สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2559 (กรกฎาคม – กันยายน 2559)(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 26, 2016 16:41 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมยังขยายตัวได้ โดยยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศยางหล่อดอกขยายตัวจากความต้องการลดการซื้อยางใหม่ของผู้บริโภคบางส่วน และถุงมือยาง/ถุงมือตรวจขยายตัวเนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้โดยเฉพาะในทางการแพทย์ในส่วนของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวเช่นกันโดยเฉพาะในส่วนของยางยานพาหนะและถุงมือยางเนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยมีการขยายตัวที่ดี

การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 13.18และ 0.57 ตามลำดับเนื่องจากมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศตลอดทั้งไตรมาสทำให้มีปริมาณผลผลิตลดลง

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางล้อ(ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน รวมถึงยางหล่อดอก)เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีปริมาณการผลิตลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะและยางหล่อดอกขยายตัวที่ร้อยละ 3.66 และ 7.65 ตามลำดับและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ยกเว้นยางหล่อดอกซึ่งขยายตัวร้อยละ 17.28 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้วิธีการหล่อดอกยางมากกว่าซื้อยางเส้นใหม่

สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ในไตรมาสที่ 3ปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.79 และ 1.49 ตามลำดับเนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทยทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมีการขยายตัวที่ดี

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.52และ 13.42 ตามลำดับจากความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมยางล้อและถุงมือยางที่เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางล้อในประเทศ(ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน รวมถึงยางหล่อดอก)เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีปริมาณการจำหน่ายยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอก เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของยางหล่อดอกซึ่งมีการเติบโตร้อยละ 10.28 จากความต้องการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยางใหม่ของผู้บริโภคบางส่วน ในขณะที่มีปริมาณการจำหน่ายยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถบรรทุก/รถโดยสารยางในรถจักรยานยนต์/จักรยานลดลง โดยในส่วนของยางรถบรรทุก/รถโดยสารปรับลดลงเนื่องจากผู้บริโภคหันไปหล่อดอกยางเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการจำหน่ายยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะและยางหล่อดอกเพิ่มขึ้นสวนทางกับการจำหน่ายยางล้อชนิดอื่นๆ ที่ปรับลดลง โดยยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์

สำหรับการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หดตัวลงร้อยละ 10.97 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 20.88 ในภาพรวมการจำหน่ายถุงมือยางในประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ยังเติบโตได้เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้ทั้งในการให้บริการทางการแพทย์การผลิตในบางสาขาอุตสาหกรรมและในครัวเรือน

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย (ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ)ในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีมูลค่ารวม1,061.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.13ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 27.32หากพิจารณาแนวโน้มการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเห็นว่ามีมูลค่าลดลงจากปีก่อนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางทั่วโลกหดตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมการแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นปลายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลโดยตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง(ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ ยางคอมพาวด์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ)ในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีมูลค่ารวม1,732.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 6.39 และ 4.39ตามลำดับ จากการขยายตัวของการส่งออกยางยานพาหนะ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยเฉพาะในส่วนของยางยานพาหนะที่ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 7.07 เนื่องจากตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยทั้งสหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย และมาเลเซีย ยังมีความต้องการยางยานพาหนะจากไทยในปริมาณมาก

การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2559มีมูลค่าการนำเข้ายางและเศษยางรวม 242.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 9.97และ 3.68 ตามลำดับโดยเป็นการขยายตัวของการนำเข้ายางสังเคราะห์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง (ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ) มีมูลค่ารวม289.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหดตัวลงร้อยละ 1.86 เนื่องจากมีการนำเข้ายางรถยนต์ลดลงในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 3.95 โดยเป็นการขยายตัวจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางวัลแคไนซ์และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆเพิ่มขึ้น

ราคาสินค้า

ราคาเฉลี่ยของยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันไตรมาสที่ 3 ปี 2559 (53.87 บาท/กิโลกรัมและ 55.71 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ)ขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีความต้องการใช้ยางมากขึ้นประกอบกับฝนที่ตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างดำเนินโครงการต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โครงการมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง นอกจากนี้ยังได้เสนอโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มเติมอีก4 โครงการได้แก่

1. โครงการยางพาราแลกปุ๋ยบำรุงภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ

2. โครงการพักชำระหนี้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง

3. โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางวงเงินกู้ 5,000 ล้านบาท

4. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2559เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้อต่อการกรีดยางมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศจึงมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลงสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางล้อเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีปริมาณลดลงยกเว้นยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะและยางหล่อดอกและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีปริมาณการผลิตลดลงยกเว้นยางหล่อดอกซึ่งขยายตัวจากการที่ผู้บริโภคหันไปหล่อดอกยางมากกว่าซื้อยางใหม่ในส่วนของถุงมือยาง/ถุงมือตรวจมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทยทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมีการขยายตัวที่ดี

สำหรับมูลค่าการส่งออกยางพาราหดตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้มีความต้องการใช้ยางเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นปลายลดลงประกอบกับไทยเริ่มมีการใช้ยางในประเทศมากขึ้นและกรีดยางได้น้อยลงในไตรมาสนี้ทำให้มีการส่งออกในรูปของยางแปรรูปขั้นต้นลดลง ในขณะที่มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางปรับตัวสูงขึ้นจากการขยายตัวของการส่งออกยางยานพาหนะและถุงมือยางเนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทยโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามีการขยายตัวที่ดี

แนวโน้ม

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางล้อในไตรมาสที่ 4 ปี 2559คาดว่าจะขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศและแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริการวมถึงประเทศคู่ค้าที่สำคัญอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ในส่วนของถุงมือยาง/ถุงมือตรวจคาดว่าจะยังขยายตัวได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้ในทางการแพทย์การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและในครัวเรือน

สำหรับแนวโน้มราคายางพาราในไตรมาสที่ 4 ปี 2559คาดว่าจะปรับลดลงเนื่องจากเป็นช่วงที่มีผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางทั่วโลกหดตัวตาม

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ