สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2558 (ตุลาคม - ธันวาคม 2558)(อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2016 16:26 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า กำลังซื้อในประเทศที่หดตัว จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและภาวะภัยแล้ง มีผลต่อเนื่องต่อความต้องการใช้ปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ ส่วนไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 คาดว่าอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และการลงทุนของภาคเอกชน

การตลาด

การส่งออก

การส่งออกเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีมูลค่ารวม 1,657 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2557 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2558 ลดลงร้อยละ 4.45

1. เคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่าส่งออก 875 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.64 ผลิตภัณฑ์สำคัญที่ส่งผลให้การส่งออกลดลงในไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเคมีภัณฑ์อนินทรีย์

1.1 เคมีภัณฑ์อินทรีย์ มีมูลค่าส่งออก 521 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 26.79 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.94 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศอินเดีย คิดเป็นร้อยละ 31.08 7.01 และ 6.83 ตามลำดับ

1.2 เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด มีมูลค่าส่งออก 223 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.10 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.50 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ญี่ปุ่น และประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คิดเป็นร้อยละ 14.04 13.10 และ 12.39 ตามลำดับ

2. เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่าส่งออก 781 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 8.84 ผลิตภัณฑ์สำคัญที่ส่งผลให้การส่งออกลดลงในไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ได้แก่ ปุ๋ยเคมี สี และเครื่องสำอาง

2.1 ปุ๋ยเคมี มีมูลค่าส่งออก 36.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.85 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า และประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ คิดเป็นร้อยละ 30.21 28.21 และ 27.73 ตามลำดับ

2.2 สี มีมูลค่าส่งออก 148.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 0.39 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน คิดเป็นร้อยละ 10.95 9.73 และ 9.50 ตามลำดับ

2.3 เครื่องสำอาง มีมูลค่าส่งออก 431.41 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 11.35 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 0.35 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย คิดเป็นร้อยละ 22.74 8.59 และ 8.32 ตามลำดับ

การนำเข้า

การนำเข้าเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีมูลค่ารวม 2,845 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 14.51 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2557 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2556 ลดลงร้อยละ 18.34

1. เคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่าการนำเข้า 1,707.02 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 9.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ21.05 ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้การนำเข้าลดลงในไตรมาสนี้ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด

1.1 เคมีภัณฑ์อินทรีย์ มีมูลค่านำเข้า 708.21 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.38 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 26.08 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐสิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 25.19 9.46 และ 7.82 ตามลำดับ

1.2 เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด มีมูลค่านำเข้า 618.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.36 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 14.48 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 22.54 17.79 และ 14.18 ตามลำดับ

2. เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่านำเข้า 1,137.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 20.50 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 13.92 ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้การนำเข้าลดลงในไตรมาสนี้ ได้แก่ ปุ๋ยเคมี สี เครื่องสำอาง และสารลดแรงตึงผิว

2.1 ปุ๋ยเคมี มีมูลค่านำเข้า 309.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 40.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 30.97 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหพันธรัฐรัสเซีย ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย และ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน คิดเป็นร้อยละ 18.31 17.75 และ 15.44 ตามลำดับ

2.2 สี มีมูลค่านำเข้า 322.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.19 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 6.86 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และ สหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 22.05 18.36 และ 7.14 ตามลำดับ

2.3 สารลดแรงตึงผิว มีมูลค่านำเข้า 164.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 9.10 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 12.97 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีน คิดเป็นร้อยละ 20.41 14.49 และ 11.58 ตามลำดับ

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และแนวโน้ม

การส่งออกเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีมูลค่ารวม 1,657 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เครื่องสำอางและเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด คิดเป็นประมาณร้อยละ29.08 24.62 และ17.57 ตามลำดับ

การนำเข้าเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีมูลค่ารวม 2,845 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด และเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ คิดเป็นประมาณร้อยละ 26.32 22.58 และ 12.33 ตามลำดับ

แนวโน้มไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และการลงทุนของภาคเอกชน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ