ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนมกราคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 28, 2017 14:20 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนมกราคม 2560 1 ขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม และยานยนต์ สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลลบต่อดัชนี อาทิ เครื่องปรับอากาศ ยาสูบ

อุตสาหกรรมรถยนต์เดือนมกราคม 2560 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศ เนื่องจากมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่จากหลายบริษัท ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศเดือนมกราคม 2560 หดตัว เนื่องจากเนื่องจากมีการเลิกผลิตสินค้ารุ่นเก่าซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ผลิตจำนวนมากมาผลิตสินค้ารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและประหยัดพลังงาน (Invertor)

การแจ้งประกอบกิจการและการจำหน่ายทะเบียนโรงงาน เดือนมกราคม 2560 มีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบกิจการจำนวน 294 ราย ลดลงจากเดือนธันวาคม 2559 ร้อยละ 31.6 มียอดเงินลงทุนรวมลดลงร้อยละ 66.8 และมีจำนวนการจ้างงานลดลงร้อยละ 29.8 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิต ประกอบหรือซ่อมแซมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ จำนวนเงินทุน 4,271 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบกิจการเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2559 ร้อยละ 9.3 สำหรับโรงงานที่จำหน่ายทะเบียนโรงงานมีจำนวน 96 ราย น้อยกว่าเดือนธันวาคม 2559 ร้อยละ 3.0 และน้อยกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 28.9

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย การนำเข้าในเดือนมกราคม 2560 ยังไม่มีข้อมูล เนื่องจาก ข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศมีการปรับปรุงระบบการจำแนกประเภทสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์ ทำให้ในเดือนมกราคม 2560 ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในเดือนมกราคม 2560 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 9,725 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดลงจากเดือนที่ผ่านมาร้อยละ 1.3 ที่ปริมาณ 9,850 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 1.4 ที่ปริมาณ 9,588.9 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง หากพิจารณาการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการ พบว่า กิจการขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงจากเดือนที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ส่วนกิจการขนาดกลาง มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงจากเดือนที่ผ่านมาและจากช่วงเดียวกันของปี 2559

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(Manufacturing Production Index : MPI) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 1.3 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลด้านบวกต่อดัชนี เช่น หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม ยานยนต์ และ ผลิตภัณฑ์ประเภทอบ เป็นต้น

ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันขยายตัวร้อยละ 3.8

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 2.0

สำหรับข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนมกราคม 2560 ยังไม่มีการเผยแพร่ โดยในเดือนธันวาคม 2559 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 4.3 เท่ากันทั้งสองประเทศ

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2560

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2559 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 294 ราย ลดลงจากเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 430 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 31.6 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 18,410 ล้านบาท ลดลงจากเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งมีการลงทุน 55,503 ล้านบาท ร้อยละ 66.8 และมีการจ้างงานจำนวน 9,675 คน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2559 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 13,775 คน ร้อยละ 29.8

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมากกว่าเดือนมกราคม 2559 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 269 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 9.3 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2559 ซึ่งมีการลงทุน 17,707 ล้านบาท ร้อยละ 4.0 และมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2559 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,879 คน ร้อยละ 40.7

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนมกราคม 2560 คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิบซัม จำนวน 24 โรงงาน รองลงมา คืออุตสาหกรรมการขุดหรือลอกกรวด ทราย หรือดิน จำนวน 22 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนมกราคม 2560 คือ อุตสาหกรรมผลิต ประกอบหรือซ่อมแซมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ จำนวนเงินทุน 4,271.78 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์ จำนวนเงินทุน 2,608 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนมกราคม 2560 คือ อุตสาหกรรมผลิต ประกอบหรือซ่อมแซมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ จำนวนคนงาน 3,874 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรม ทำผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์จำนวนคนงาน 587 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2559 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 96 ราย น้อยกว่าเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 99 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.0 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,072 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนธันวาคม 2559 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,771 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 2,967 คน น้อยกว่าเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,290 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนมกราคม 2559 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 135 ราย คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 28.9 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนมกราคม 2559 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,616 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานน้อยกว่าเดือนมกราคม 2559 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 3,829 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนมกราคม 2560 คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน จำนวน 14 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ จำนวน 11 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนมกราคม 2560 คือ อุตสาหกรรมการทำอาหารหรือเครื่องดื่มจากผัก พืชหรือผลไม้ เงินทุน 344.6 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการบรรจุก๊าซ เงินทุน 123.9 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนมกราคม 2560 คือ อุตสาหกรรมผลิต ประกอบ ดัดแปลง หรือซ่อมแซมเครื่องคำนวณ เครื่องทำบัญชี จำนวนคนงาน 1,709 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องเรือน พลาสติกจำนวนคนงาน 132 คน
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดส่งออกยังมีอย่างต่อเนื่องและระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล)เดือนมกราคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ1.4 แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก เช่น ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋องและกุ้งแช่แข็ง ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 5.0 และ 1.1และ ตามลำดับเนื่องจากคำสั่งซื้อจากประเทศนำเข้าเพิ่มขึ้น

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์มปรับตัวลดลงร้อยละ 12.6 จากวัตถุดิบลดลง สำหรับสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลืองการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เนื่องจากความต้องการบริโภคภายในปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาที่ปรับลดลงใกล้เคียงกับราคาน้ำมันปาล์ม

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศเดือนมกราคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.4 จากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารเดือนมกราคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.1ในกลุ่มสินค้าที่สำคัญ เช่น ข้าวโพดหวานกระป๋อง ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ข้าว และสับปะรดกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 11.4 8.3 2.5 1.9 และ 0.5 ตามลำดับ แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัวและมีความผันผวน แต่สถานการณ์การส่งออกของไทยยังอยู่ระดับดีเมื่อเทียบกับหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม มีบางสินค้าที่ปรับตัวลดลง เช่น ไก่แปรรูป ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.8 1.5 และ 0.4 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.2 จากราคาส่งออกปรับตัวตามราคาตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
"การผลิตกลุ่มสิ่งทอเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์เส้นใยสังเคราะห์จากความต้องการใช้ภายในประเทศที่ขยายตัวสูงขึ้น ในส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับคำสั่งซื้อของตลาดหลักยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ส่งผลให้การผลิตในภาพรวมหดตัว"
1. การผลิต
  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน การผลิตกลุ่มเส้นใยสิ่งทอในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.0 ทั้งผลิตภัณฑ์เส้นใยสังเคราะห์และเส้นด้ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.9 และ 7.4 ตามลำดับ จากความต้องการใช้ภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนการผลิตผ้าผืน ชะลอตัวเล็กน้อย ร้อยละ 0.4 เพื่อผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวในช่วงนี้
  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปภาพรวมลดลง ร้อยละ 9.6 เป็นการลดลงของเสื้อผ้าถัก ร้อยละ 16.0 และเสื้อผ้าทอ ร้อยละ 8.5 ตามคำสั่งซื้อของตลาดหลักที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน และมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน กัมพูชา และเวียดนาม จำนวนมาก ส่งผลให้การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในภาพรวมหดตัว
2. การจำหน่าย
  • ปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเส้นใยสิ่งทอในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.4 เพื่อผลิตสินค้าต่อเนื่อง อาทิ เคหะสิ่งทอ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม ส่งผลให้การจำหน่ายผ้าผืนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.3 ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นในกลุ่มเสื้อผ้าถัก ร้อยละ 9.3 โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายชั้นในสตรีและเด็กหญิง ซึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์ส่งเสริมการขายของแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ให้แก่พนักงานและผู้บริโภคทั่วไปในช่วงปลายปีต่อเนื่องต้นปี
  • การส่งออก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่า ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ จะมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ร้อยละ 10.7 จากความต้องการในตลาดคู่ค้าหลักโดยเฉพาะในอาเซียน ตุรกี ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา ในส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืน คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.8 ในตลาดอาเซียน เช่น กัมพูชา และเวียดนาม สำหรับการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะลดลง ร้อยละ 3.4 ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากคำสั่งซื้อในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจนและโดนตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ตั้งแต่ปี 2558

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กใน เดือนมกราคม 2560 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 129.57 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.64 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 6 เดือน แต่การบริโภคในประเทศมีปริมาณ 1.18 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการบริโภคที่ลดลงในเดือนแรกหลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมา 3 เดือน เนื่องจากการนำเข้าที่ลดลง ร้อยละ 10.6 ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.7 (การบริโภคในประเทศคำนวณมาจาก (การผลิต+การนำเข้า-การส่งออก) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งตามผลิตภัณฑ์ ดังนี้

  • ดัชนีผลผลิตในกลุ่มเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 0.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 13.01 เนื่องจากผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคากับสินค้าต่างประเทศได้ รองลงมา คือ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 12.90 เนื่องจากผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคใต้ทำให้บางโรงงานต้องหยุดการผลิตลง และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การบริโภคเหล็กทรงแบนในประเทศ ประมาณ 785,930 ตัน ลดลง ร้อยละ 2.9 โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง 13.8 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 12.5 สำหรับการนำเข้า มีปริมาณ 639,363 ตัน ลดลง ร้อยละ 1.2 แต่การส่งออก มีปริมาณ 52,581 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 56.7
  • ดัชนีผลผลิตในกลุ่มเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.64 โดยเหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.29 เหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.37 โดยเป็นการผลิตเพื่อรองรับกับโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น การก่อสร้างถนน การพัฒนาท่าเรือ คาดว่าในปี 2560 จะมีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ที่จะส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กเส้นเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับในส่วนของโครงการภาคเอกชนยังคงทรงตัวอยู่ เนื่องจากภาวะ over supply ในตลาดคอนโดมิเนียมในช่วงปีนี้ ทำให้ความต้องการใช้เหล็กเส้นในส่วนของโครงการภาคเอกชนที่ลดลง และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การบริโภคเหล็กทรงยาวในประเทศ ประมาณ 402,556 ตัน ลดลง ร้อยละ 29.3 สำหรับการนำเข้า มีปริมาณ 170,790 ตัน ลดลง ร้อยละ 34.1 การส่งออก มีปริมาณ 86,302 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.8
2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์เหล็กทุกตัวมีการปรับตัวที่เพิ่มขึ้น ดังนี้เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น จาก 51.28 เป็น 98.58 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 92.24 เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้น จาก 51.62 เป็น 95.34 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 84.70 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 57 เป็น 99.64 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 74.81 เหล็กแท่งเล็ก Billet เพิ่มขึ้นจาก 58.58 เป็น 89.23 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 52.32 และเหล็กเส้น เพิ่มขึ้นจาก 58.08 เป็น 84.57 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.61 ซึ่งสาเหตุที่ราคาเหล็กเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้น เพราะราคาวัตถุดิบ เช่น ถ่านหิน ได้มีการปรับตัวสูงขึ้น

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม 2560 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศ เนื่องจากมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่จากหลายบริษัท ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 152,261 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2559 ซึ่งมีการผลิต 147,651 คัน ร้อยละ 3.12 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 57,254 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2559 ซึ่งมีการจำหน่าย 51,821 คัน ร้อยละ 10.48 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 80,097 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2559 ซึ่งมีการส่งออก 93,714คัน ร้อยละ 14.53 โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลางและแอฟริกา

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2560 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดส่งออก

1. การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 170,394 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2559 ซึ่งมีการผลิต 159,434 คัน ร้อยละ 6.87 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์ และแบบสปอร์ต

2. การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 147,224 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2559 ซึ่งมีการจำหน่าย 160,585 คัน ร้อยละ 8.32 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 100 ซีซี และขนาด 101-125 ซีซี

3. การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป(CBU)

จำนวน 33,848 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2559 ซึ่งมีการส่งออก 24,646 คัน ร้อยละ 37.34

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภาพรวมยังขยายตัวได้ ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณการผลิตในภาพรวมที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของอุตสาหกรรมในระยะต่อไป สำหรับมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงจากการปรับลดปริมาณการสั่งซื้อของเมียนมาซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทย"
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนมกราคม 2560 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 4.25 และร้อยละ 3.50 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้ ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในประเทศต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา แต่หากพิจารณาการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวม จะเห็นว่ามีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ซึ่งถือเป็นสัญญาณการขยายตัวที่ดีของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศในระยะต่อไป

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกรวมของปูนซีเมนต์ในเดือนมกราคม2560 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หดตัวลงร้อยละ 18.07 เนื่องจากเมียนมาปรับลดการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงค่อนข้างมากติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศซึ่งเป็นการเข้าไปลงทุนของบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของไทย โดยตลาดส่งออกปูนซีเมนต์ที่สำคัญ 3 อันดับแรกของไทยในเดือนนี้ คือ กัมพูชา บังคลาเทศ และเมียนมา ตามลำดับ รวมมูลค่า 31.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 69.80 ของมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ทั้งหมดของไทย

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนมกราคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.18 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 5.02 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตเครื่องปรับ อากาศลดลง สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44.05 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต Semiconductor, Monolithic IC และ Other IC ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือน มกราคม 2560 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 123.98 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.18 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 111.86 ลดลงร้อยละ 5.02 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีการปรับตัวลดลง คือ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ พัดลม เตาไมโครเวฟ และกระติกน้ำร้อน ลดลงร้อยละ 10.13, 8.02, 9.23, 13.45, 1.99 และ 28.40 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศได้ยกเลิกการผลิตสินค้ารุ่นเก่า และมีการปรับเปลี่ยนสายการผลิตเพื่อผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น เช่น Inverter เป็นต้น สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 131.53 ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44.05 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมาจาก Semiconductor, Monolithic IC และ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.93, 12.03 และ 59.66 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น โดยการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วน HDD ลดลงเนื่องจากความต้องการใช้คอมพิวเตอร์/โน้ตบุ๊คลดลง อย่างต่อเนื่อง ทำให้การใช้ HDD ลดลงตามไปด้วย

2. การส่งออก

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่า 389.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.37 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวลดลง รองลงมาคือ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด มีมูลค่าส่งออก 124.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.24 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.88, 11.51 และ 5.42 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,857.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.10 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 601.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.60 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.02, 8.85 และ 7.32 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ