สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2559 (เมษายน - มิถุนายน 2559)(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2016 16:34 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 61.69ปัจจัยหลักจากการเข้าสู่ฤดูกาลปิดหีบอ้อยของสินค้าน้ำตาล และหากไม่รวมการผลิตน้ำตาลปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 11.93 จากการปรับลดการผลิตกลุ่มสินค้าสำคัญ เช่น ธัญพืชและแป้ง และปศุสัตว์ และหากเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 10.73จากปริมาณน้ำตาลที่ลดลง เนื่องจากภัยแล้งส่งผลให้วัตถุดิบลดลง แต่หากไม่รวมการผลิตน้ำตาลปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.82เป็นผลจากการผลิตสินค้าที่สำคัญลดลง เช่นมันเส้น น้ำมันปาล์มไก่แปรรูปและทูน่ากระป๋อง เป็นต้น รวมถึงการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้า คือ จีน และญี่ปุ่น จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว จึงต้องเฝ้าระวังปัจจัยลบ จากผลกระทบของBrexit ผ่านค่าเงินปอนด์สเตอริง และยูโรที่อ่อนค่าลงนโยบายของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการระบายสต๊อกข้าวโพด การสิ้นสุดแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบสำคัญ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การแข่งขันด้านราคาในตลาดโลก รวมทั้งระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมันจะทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 10.73และ 61.69 (ตารางที่ 1) เนื่องจากการผลิตลดลงในกลุ่มสินค้าสำคัญ คือ น้ำตาลทราย ปศุสัตว์ และ ธัญพืชและแป้ง ส่งผลต่อภาพรวมการส่งออกครึ่งแรกของปี 2559 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 7.32สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญสรุปได้ดังนี้

กลุ่มน้ำตาลทราย ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2559ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 25.32 และ 82.71 เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง และการเข้าสู่ฤดูกาลปิดหีบอ้อยที่เร็วขึ้นกว่าปีก่อน ส่งผลต่อภาพรวมการผลิตครึ่งแรกของปี 2559 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 12.92

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2559ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 0.13 และ 2.44 ตามลำดับเนื่องจากผู้ผลิตปรับลดกำลังการผลิตจากอุปทานส่วนเกิน (Over Supply) ต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา และผลกระทบจากราคาที่ปรับตัวลดลง สำหรับภาพรวมการผลิตครึ่งแรกของปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.16

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้งช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2559ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 18.27 และ 61.36 ตามลำดับได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังเข้าสู่โรงงานแปรรูปลดลงการผลิตแป้งมันสำปะหลังลดลง และส่งผลกระทบต่อการผลิตภาพรวมครึ่งแรกของปี 2559 โดยปรับตัวลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.03

กลุ่มแปรรูปประมงช่วงไตรมาสที่ 2ปี 2559 ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.11 ผลจากการขาดแคลนวัตถุดิบเนื่องจากการยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (lUU Fishing) จากสหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองแก่ไทยแต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 3.20 จากปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ได้คลี่คลายลงและคำสั่งซื้อกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง และ กุ้งแปรรูป ของประเทศผู้นำเข้าเพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตภาพรวมครึ่งแรกของปี 2559 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 7.77

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.40เป็นผลจากกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 3.89 เป็นผลจากภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตลดลงไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด สำหรับภาพรวมการผลิตครึ่งแรกของปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 15.52

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศได้แก่น้ำมันพืชปริมาณการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.87 เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้ง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ1.73ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตน้ำมันถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันถั่วเหลืองใกล้เคียงกับน้ำมันปาล์ม ทาให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองแทนแต่ภาพรวมครึ่งแรกของปี2559 การผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.67ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลง สำหรับผลิตภัณฑ์นมการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2559ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 3.41 และ 1.05ตามลำดับ ส่งผลต่อภาพรวมครึ่งแรกของปี2559ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.78นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ ในช่วงไตรมาสที่2 ของปี 2559การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.11 แต่ปรับลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 0.38สำหรับภาพรวมการผลิตอาหารสัตว์ครึ่งแรกของปี2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.71

หากพิจารณาข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร การประกอบกิจการในช่วง ไตรมาส 2 ปี 2559 พบว่ามีโรงงานปิดกิจการเพิ่มเป็นจำนวน20โรง แบ่งเป็น โรงสีข้าว โรงฆ่าสัตว์ และกิจการผลิตน้ำแข็ง เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีการประกอบกิจการใหม่ จำนวน117โรง แบ่งเป็นประเภทกิจการผลิตมันเส้น กิจการแปรรูปอาหารทะเล กิจการผลิตน้ำแข็ง และกิจการผลิตอาหารสัตว์เป็นต้น โดยปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารจำนวนทั้งสิ้น 8,617โรง

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาล) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 3.60 และ 5.21 (ตารางที่ 2) จากการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าสำคัญ เช่น อาหารสัตว์ผลิตภัณฑ์นมและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ส่วนการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 6.51 และ 15.32 สำหรับการจำหน่ายภาพรวมครึ่งแรกของปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.14

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2559การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารมีมูลค่ารวม 6,437.79 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ6.39 และ 0.89 ตามลำดับ(ตารางที่ 3)จากการส่งออกที่ลดลงในกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าวและธัญพืช น้ำตาลทราย ปศุสัตว์ และอาหารอื่นๆ โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช ช่วงไตรมาสที่ 2มีมูลค่าการส่งออกรวม2,104.76 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 17.72 และ 14.83 ตามลำดับ โดยจีนเป็นผู้นำเข้ามันเส้นรายใหญ่ชะลอคำสั่งซื้อจากไทย ด้วยการเร่งระบายสต็อกข้าวโพดกว่า 150 ล้านตัน เพื่อใช้ผลิตเอทานอลแทนมันเส้น และการสิ้นสุดแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบสำคัญ ประกอบกับจีนหันไปนำเข้ามันเส้นจากเวียดนาม และกัมพูชาเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนและคุณภาพที่ดีกว่าไทย ส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกภาพรวมครึ่งแรกของปี 2559 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 9.30

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย ช่วงไตรมาสที่ 2มีมูลค่าการส่งออกรวม 655.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 11.12 และ 8.05 ตามลำดับ เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ปริมาณอ้อยไม่เพียงพอต่อการส่งออก สำหรับการส่งออกภาพรวมครึ่งแรกของปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.17 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกไปยังอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดหลักเพิ่มขึ้นทดแทนการนำเข้าจากบราซิลจึงส่งผลให้การส่งออกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 2มีมูลค่าการส่งออกรวม738.09 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.83 จากระดับราคาที่ชะลอตัวลงและการชะลอคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้า หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.14 เนื่องจากแนวโน้มการลดการผลิตของประเทศคู่แข่งที่สำคัญอย่างบราซิล และจีนส่งผลให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกภาพรวมครึ่งแรกของปี 2559 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.55

กลุ่มประมงช่วงไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,373.71ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 5.02และ 11.97ตามลำดับ( แช่เย็น แช่แข็ง) และอาหารทะเลแปรรูป โดยเป็นการเพิ่มในกลุ่มสินค้าอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง (กุ้งสด กุ้งแปรรูป) จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศผู้นำเข้าหลัก และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวแต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัวกำลังซื้อที่ยังเติบโตได้ไม่มากนักขณะที่ทูน่ากระป๋องมีความต้องการชะลอตัวรวมถึงระดับราคาที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกภาพรวมครึ่งแรกของปี2559 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.28

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ช่วงไตรมาสที่ 2มีมูลค่าการส่งออกรวม1,122.51 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 5.65 และ 21.21ตามลำดับ จากการส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มผลไม้กระป๋องและแปรรูป เช่น สับปะรดกระป๋อง น้ำผลไม้และทุเรียนสดเพิ่มขึ้นทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นส่งผลต่อเนื่องสู่ภาพรวมครึ่งแรกของปี2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.39

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ช่วงไตรมาสที่ 2มีมูลค่าการส่งออกรวม443.15 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.75 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ5.23เป็นผลจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทนมและผลิตภัณฑ์นมโกโก้และของปรุงแต่งและไอศกรีมสำหรับมูลค่าการส่งออกภาพรวมครึ่งแรกของปี2559ยังปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.43

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 2ปี 2559มีมูลค่าการนำเข้ารวม3,438.02ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 14.00และ 1.54 ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น คือ ปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็งเนื่องจากความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การนำเข้าอุตสาหกรรมอาหารครึ่งแรกของปี2559การนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 12.90 โดยเป็นการนำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง และเมล็ดพืชน้ำมันเพิ่มขึ้นส่วนการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อบริโภค เช่น นมและผลิตภัณฑ์มีการนำเข้าลดลงเล็กน้อยเป็นผลจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมลดลงจากปีก่อนร้อยละ 10.73เนื่องจากการผลิตน้ำตาลทรายลดลงจากผลกระทบของภัยแล้ง และการเข้าสู่ฤดูกาลปิดหีบอ้อยที่เร็วขึ้นกว่าปีก่อน ในส่วนสินค้าปศุสัตว์ปรับลดการผลิตเนื่องจากอุปทานส่วนเกินรวมถึงสินค้าธัญพืชและแป้งได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นกันส่วนมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 6.39เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัวโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้าหลักอย่างจีนและน้ำตาลทรายได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณอ้อยไม่เพียงพอต่อการส่งออก

แนวโน้ม

คาดการณ์การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไตรมาส 3 ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้จะมีปัจจัยลบจากการพิจารณาการประกาศปรับระดับการค้าจากปัญหาในเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (lUU Fishing) ของสหภาพยุโรปจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทย ประกอบกับผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลต่อผลผลิตของสินค้าเกษตรลดลง เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น รวมทั้งอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น รวมถึงระดับราคาส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ปรับตัวลดลงตามระดับราคาน้ำมัน แต่ด้วยปัจจัยบวกจากกลุ่มสินค้าหลัก เช่น กลุ่มปศุสัตว์ (เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น) ที่ประเทศคู่แข่งอย่าง บราซิล และจีน จะลดการผลิตลง ส่งผลให้แนวโน้มราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งสินค้าประมง ซึ่งมีการคาดการณ์ผลผลิตกุ้งทั่วโลกจะมีปริมาณลดลง โดยเฉพาะคู่แข่งหลัก เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย จึงเป็นโอกาสดีของไทย เนื่องจากสถานการณ์การผลิตกุ้งไทยฟื้นตัวจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วนจึงส่งผลให้การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารเติบโตขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ