สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 (อุตสาหกรรมยานยนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 24, 2017 15:42 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมรถยนต์ใน 10 เดือนแรกของปี 2559 ปริมาณการผลิตขยายตัวเมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามตลาดในประเทศและตลาดส่งออกชะลอตัว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว สำหรับตลาดส่งออกเป็นการลดลงในประเทศแถบตะวันออกกลาง ยุโรปและ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ โดยเฉพาะการส่งออกรถกระบะ 1 ตัน มีการลดลงในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

อุตสาหกรรมรถยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 1,637,841 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการผลิต 1,597,140คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.55โดยมีปริมาณการผลิตรถยนต์นั่ง 680,384คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์927,923คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ5.86และ0.49ตามลำดับ ส่วนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 29,534คัน ลดลงร้อยละ 4.74

การจำหน่าย ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์617,159คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.74โดยแบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 227,054คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 36,932คันลดลงร้อยละ 4.89 และ 2.28 ตามลำดับ ส่วนรถปิกอัพ 1 ตัน 263,870คัน และรถยนต์ PPV (รวมรถยนต์ SUV) 89,303คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.96และ 6.49ตามลำดับ

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ (CBU) จำนวน 1,003,918คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.25 โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมีมูลค่า 534,366.68ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.72

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่า 9,827.05 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.75ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถยนต์นั่งในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และซาอุดิอาระเบียคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 22.13, 14.42และ 6.53 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถยนต์นั่งไปออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และซาอุดิอาระเบียเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.08, 37.57 และ 99.46 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกรถแวนของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559มีมูลค่า 11.07ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 95.04ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถแวนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่ ตรินิแดดและโตเบโกพม่า และสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 32.77, 13.18และ 11.01 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถแวนไปตรินิแดดและโตเบโก และสิงคโปร์ ลดลงร้อยละ 47.79 และ 89.13 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกรถแวนไป พม่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 314.93

มูลค่าการส่งออกรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุกของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่า 5,355.92 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 24.78 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 37.08, 6.67 และ 6.26 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุกไปออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ลดลงร้อยละ 9.08 และ 11.30ตามลำดับ ส่วนการส่งออกรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุกไปเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.78

การนำเข้าจากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการนำเข้ารถยนต์นั่งของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559(ม.ค.ต.ค.) มีมูลค่า 795.42 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.49แหล่งนำเข้าสำคัญของรถยนต์นั่งในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่น และมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 30.07, 23.03และ 16.77 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์นั่งจากเยอรมนี เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.24 ส่วนการนำเข้ารถยนต์นั่งจากญี่ปุ่น และมาเลเซีย ลดลงร้อยละ20.83 และ 2.75 ตามลำดับ

มูลค่าการนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559(ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 478.61 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.32แหล่งนำเข้าสำคัญของรถยนต์โดยสารและรถบรรทุกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 41.00, 18.31และ 11.26ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกจากสิงคโปร์ และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 547.16 และ 12.88 ตามลำดับส่วนการนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกจากอินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ16.15

สรุปและแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ใน 10 เดือนแรกของปี 2559 ปริมาณการผลิตขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามตลาดในประเทศและตลาดส่งออกชะลอตัว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศซึ่งสอดคล้องกับที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังประมาณการเศรษฐกิจภาพรวมไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ส่วนตลาดส่งออกเป็นการลดลงในประเทศแถบตะวันออกกลาง ยุโรปอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ โดยเฉพาะการส่งออกรถกระบะ 1 ตัน ซึ่งเป็นการลดลงในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

สำหรับประมาณการของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2560จากข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดว่าการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,000,000 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.56 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 800,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.67 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,200,000 คัน ซึ่งสอดคล้องกับที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2560 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3-4สำหรับตลาดส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 40-45 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 55-60

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 1,516,811คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.28 เป็นการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 1,144,487คัน ลดลงร้อยละ 5.60 แต่มีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 372,324คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.57

การจำหน่ายปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 1,476,273คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.84

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 730,564คัน (เป็นการส่งออก CBU จำนวน 234,171คัน และ CKD จำนวน 496,393 ชุด)เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 3.79 โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมีมูลค่า39,386.50ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.92

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.)มีมูลค่า 858.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 8.87ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถจักรยานยนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 17.72, 16.26 และ 8.99 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถจักรยานยนต์ไปสหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ ลดลงร้อยละ 1.40 และ23.78ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปสหราชอาณาจักรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.87

การนำเข้าจากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการนำเข้ารถจักรยานยนต์ของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.)มีมูลค่า148.11 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 16.72 แหล่งนำเข้ารถจักรยานยนต์ที่สำคัญในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 39.55, 25.21และ 17.16ตามลำดับ โดยมีการนำเข้ารถจักรยานยนต์จากอินโดนีเซีย และเวียดนาม ลดลงร้อยละ 20.33 และ 36.20 ตามลำดับส่วนการนำเข้ารถจักรยานยนต์จากญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.60

สรุปและแนวโน้มอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559การผลิตรถจักรยานยนต์ชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสำหรับตลาดส่งออกชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ความต้องการของตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น

สำหรับประมาณการอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ของปี 2560 คาดว่า การผลิต จะขยายตัว ประมาณร้อยละ 10 หรือคิดเป็นปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ประมาณ2,000,000 คัน เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นทั้งนี้ จากปริมาณการผลิต ที่คาดการณ์ไว้ข้างต้นจะเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 85-90 และการผลิตเพื่อการส่งออกร้อยละ 10-15

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 152,877.95ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ4.86ส่วนการส่งออกเครื่องยนต์ มีมูลค่า 37,877.29ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.73และการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ 24,306.11 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.40

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 6,852.54 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.40 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 12.05, 10.15 และ 8.53 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ไปญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 2.13, 10.97 และ 12.04 ตามลำดับ

การส่งออกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.)มีมูลค่า 2,565.99 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.13 ส่วนการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีมูลค่า 1,010.38ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.54

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่า 505.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.30 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย และเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 24.38 , 9.61 และ 8.93 ตามลำดับโดยการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ไปกัมพูชา อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.86, 4.42 และ 10.83 ตามลำดับ

การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่า 8,755.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.54 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ที่สำคัญในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 35.17, 24.85 และ 6.46ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์จากญี่ปุ่น จีนและสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.51 , 10.09 และ 22.97 ตามลำดับ

การนำเข้าชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ฯ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่า 447.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.02 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯที่สำคัญ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 22.56, 21.49 และ 9.82 ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ จากญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 7.42 ส่วนการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ จากจีนและไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.98 และ 11.38 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
  • เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 เรื่อง โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ส่วนงบประมาณในการดำเนินการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) อนุมัติให้ อก. ดำเนินการโครงการฯ เพื่อรองรับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 21 รายการ วงเงิน 3,705.70 ล้านบาท ให้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563 (เฟส 1 และ 2)

2) อนุมัติงบกลางจำนวน 233.30 ล้านบาท เพื่อชดเชยพื้นที่และค่าปลูกป่า รวมทั้งค่าจ้างที่ปรึกษา

3) การทดสอบมาตรฐานที่ยังไม่กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ (เฟส 3) ให้ อก. พิจารณาแนวทางที่เหมาะสมและเสนอ ครม. อีกครั้ง

4) ให้ สศช. บรรจุโครงการฯ ไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) (ที่มา : www.thaigov.go.th)

  • เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนมุ่งเป้าด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยตามที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เสนอ โดยเป้าหมายของแผนงานวิจัยเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตประกอบ และพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศภายในปี 2564 ทั้งนี้ แผนงานมุ่งเป้าด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า แบ่งเป็น 4 แผนงานวิจัย ดังนี้

1) แผนงานที่ 1 การวิจัย พัฒนา และสร้างองค์ความรู้ ด้านแบตเตอรรี่และระบบจัดการพลังงาน มีเป้าประสงค์เพื่อให้มีเทคโนโลยีและต้นแบบของแบตเตอรีที่มีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งองค์ความรู้ใน การกำจัดและนำแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่ ที่สามารถใช้ได้จริงในภาคอุตสาหกรรม

2) แผนงานที่ 2 การวิจัย พัฒนา และสร้างองค์ความรู้ ด้านมอเตอร์และระบบขับเคลื่อน มีเป้าประสงค์เพื่อให้มีเทคโนโลยีและต้นแบบมอเตอร์และระบบขับเคลื่อนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ทุกประเภทที่สามารถนำไปผลิตและประกอบในภาคอุตสาหกรรมได้จริง

3) แผนงานที่ 3 การวิจัย พัฒนา และสร้างองค์ความรู้ ด้านโครงสร้างน้ำหนักเบาและ การประกอบ มีเป้าประสงค์เพื่อให้มีวัสดุที่เหมาะสมสำหรับทำโครงสร้างยานยนต์แบบน้ำหนักเบาและสามารถประกอบเป็นตัวรถในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

4) แผนงานที่ 4 การวิจัย พัฒนา และสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนานโยบาย มาตรฐาน และบุคลากร มีเป้าประสงค์เพื่อให้มีนโยบาย มาตรฐานและบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (ที่มา : www.thaigov.go.th)

  • เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)เสนอ ดังนี้

1. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงคมนาคม (คค.)กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ดำเนินการเพื่อให้มาตรการสนับสนุนการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยเกิดผลเป็นรูปธรรม เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งเน้นการเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อย่างยั่งยืน

2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กค. คค. วท. และ อก. ดำเนินการเพื่อให้สามารถนำรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ได้จริงภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 (ที่มา : www.thaigov.go.th)

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ