สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2558 และแนวโน้มปี 2559(อุตสาหกรรมยานยนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2016 15:38 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมรถยนต์ใน 10 เดือนแรกของปี 2558ปริมาณการผลิตชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว ประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การส่งออกมีการขยายตัว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศแถบโอเชียเนีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ โดยเป็นการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะเป็นหลัก

สถานการณ์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.) มีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวม 156โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวมกว่า 68,340.45ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 12,512คนในจำนวนนี้มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 11โครงการ คือ 1) โครงการของบริษัท สปาร์คเทค(ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนโลหะ ได้แก่METAL SHELL และชิ้นส่วนยานพาหนะ ได้แก่ SPARK PLUG มีเงินลงทุน 3,700.25 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 220 คน 2) โครงการของ MR.FUSASHI OBORA ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชุดเกียร์ส่งกำลังอัตโนมัติ (AUTOMATIC TRANSMISSION) มีเงินลงทุน 4,248.40 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 288 คน 3) โครงการของบริษัท แมกน่า ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูปและชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานพาหนะ เช่น CROSS MEMBER และ FLOOR PANEL REMFRECEMENT ASSY เป็นต้น มีเงินลงทุน 1,655.30ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 195 คน 4) โครงการของบริษัท โยโรซึ (ไทยแลนด์) จำกัดได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานพาหนะ เช่น ปีกนก เพลาหลังและโครงจับยึด เครื่องยนต์ เป็นต้นมีเงินลงทุน 1,520.00 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 158 คน 5) โครงการของบริษัท ฮิตาชิ ออโตโมทีฟ ซิสเท็มส์ เอเชีย จำกัดได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น โครงสำหรับแม่ปั๊มน้ำมันเบรกและโครงสำหรับเบรกก้ามปู เป็นต้นมีเงินลงทุน 1,000.00 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 125 คน6) โครงการของบริษัท นาชิ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัดได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น BALL BEARING เป็นต้น มีเงินลงทุน 1,246.40 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 81 คน7) โครงการของบริษัท เอ็นจีเค เซรามิกส์ ไทยแลนด์ จำกัดได้รับการส่งเสริมให้ผลิต SUBSTRATE สำหรับ CATALYTIC CONVERTER มีเงินลงทุน 10,700.00 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 610คน8) โครงการของบริษัท ไดเซล เซฟตี้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัดได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น อุปกรณ์กำเนิดก๊าซสำหรับถุงลมนิรภัย (Airbag Inflation) เป็นต้นมีเงินลงทุน 2,944.20 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 186 คน9) โครงการของบริษัท โอตานิ เรเดียลจำกัดได้รับการส่งเสริมให้ผลิตยางยานพาหนะ มีเงินลงทุน 6,555.80 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 345 คน 10) โครงการของบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ปิกอัพ (Pick-up Include PPV) มีเงินลงทุน 6,269.00 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 620 คนและ 11)โครงการของบริษัท เซนจูรี่ ไทร์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตยางยานพาหนะและยางผสม มีเงินลงทุน 5,750.00ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 335 คน (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.boi.go.th)

อุตสาหกรรมรถยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์1,430,994คันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการผลิต 1,568,300 คัน ลดลงร้อยละ 8.76โดยมีปริมาณการผลิตรถยนต์นั่ง 585,504คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์820,473คัน ลดลงร้อยละ4.68 และ 12.46 ตามลำดับ ส่วนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 25,017คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.82เมื่อพิจารณาปริมาณการผลิตโดยรวม พบว่า เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกจำนวน 1,019,576 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.25 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์เพื่อการส่งออกร้อยละ 60.84 และการผลิตรถยนต์นั่งเพื่อการส่งออกร้อยละ 39.16 สำหรับรถยนต์นั่งที่มีการผลิตเพื่อการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล รองลงมาคือ รถยนต์นั่งที่มีขนาดเครื่อง 1,201-1,500 ซี.ซี.และรถยนต์นั่งที่มีขนาดเครื่อง 1,501-1,800 ซี.ซี. ตามลำดับ

การจำหน่าย ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.) มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ 553,832คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 22.97โดยแบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 214,462คันรถปิกอัพ 1 ตัน 235,393คันรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 34,171คันและรถยนต์ PPV (รวมรถยนต์ SUV) 69,806คัน ลดลงร้อยละ 29.37, 22.39, 14.54และ 3.18ตามลำดับ

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.) มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ (CBU) จำนวน 1,016,595คันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.03โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมีมูลค่า 491,519.97 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.67

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 มีมูลค่า 7,292.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.74ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถยนต์นั่งในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 20.56, 14.13และ 6.02 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถยนต์นั่งไปออสเตรเลียและฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.98และ 34.53ตามลำดับ แต่การส่งออกรถยนต์นั่งไปอินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 26.13

มูลค่าการส่งออกรถแวนของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558มีมูลค่า 223.24ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 37.53ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถแวนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 56.23, 14.21 และ 8.66 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถแวนไปญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ลดลงร้อยละ 37.02, 44.28 และ 24.72 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุกของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 มีมูลค่า 7,120.02ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 18.07 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 ได้แก่ ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย และนิวซีแลนด์ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 30.68, 11.07 และ 5.65 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุกไปออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.93 และ 13.22ตามลำดับ แต่การส่งออกรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุกไปซาอุดิอาระเบีย ลดลงร้อยละ 22.82

การนำเข้าจากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการนำเข้ารถยนต์นั่งของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558(ม.ค.ต.ค.) มีมูลค่า 761.15ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 29.65 แหล่งนำเข้าสำคัญของรถยนต์นั่งในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี และมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 30.40, 18.56และ 18.01 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์นั่งจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.73แต่การนำเข้ารถยนต์นั่งจากเยอรมนี และมาเลเซียลดลงร้อยละ31.07และ 34.77 ตามลำดับ

มูลค่าการนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558(ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 327.10 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 19.48 แหล่งนำเข้าสำคัญของรถยนต์โดยสารและรถบรรทุกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และจีน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 23.73,19.64และ 18.16 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกจากญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 17.92 แต่การนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกจากอินโดนีเซีย และจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ33.50และ 60.31ตามลำดับ

สรุปและแนวโน้มรถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ใน 10 เดือนแรกของปี 2558 ปริมาณการผลิตชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว ประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การส่งออกมีการขยายตัว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศแถบโอเชียเนีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ โดยเป็นการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะเป็นหลัก

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2559 คาดว่า การผลิตรถยนต์ประมาณ 2,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 900,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.67 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,250,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.17 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2559จะขยายตัวกว่าร้อยละ 3.7 และตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 40-45 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 55-60

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 1,521,140คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 1.22เป็นการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 1,212,349คัน ลดลงร้อยละ 2.59แต่มีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 308,791คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ4.51

การจำหน่ายปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 1,394,769คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 4.50 โดยเป็นการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 702,179คัน และรถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์ 505,889คัน ลดลงร้อยละ 4.98 และ 9.81 ตามลำดับ แต่มีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 186,701คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.23

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 759,335คัน (เป็นการส่งออก CBU จำนวน 287,797 คัน และ CKD จำนวน 471,538 ชุด)เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.78โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมีมูลค่า37,540.48ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.67

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.)มีมูลค่า 941.65ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ7.62ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถจักรยานยนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 ได้แก่ สหรัฐอเมริกาสหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 16.38, 11.77 และ 10.75 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถจักรยานยนต์ไปสหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.82 และ 26.50 ตามลำดับแต่การส่งออกไปสหราชอาณาจักรมีมูลค่าลดลงร้อยละ5.27

การนำเข้าจากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการนำเข้ารถจักรยานยนต์ของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.)มีมูลค่า177.87ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.78 แหล่งนำเข้ารถจักรยานยนต์ที่สำคัญในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 41.34, 32.91 และ 11.47 ตามลำดับ โดยมีการนำเข้ารถจักรยานยนต์จากอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 732.87 แต่การนำเข้ารถจักรยานยนต์จากเวียดนามและญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 15.25 และ 8.90 ตามลำดับ

สรุปและแนวโน้ม รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 การผลิตรถจักรยานยนต์ชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสาเหตุสำคัญเนื่องจากความต้องการของตลาดในประเทศลดลง ซึ่งสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศและหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงรวมทั้งภาวะภัยแล้งที่ยาวนานและราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ

สำหรับอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ของปี 2559การผลิตจะขยายตัว ประมาณร้อยละ 10 หรือคิดเป็นปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ประมาณ2,000,000 คัน เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 85-90และการผลิตเพื่อการส่งออกร้อยละ 10-15

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 160,687.26ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ2.88 ส่วนการส่งออกเครื่องยนต์ มีมูลค่า 24,963.33ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.06แต่การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ 19,228.95ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.16

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 6,774.50 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.32 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วน การส่งออกร้อยละ 12.69, 11.53 และ 9.81 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ไปญี่ปุ่น และมาเลเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.92 และ 5.58 ตามลำดับ แต่การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ไปอินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 21.98

การส่งออกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.)มีมูลค่า 2,512.59 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 42.84การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีมูลค่า 1,058.47ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.36

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 มีมูลค่า 494.53 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 16.91 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 ได้แก่ กัมพูชา บราซิล และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 19.51, 16.99 และ 9.41 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ไปกัมพูชา เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.99 แต่การส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ไปบราซิลและอินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 21.22 และ 30.40 ตามลำดับ

การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 มีมูลค่า 8,295.13 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.93 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ที่สำคัญในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 35.18, 23.82 และ 5.55 ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์จากญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 8.11 แต่การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์จากจีนและสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.18 และ 3.88 ตามลำดับ

การนำเข้าชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ฯ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 มีมูลค่า 443.21ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.45 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯที่สำคัญในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 24.62 ,19.22 และ 10.24 ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ จากญี่ปุ่น และเวียดนาม ลดลงร้อยละ 10.47 และ 3.20 ตามลำดับ แต่การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ จากจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.74

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558ได้มีประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบการกำหนดรายการสินค้าและบริการควบคุมปี 2558 จำนวน 43 รายการ ตามมติของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งครอบคลุมสินค้าที่สำคัญ จำแนกเป็น 40 สินค้า 3 บริการ โดยในหมวดบริภัณฑ์ขนส่งมีสินค้ายานยนต์ จำนวน 3 รายการ คือ (1) แบตเตอรี่รถยนต์ (2) ยางรถจักรยานยนต์และยางรถยนต์ และ(3) รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก (รายละเอียดเพิ่มเติมที่www.thaigov.go.th)

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ได้มีประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระจกนิรภัยสำหรับยานยนต์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาดังนี้

1. กำหนดให้พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 365 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

2. กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระจกนิรภัยสำหรับรถยนต์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน (รายละเอียดเพิ่มเติมที่www.thaigov.go.th)

เมื่อวันที่14 กรกฎาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การเพิกถอนทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ. ....ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงดังนี้

1. กำหนดให้กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การเพิกถอนทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ. 2553

2. กำหนดให้นายทะเบียนในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบที่มีที่ตั้งสถานที่รอรับคนโดยสารมีอำนาจเพิกถอนทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะในกรณีที่ผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์สาธารณะได้

3. กำหนดให้นายทะเบียนในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบที่มีที่ตั้งสถานที่รอรับคนโดยสารมีอำนาจเพิกถอนทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะในกรณีที่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการว่าผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้

3.1 ใช้หนังสือรับรองการใช้รถจักรยานยนต์สาธารณะปลอมเป็นหลักฐานประกอบการขอจดทะเบียนรถหรือเปลี่ยนประเภทรถ

3.2 กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการในส่วนที่เกี่ยวกับสถานที่รอรับคนโดยสาร เส้นทาง หรือท้องที่ในการรับจ้างหรือค่าจ้างหรือค่าบริการอื่น

3.3 กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดและถูกคณะกรรมการถอดชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้ขับรถในสถานที่รอรับคนโดยสารที่ผู้นั้นขับอยู่ เช่น ให้บุคคลอื่นเช่า ซื้อ หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อให้ผู้อื่นขับรถของตนเพื่อการรับจ้างหรือใช้เสื้อกั๊กหรือเสื้อคลุมของตนในการรับจ้าง ไม่ขับรถของตนเพื่อการรับจ้างติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า 6 เดือน หรือในรอบระยะเวลา 1 ปี นำรถของตนไปรับจ้างในสถานที่รอรับคนโดยสารอื่นที่ตนเองไม่มีชื่ออยู่ในบัญชี

3.4 ถูกคณะกรรมการถอดชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้ขับรถในสถานที่รอรับคนโดยสารที่ผู้นั้นขับรถอยู่เนื่องจากเหตุดังนี้ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเลิกประกอบอาชีพ ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายที่กำหนดไว้

4. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้งเหตุแห่งการเพิกถอน รวมทั้งการตรวจสอบและการพิจารณาของนายทะเบียนเมื่อได้รับหนังสือแจ้งจากคณะกรรมการ

5. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการมีคำสั่งเพิกถอนหรือไม่มีคำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียน รวมทั้งการดำเนินการของผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะเมื่อได้รับคำสั่งเพิกถอนทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะ (รายละเอียดเพิ่มเติมที่www.thaigov.go.th)

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการรับมอบรถยนต์ตามโครงการรถยนต์คันแรกตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง

1. เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 กำหนดระยะเวลาตามโครงการรถยนต์คันแรกไว้ชัดเจนตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ซึ่งผลการดำเนินงานตามโครงการรถยนต์คันแรก มีผู้ขอใช้สิทธิ์จำนวน 1,259,113 ราย คิดเป็นเงินจำนวน92,812 ล้านบาท โดยผู้ที่อยู่ในสถานะขอใช้สิทธิในปัจจุบัน จำนวน 1,234,773 ราย คิดเป็นเงินจำนวน 91,125 ล้านบาท และปัจจุบันมีผู้ยังไม่ได้ยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม จำนวน 111,481 ราย

2. กค. จึงเห็นควรกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการรับมอบรถยนต์ตามโครงการรถยนต์คันแรก โดยผู้ขอใช้สิทธิที่จะได้รับสิทธิตามโครงการฯ จะต้องรับมอบรถยนต์ภายในวันที่ 30 กันยายน 2558 ส่วนการยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้ยื่นภายใน 90 วัน นับถัดจากวันรับมอบรถยนต์ตามที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ทั้งนี้ หากรับมอบรถยนต์ภายหลังวันที่ 30 กันยายน 2558 ให้ถือว่าไม่ได้รับสิทธิตามโครงการฯ นี้ และจะเรียกร้องสิทธิและค่าเสียหายใด ๆ กับทางราชการไม่ได้ (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.thaigov.go.th)

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเรื่อง นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอโดยเห็นชอบนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ต่อไป และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ให้เป็นรูปธรรม และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานงานการพัฒนาในแต่ละคลัสเตอร์ โดยมีสาระสำคัญของเรื่อง ดังนี้

1. นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางการดำเนินนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ (1) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนสำหรับธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นบริเวณชายแดนหรือประเทศเพื่อนบ้าน และธุรกิจด้านโลจิสติกส์ และ (2) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งจะอยู่บริเวณพื้นที่ตอนใน สำหรับธุรกิจที่ไม่เหมาะสมกับชายแดน เช่น กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้แรงงานน้อย ในการนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (ขนพ.) และรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้มอบหมายให้ สกท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรทมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ อก. จัดทำข้อเสนอนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ โดยเน้นคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพและมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

2. การพัฒนาคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพในระยะแรก ประกอบด้วย คลัสเตอร์สิ่งทอ คลัสเตอร์ไอที คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ คลัสเตอร์แปรรูปอาหาร และคลัสเตอร์แปรรูปยางพารา (ไม่รวมไม้ย่าง)

3. วัตถุประสงค์ของการพัฒนาคลัสเตอร์ มีดังนี้

3.1 เพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) และนำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

3.2 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการลงทุนของประเทศไทย เพื่อดึงดูดการลงทุนที่มีคุณค่า ทั้งจากนักลงทุนรายเดิมและรายใหม่

3.3 เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs

4. การกำหนดคลัสเตอร์เป้าหมายในระยะแรก ได้แก่

4.1 Super Cluster เป็นคลัสเตอร์สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคลัสเตอร์ดิจิทัล

4.2 คลัสเตอร์เป้าหมายอื่น ๆ ได้แก่ คลัสเตอร์เกษตรแปรรูปและคลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

4.3 กิจการเป้าหมายที่จะส่งเสริมเป็นพิเศษ ในแต่ละคลัสเตอร์ ประกอบด้วย 2 กลุ่มที่สำคัญ ดังนี้

(1) โครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคลัสเตอร์ ได้แก่ กิจการฐานความรู้ และกิจการโลจิสติกส์

(2) กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตที่มีความสำคัญสูง ได้แก่ กิจการต้นน้ำที่สำคัญของแต่ละคลัสเตอร์ อุตสาหกรรมสนับสนุนที่จะส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

5. ในการดำเนินนโยบายคลัสเตอร์ให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งช่วยยกระดับคลัสเตอร์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น มาตรการที่สำคัญ ได้แก่ การให้สิทธิประโยชน์ การพัฒนาคนและเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และการสนับสนุนเงินทุน

6. ในส่วนของสิทธิประโยชน์สำหรับคลัสเตอร์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) สิทธิประโยชน์สำหรับ Super Cluster รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล (2) สิทธิประโยชน์สำหรับกลุ่มคลัสเตอร์อื่น ๆ และ (3) สิทธิประโยชน์สำหรับกิจการสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ (รายละเอียดเพิ่มเติมที่www.thaigov.go.th)

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

1. กำหนดเพิ่มเติมค่าธรรมเนียมเครื่องหมายแสดงการใช้รถและค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้รถ โดยให้มีอัตราค่าธรรมเนียมใช้ในการจัดเก็บกรณีนำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศมาใช้ในประเทศไทย

2. แก้ไขค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลชั่วคราวชนิดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าของค่าธรรมเนียมเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายอายุในอนุญาตขับรถชนิดชั่วคราวจาก 1 ปีเป็น 2 ปี

3. กำหนดให้กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (รายละเอียดเพิ่มเติมที่www.thaigov.go.th)

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ