สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2560 (มกราคม - มีนาคม) พ.ศ. 2560 (อุตสาหกรรมพลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 2, 2017 14:07 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ส่วนอุตสาหกรรม 1 สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 1

อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 1 ปี 2560 ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 3.80 และดัชนีส่งสินค้าลดลงร้อยละ 2.08 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 1 และ 2) การส่งออกและการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.11 และ 1.84 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3 และ 4) ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชน ที่ส่งผลให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น และการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวและบริการ ส่งผลให้มีการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เกี่ยวกับกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น รวมถึงตลาด CLMV ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญยังขยายตัวได้ดี และแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ที่ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออก ส่วนไตรมาสที่ 2 ปี 2560 คาดว่าอุตสาหกรรมพลาสติกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น แนวโน้มการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกความต่อเนื่องและความชัดเจนในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ

การตลาดและการจำหน่าย

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) ไตรมาส 1 ปี 2560 มีปริมาณการส่งออกรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 279,515.37 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.11 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน กลุ่มสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) กลุ่มผลิตภัณฑ์ของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923) และกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทาด้วยพลาสติก (3926)

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) มีปริมาณการส่งออก 95,307.20 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.39 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และจีน คิดเป็นร้อยละ 12.26 10.01 และ 8.98 ตามลำดับ
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923) มีปริมาณการส่งออก107,325.28 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.27 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย คิดเป็นร้อยละ 27.35 15.54 และ 10.99 ตามลำดับ
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) มีปริมาณการส่งออก 28,084.00 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.30 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 23.48 8.50 และ 7.51
การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) ไตรมาส 1 ปี 2560 มีปริมาณการนำเข้ารวมทั้งสิ้นเท่ากับ 169,896.81 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.84 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และลดลงร้อยละ 5.66 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (3918) กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน (3924) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923)

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (3918) มีปริมาณการนำเข้า 8,403.70 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.57 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 5.85 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีนและเกาหลีใต้ คิดเป็นร้อยละ 57.09 และ 19.12 ตามลำดับ
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน (3924) มีปริมาณการนำเข้า 5,904.27 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 16.06 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน และญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 66.39 และ 8.86 ตามลำดับ
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923) มีปริมาณการนำเข้า 32,034.88 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 0.59 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย คิดเป็นร้อยละ 27.16 24.37 และ 13.33 ตามลำดับ
นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในรูปแบบการบริหารนวัตกรรมทางเทคโนโลยี (S-Curve) ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาและยกระดับการแข่งขันทางการค้าและการลงทุนอุตสาหกรรมพลาสติกทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ คาดว่าจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เพิ่มขึ้น และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น มาตรการทางภาษี รวมทั้งการบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาคบังคับกับผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะทำให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและการบริโภคพลาสติกภายในประเทศเพิ่มขึ้น

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และแนวโน้ม

สรุป

ภาวะอุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 1 ปี 2560 พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมลดลงร้อยละ 3.80 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2559 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงของประเทศคู่ค้า โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก และผลิตภัณฑ์กระสอบพลาสติก ลดลงร้อยละ 15.01 4.84 และ 1.32 ตามลำดับ ส่วนดัชนีส่งสินค้าของอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมลดลงร้อยละ 2.08 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2559 โดยลดลงจากการส่งสินค้าเกือบทุกประเภท ยกเว้นผลิตภัณฑ์พลาสติกแผ่น ซึ่งสินค้าที่มีดัชนีการส่งสินค้าลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์กระสอบพลาสติก ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก และผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มพลาสติก ลดลงร้อยละ 4.45 3.00 2.38 และ 2.10 ตามลำดับ

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไตรมาส 1 ปี 2560 มีปริมาณการส่งออกเท่ากับ 279,515.37 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.11 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2559 หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 944.480 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.93 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2559 ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลต่อการส่งออกไตรมาส 1 ปี 2559 ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) กลุ่มผลิตภัณฑ์ของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923) และกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.76 5.98 และ 2.88 ตามลำดับ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนปริมาณการส่งออกสำคัญในไตรมาส 1 ปี 2559 ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923) กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม ฟอยล์ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของอื่นๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) คิดเป็นร้อยละ 38.40 34.10 และ 10.05 ตามลำดับ ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด

การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกไตรมาส 1 ปี 2559 มีปริมาณการนำเข้ารวมทั้งสิ้นเท่ากับ 169.897 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.84 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2559 หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 985.425 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.67 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2559 โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลต่อการนำเข้าไตรมาส 1 ปี 2559 ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (3918) กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน (3924) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923)เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.57 11.42 และ 10.13 ตามลำดับ และผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนปริมาณการนำเข้าสำคัญในไตรมาส 1 ปี 2559 ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม ฟอยล์ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920)กลุ่มผลิตภัณฑ์ของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923) กลุ่มผลิตภัณฑ์ของอื่นๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) และกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม ฟอยล์ ที่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3921) คิดเป็นร้อยละ 23.90 18.86 16.81 และ 13.29 ตามลำดับ ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด

แนวโน้ม

แนวโน้มไตรมาสที่ 2 ปี 2560 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติกจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้นและมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น แนวโน้มการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุน ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนภายในประเทศ และ คาดว่าจะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ