนที่แรงงานจะเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเพื่อเกี่ยวข้าวในช่วงปลายปีของทุกปีประกอบกับคาดว่าปริมาณฝนที่ลดลงจะทำให้มีการเร่งก่อสร้างโครงการที่ชะลอการก่อสร้างไปในช่วงที่ฝนตกหนักเมื่อเดือนก่อนด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญต่างๆ ของไทยโดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชาจะกลับสู่ภาวะปกติซึ่งหากสามารถขยายการส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ก็จะทำให้การผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกันยายน 2558 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 7.52 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 13.23 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงทั้งในประเทศและตลาดส่งออกหลัก และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 6.29 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD ที่ปรับตัวลดลง

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือน

กันยายน 2558 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 250.70 ลดลงร้อยละ 7.52 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 115.42 ลดลงร้อยละ 13.23 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น และเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 11.61 3.01 และ 78.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง จึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.58 และ 14.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อจากสหภาพยุโรปเพิ่มมากขึ้น

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 327.43 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น HDD Monolithic IC และ Semiconductor ปรับตัวลดลง ร้อยละ 8.35 2.71 และ 10.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ก.ย. 2558
เครื่องใช้ไฟฟ้า/             (มูลค่า            %YoY
อิเล็กทรอนิกส์           ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
อุปกรณ์ประกอบของ         1,478.68          -3.70
เครื่องคอมพิวเตอร์
แผงวงจรไฟฟ้า              785.19          -1.38
เครื่องปรับอากาศ            295.68          +7.16
กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้อง       138.28         -13.38
ถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล
รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า         4,688.76          -3.81
และอิเล็กทรอนิกส์

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อ)

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกันยายน 2558 มีมูลค่า 4,688.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.81 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,876.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.82 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ลดลง ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป และจีน ลดลงร้อยละ 4.53 0.08 และ 9.74 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.78 และ 0.78 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 295.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.16 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.27 และ 135.91 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน รวมถึงตะวันออกกลางปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.03 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตะวันออกกลางกำลังจะมีการปรับเพิ่มค่าประสิทธิภาพพลังงาน (EER) ทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้นเพื่อเก็บเป็นสต๊อค สินค้ารองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล มีมูลค่า 138.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.38 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวลดลง สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีมูลค่า 125.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.30 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน โดยการส่งออกไปสหภาพยุโรป ลดลงถึงร้อยละ 68.24 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ตลาดหลักอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.29 และ 61.11 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,812.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.81 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง คือ อาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 8.07 7.02 และ 6.45 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,478.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.70 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปสหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.69 25.79 และ 13.79 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.99 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 785.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.38 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปอาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 12.71 11.04 0.30 และ 3.50 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้น จีน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 182.03 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนตุลาคม2558 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 13.84 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะลดลงร้อยละ 10.43 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดในประเทศ และการส่งออกไปสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 15.55 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD ลดลงตามความต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีการปรับตัวลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ