สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2558 (กรกฎาคม - กันยายน 2558)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 19, 2015 14:31 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาส 3 ปี 2558 เศรษฐกิจโลกขยายตัวแต่เศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวต่อเนื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่มีเสถียรภาพอัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 3 ปี 2558 อยู่ที่ 46.1 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ 97.0 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มราคาลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนธันวาคม (ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2558) อยู่ที่ 43.9 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้าเล็กน้อย เนื่องจากกลุ่ม OPEC ยังคงผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาด

ส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 โดยปัจจัยที่ทำให้ชะลอตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 คือการหดตัวต่อเนื่องของการผลิตในภาคเกษตรโดยเฉพาะหมวดพืชผลขณะที่ภาคนอกเกษตรชะลอลง เนื่องจากสาขาอุตสาหกรรมที่หดตัวประกอบกับสาขาก่อสร้างชะลอลง ส่วนภาคบริการต่างๆ ยังคงขยายตัว

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 หดตัวร้อยละ 0.7 หดตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 และทรงตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 0.7 เช่นกัน โดยเป็นผลมาจากการส่งออกลดลง และความต้องการในประเทศขยายตัวต่ำ โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงประกอบด้วย อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ยานยนต์ สิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 2.7-3.2 จากปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.9

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวลง เนื่องจากทั้งการส่งออกและการนำเข้ามีมูลค่าลดลง โดยการส่งออกใน ไตรมาสที่ 3 นี้มีมูลค่าลดลงร้อยละ 5.26 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสำหรับการนำเข้ามีมูลค่าลดลงร้อยละ 15.27 โดยการค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 3 มีมูลค่าทั้งสิ้น 105,129.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 54,707.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯและมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 50,421.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 นั้น มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.27 สำหรับมูลค่าการนำเข้ายังคงลดลงต่อเนื่องที่ระดับร้อยละ 1.99 สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 3 นี้อยู่ในสภาวะเกินดุลการค้าโดยมีมูลค่า 4,285.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทยการลงทุนสุทธิในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมมีมูลค่ารวม48,294.5 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่า 33,418.0 ล้านบาท สำหรับเดือนสิงหาคมมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 14,876.5 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 8,266.6 ล้านบาท และในเดือนสิงหาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 7,787.5 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 16,054.0 ล้านบาทลดลงร้อยละ 20.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 20,149.5 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2558 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOl มีจำนวนทั้งสิ้น 515 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 452 โครงการ การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 252,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 243,240 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 176 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 52,420 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 123 โครงการ เป็นเงินลงทุน 136,170 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 216 โครงการ เป็นเงินลงทุน 64,350 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนพบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดกิจการบริการ และสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 89,480 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดการผลิตเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษมีเงินลงทุน 61,860 ล้านบาท และหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 38,610 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดคือ ประเทศญี่ปุ่นโดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 97 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 29,708 ล้านบาท รองลงมาคือประเทศสิงคโปร์ได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 34 โครงการ มีเงินลงทุน 19,526 ล้านบาท ประเทศมาเลเซียมีจำนวน 8 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 19,193 ล้านบาท และประเทศจีนมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 24 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 18,054 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า การผลิตเหล็กของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีปริมาณ 1,929,984 เมตริกตันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีปริมาณ 4,094,250 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.00 โดยมาจากเหล็กทรงยาวที่มีความตองการใช้ในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.98 สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีมูลค่า 1,930.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 16.41 สำหรับการส่งออก มูลค่าการส่งออก ประมาณ 149.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 36.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2558 คาดการณ์ว่าการผลิต จะชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยที่ยังคงทรงตัวอยู่ ประกอบกับราคาเหล็กในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลงจึงทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องนำเข้าเหล็กมากกว่าที่จะใช้ที่ผลิตในประเทศโดยในส่วนของอุตสาหกรรมเหล็กทรงยาวซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมก่อสร้าง คาดการณ์ว่าการผลิตจะทรงตัว เนื่องจากคาดการณ์ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะทรงตัวจากการที่คอนโดมิเนียมล้นตลาดโดยเฉพาะในส่วนที่ติดรถไฟฟ้าที่ไม่ใช่ย่านธุรกิจ สำหรับเหล็กทรงแบนซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมยานยนต์,เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรกล คาดการณ์ว่าในส่วนของความต้องการใช้ในประเทศจะเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการนำเข้าไม่ใช่การผลิตในประเทศ ส่งผลให้การผลิตเหล็กทรงแบนในประเทศสำหรับไตรมาส 4 ปี 2558 ลดลง

ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 (ก.ค.-ก.ย.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 496,508คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 456,435 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.78 โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 191,232 คัน รถปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 295,837 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 9,439 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.93,7.94 และ 81.90 ตามลำดับ

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเนื่องจากเป็นฤดูกาลขายรถยนต์ทำให้บริษัทรถยนต์แต่ละค่ายจัดส่งเสริมการตลาดประกอบกับการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ เพื่อกระตุ้นตลาดในประเทศสำหรับประมาณการของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2558 จากข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,000,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.38 โดยแบ่งเป็น การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 800,000 คัน ลดลงร้อยละ 9.25และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,200,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.37

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2558 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 230.96ลดลงร้อยละ 0.39 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 19.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 14.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะกำลังซื้อในประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วยรวมถึงได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว (ยุโรป และญี่ปุ่น) นอกจากนี้เครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 20.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวลดลงของ Hard disk drive เป็นหลัก ตามความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลลดลงและหันไปใช้แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2558 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวลดลงร้อยละ 13.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะลดลงร้อยละ 7.19 ซึ่งมาจากการชะลอตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลักของไทยโดยเฉพาะสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 16.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิต HDD จะนำไปใช้ในกลุ่ม Cloud Storage และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่มากขึ้นแทนตลาดคอมพิวเตอร์ ทำให้ปริมาณการผลิตไม่มากเท่ากับที่ผ่านมา

เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 มีมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะจีนและอาเซียน ประกอบกับความเชื่อมั่นด้านการบริโภคภายในประเทศ

แนวโน้มไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีแนวโน้มหดตัว เนื่องจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและประเทศคู่ค้า ที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

พลาสติก อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 3ปี 2558เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนพบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก ลดลงร้อยละ 2.91และดัชนีส่งสินค้าลดลงร้อยละ4.81 ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวจากภาวะภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อรายได้และหนี้สินของครัวเรือนโดยเฉพาะเกษตรกรในต่างจังหวัดประกอบกับปัญหาราคาสินค้าเกษตรกรตกต่ำทำให้ความ

ต้องการซื้อในตลาดชะลอตัวลงอีกทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน และกลุ่มประเทศอาเซียน

แนวโน้มไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 คาดว่าอุตสาหกรรมพลาสติกจะได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออกเนื่องจาก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าค่อนข้างชะลอตัวอย่างไรก็ตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อให้เม็ดเงินกระจายสู่เศรษฐกิจภูมิภาคได้ทันในปีนี้น่าจะเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่ให้ตกอยู่ในภาวะชะลอตัวประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีการฟี้นตัวในปลายปีนี้โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งราคาน้ำมันที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการของผลิตภัณฑ์พลาสติกมีแนวโน้มลดลง

ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 3ปี 2558มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าเกิดจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตในต่างประเทศ ทำให้ลดการพึ่งพิงจากต่างประเทศลง โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก ได้เริ่มทยอยเปิดดำเนินการโครงการในประเทศ ทำให้ลดการพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากไทยลงอย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบางโดยเฉพาะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาและจีน ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี2558 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2557 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยได้แก่ ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวลดลง อย่างไรก็ตามสภาวะทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริการวมทั้งภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตาม ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อม โดยการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกและลดความเสี่ยงโดยการพัฒนาไปสู่การผลิตสินค้าปิโตรเคมีเกรดพิเศษเพิ่มมากขึ้น

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.76 0.62 และ 8.12 ตามลำดับ เป็นผลมาจากความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ เช่น เครื่องสำอาง กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งขยายตัวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของภาครัฐ สำหรับกระดาษลูกฟูกมีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 4.60 เนื่องจากความต้องการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อการส่งออกลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เช่นเดียวกับกระดาษพิมพ์เขียน ซึ่งมีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 5.88 จากความต้องการของผู้บริโภคลดลง

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2558 คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ อาจขยายตัวตามความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อรองรับเทศกาลสำคัญในช่วงปลายปีและเพื่อการส่งออก โดยมีปัจจัยสนับสนุนและส่งเสริมจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอาจส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2558 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 39.77 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 5.71 และ 3.91 ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว จากปัญหาค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ปัญหาภัยแล้ง และราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.80 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สามารถเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 2.27 ในขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ ยังคงลดลงร้อยละ 7.22

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2558 ทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่จะเริ่มมีผลในเดือนตุลาคม 2558 อย่างไรก็ตาม ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และรายได้ภาคเกษตรที่ตกต่ำ อาจส่งผลให้การปรับปรุงซ่อมแซมบ้านต้องชะลอออกไปอีกระยะหนึ่งและทำให้การขยายตัวของตลาดเซรามิกที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างอาจไม่สูงมากนัก

ปูนซีเมนต์การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.42 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.82 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 1.41 และ 0.47 ตามลำดับ สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณลดลงร้อยละ 5.57 และ3.63 ตามลำดับ ในภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์หดตัวลงจากภาวะการชะลอตัวของตลาดในประเทศประกอบกับภาคก่อสร้างของไทยยังไม่ขยายตัวทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องจากช่วงต้นปี

แนวโน้มการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 คาดว่าจะมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น เนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของทุกปี เป็นช่วงเร่งก่อสร้างก่อนที่จะเข้าสู่ปลายปีซึ่งเป็นช่วงที่แรงงานต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเกี่ยวข้าว ประกอบกับในช่วงไตรมาสที่ 3 มีฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์ทำให้การก่อสร้างส่วนหนึ่งชะลอตัวลงจึงน่าจะมีการเร่งก่อสร้างเพื่อชดเชยส่วนของช่วงไตรมาสก่อนให้แล้วเสร็จด้วย

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มสิ่งทอ สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส3 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเส้นใยสิ่งทอฯ ปรับตัวลดลงจากความต้องใช้ในประเทศเนื่องจากผู้ผลิตมีสต๊อกค่อนข้างมากในขณะที่การทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) ลดลงทั้งในส่วนการผลิตและการจำหน่าย ประกอบกับคำสั่งซื้อของตลาดส่งออกหลักลดลง โดยเฉพาะจากเวียดนาม และจีน ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลัก สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่มการผลิตลดลงทั้งในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักและผ้าทออย่างไรก็ตามการจำหน่ายในประเทศยังขยายตัวได้ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการส่งเสริมกลยุทธ์ทางการตลาดของภาคเอกชน

ไตรมาส 4ปี 2558อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่า ทั้งภาคการผลิตและการจำหน่ายจะปรับตัวตามทิศทางตลาดในประเทศที่ดีขึ้นตามฤดูกาลประกอบกับผู้ประกอบการในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้มีการปรับตัวเพื่อยกระดับสู่ขั้นตอนการผลิตที่เพิ่มมูลค่าสูงขึ้นในห่วงโซ่คุณค่า การส่งออก คาดว่า จะมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าอย่างไรก็ตามผู้ประกอบการบางส่วนมีการปรับตัวและพัฒนามูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพื่อจูงใจลูกค้าต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตชุดกีฬาที่มีคุณสมบัติพิเศษ

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ไตรมาส 3 ปี 2558 เติบโตเพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่ยังขยายตัวได้บางตลาดสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนไตรมาส 3 ปี 2558 ในภาพรวมชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ในส่วนของการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2558 ลดลงอย่างมากจากการนำเข้าวัตถุดิบไม้ซุงและไม้แปรรูป

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ไตรมาส 4 ปี 2558 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออกบางตลาดที่ยังขยายตัวได้ดีจากความต้องการสินค้าตกแต่งบ้านในช่วงปลายปีอย่างไรก็ตามในภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนไตรมาส 4 ปี 2558 ยังชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของตลาดหลักที่สำคัญในขณะที่การนำเข้าไม้และเครื่องเรือนไตรมาส 4 ปี 2558 มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกับการส่งออก

ยา ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558ปริมาณการผลิตยาเพิ่มขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศลดลงในภาพรวมอุตสาหกรรมยาขยายตัวดีขึ้นเนื่องจากมีปริมาณการผลิตยาโดยเฉพาะในส่วนของยาผงเพิ่มขึ้นจำนวนมากหลังจากที่บริษัทผู้ผลิตยาผงรายใหญ่บางรายหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อซ่อมบำรุงไปเมื่อช่วงไตรมาสก่อนซึ่งทำให้ปริมาณการผลิตยาผงลดลงค่อนข้างมากอย่างไรก็ตามปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศที่ลดลงทั้งๆที่ไตรมาสที่ 3 ของทุกปีเป็นช่วงเร่งจัดซื้อยาของโรงพยาบาลรัฐแสดงให้เห็นถึงภาวะการชะลอตัวของตลาดในประเทศซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังซบเซาอยู่ในขณะนี้

ในไตรมาสที่ 4ปี 2558 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศจะยังทรงตัวหรืออาจปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนเนื่องจากคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐจะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นได้ประกอบกับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นช่วงเร่งผลิตเพื่อส่งมอบยาตามใบสั่ง จึงคาดว่าน่าจะมีปริมาณการผลิตยาเพิ่มขึ้น

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อในภาพรวมยังขยายตัวได้ถึงแม้ว่าจะชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ในส่วนของตลาดถุงมือยางและถุงมือตรวจยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากกระแสความวิตกกังวลด้านสุขภาพอนามัยจากโรคระบาด

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมยางยานพาหนะในประเทศคาดว่าจะยังขยายตัวได้ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอย่างไรก็ตามในปีนี้การขยายตัวอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซาและการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์สำหรับการส่งออกในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต่ออายุการให้ GSP แก่สินค้าไทยออกไปอีก 4 ปี 5 เดือนโดยได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ซึ่งจะมีผลหลังจากลงนามแล้ว 30 วัน และผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิการคืนภาษีย้อนหลัง 2 ปีจากการต่ออายุ GSP ครั้งนี้

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 3 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตการฟอกและตกแต่งหนังฟอก การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และการผลิตรองเท้า ปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศลดลงตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประกอบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในการผลิตสินค้าปลายน้ำเช่น เบาะรถยนต์ ชะลอตัวตามยอดจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโครงการรถยนต์คันแรก และหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งฐานการผลิตที่สูงเมื่อปีก่อนเพราะเร่งการผลิตและส่งออกสินค้าประเภทรองเท้าและกระเป๋าให้ทันก่อนการถูกตัดสิทธิ์ GSP ในปี 2558 และการผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง

แนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2558 คาดว่า การผลิตและการส่งออกรองเท้า จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากช่วงปลายปีตามปกติจะมีปริมาณการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก อีกทั้งสินค้าผลิตภัณฑ์หนังของไทย ยังเป็นที่ต้องการของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และจีน โดยคาดว่า หากจำนวนนักท่องเที่ยวในปลายปีเพิ่มสูงขึ้นประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการวางกลยุทธ์ทางการตลาดของแบรนด์สินค้าแฟชั่นต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขาย อาจทำให้เครื่องหนังจำพวกกระเป๋าและรองเท้ามียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2558 ภาคการผลิตและการจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.45 และ 2.42 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นผลจากการได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ประกอบกับมีช่วงเทศกาลวันแม่ในเดือนสิงหาคม

แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2558 คาดว่า จะขยายตัวได้ เพื่อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลวันคริสต์มาสและวันปีใหม่และผลิตทดแทนสต๊อกสินค้าเดิมที่นำออกจำหน่ายในช่วงที่ผ่านมา แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2558 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯราคาทองคำที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้าไทยที่อาจทำให้การขยายตัวไม่เป็นไปตามที่ต้องการสำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมคาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากราคาทองคำที่ปรับตัวลดลง

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.92 จากการผลิตอุตสาหกรรมอาหารที่สำคัญ เช่น น้ำตาล ปศุสัตว์ และอาหารสัตว์ ส่วนมูลค่าการส่งออกปรับชะลอลงจากปีก่อนร้อยละ 10.86 โดยเฉพาะสินค้าประมง จากความต้องการทูน่ากระป๋องชะลอตัว ผนวกกับขาดแคลนวัตถุดิบ ผลจากการยกเลิกสัมปทานประมงของประเทศอินโดนีเซีย ระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน รวมถึงผลกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP และการทำประมงผิดกฎ lUU ของสหภาพยุโรป

คาดการณ์แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2558 คาดว่า การผลิตในภาพรวมจะมีอัตราการเติบโตเพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0-5 และการส่งออกจะมีการเติบโตร้อยละ -5.0-1.5 จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อลดลง รวมทั้งความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ