สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2560 (มกราคม - มีนาคม) พ.ศ. 2560 (อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 2, 2017 14:47 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 2

02 202 4387

สถานการณ์การผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2560เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลงจากการส่งออกเยื่อกระดาษไปยังโรงงานผลิตกระดาษของไทยในฝรั่งเศสลดลงสำหรับกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ที่ขยายตัวในตลาดเอเชียส่วนสิ่งพิมพ์ ส่งออกลดลงโดยเฉพาะในกลุ่มสิ่งพิมพ์ประเภทโบรชัวทางการค้าด้านการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เพิ่มขึ้นจากนำเข้าเยื่อใยยาวมาสต๊อกในคลังสินค้า เพื่อรองรับการบริโภคภายในที่คาดว่าจะขยายตัวในช่วงไตรมาส2 ปี 2560 ในส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ มูลค่าลดลง เนื่องจากการผลิตในประเทศสามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอ

การผลิต

ไตรมาส1 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษลูกฟูก ลดลง ร้อยละ 6.63 และ 3.94(ตารางที่ 1)ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกเยื่อกระดาษมีแนวโน้มลดลง และความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เครื่องนุ่งห่ม อาหารแปรรูป เครื่องสำอาง ลดลง สำหรับกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.740.63 และ 3.24 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และรองรับการบริโภคภายในประเทศซึ่งหากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าเยื่อกระดาษกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.16 2.93 3.45และ1.43ตามลำดับโดยเป็นการผลิตเพื่อทดแทนสินค้าในสต๊อกที่มีการส่งมอบไปแล้วในช่วงต้นปีซึ่งมีหลายเทศกาลสำคัญ รวมถึงผลิตเพื่อรองรับการบริโภคภายในที่คาดว่าจะขยายตัวในช่วงไตรมาส 2

ไตรมาส1 ปี 2560มีโรงงานผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษขออนุญาตประกอบกิจการ จำนวน 9 ราย (ขนาดเล็ก) ขยายกิจการ จำนวน 7ราย (ขนาดใหญ่2 ราย และขนาดเล็ก 5 ราย)และยกเลิกกิจการ จำนวน 1 ราย(ขนาดใหญ่) ส่วนโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ และโรงงานสิ่งพิมพ์ ไม่มีการขออนุญาตประกอบกิจการ ขยาย และยกเลิกกิจการในไตรมาสนี้

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1.เยื่อกระดาษไตรมาส 1 ปี 2560มีมูลค่าการส่งออก 36.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 23.35 (ตารางที่ 2)เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากการลดคำสั่งซื้อเยื่อกระดาษของโรงงานผลิตกระดาษของไทยในฝรั่งเศสและเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า ลดลง ร้อยละ 2.61 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการส่งมอบสินค้าสำหรับเทศกาลสำคัญช่วงต้นปีไปแล้วเมื่อไตรมาสก่อน โดยตลาดสำคัญที่มีการส่งออกลดลง ได้แก่ จีน

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษไตรมาส1 ปี 2560มีมูลค่าการส่งออก394.94ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า ขยายตัว ร้อยละ 4.06 จากการส่งออกกระดาษพิมพ์เขียนไปยังตลาดจีน เกาหลีใต้และเวียดนาม เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตลาดส่งออกกระดาษพิมพ์เขียนคุณภาพสูงของผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า ลดลง ร้อยละ 9.54 จากการส่งออกกระดาษคราฟท์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ไปยังตลาดเวียดนามซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักลดลงเนื่องจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม ประกอบกับการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ลดลงด้วยเช่นกัน

3.หนังสือและสิ่งพิมพ์ไตรมาส1 ปี 2560มีมูลค่าการส่งออก15.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 9.28 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกสิ่งพิมพ์ประเภทโบรชัวทางการค้าไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานตัวเลขของปี 2559 ค่อนข้างสูงเนื่องจากในช่วงดังกล่าวอินโดนีเซียมีนโยบายส่งเสริม Start up และการลงทุนจากต่างชาติแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกขยายตัว ร้อยละ3.26จากการส่งออกหนังสือตำราเรียน สิ่งพิมพ์ทางการค้า และรูปลอก ไปยังตลาดฮ่องกง อินโดนีเซีย และกัมพูชา

การนำเข้า

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษไตรมาส 1 ปี 2560มีมูลค่าการนำเข้า172.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.56 และ 3.01ตามลำดับ(ตารางที่ 3) เนื่องจากมีการนำเข้าเยื่อใยยาวเข้ามาสต๊อกในคลังสินค้า เพื่อรองรับการบริโภคภายในที่คาดว่าจะขยายตัวในช่วงไตรมาส2 ปี 2560

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษไตรมาส1 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า331.66ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ5.59 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากความต้องการกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศลดลง ประกอบกับการผลิตในประเทศสามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.20ซึ่งเป็นการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียน ราคาถูกจากต่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการในช่วงเปิดภาคเรียนของนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในเดือนพฤษภาคม

3.สิ่งพิมพ์ไตรมาส1 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า59.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ24.37เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนโดยสิ่งพิมพ์ที่มีการนำเข้าลดลง ได้แก่ ภาพถ่ายและภาพพิมพ์ และสิ่งพิมพ์โฆษณาทางการค้าลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดแสดงคอนเสิร์ต และกิจกรรมของศิลปินเกาหลีมีจำนวนน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.81 จากการนำเข้าตำราเรียน และภาพถ่าย ภาพพิมพ์ โดยตลาดนำเข้าสำคัญที่มีการขยายตัว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
  • กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยด้วยการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในการสร้างมูลค่าและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของสินค้า นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลจึงเป็นโอกาส และความท้าทายของผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

สถานการณ์การผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษลูกฟูกลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกเยื่อกระดาษลดลง และความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปของอุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลง สำหรับกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และรองรับการบริโภคภายในประเทศแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยเป็นการผลิตเพื่อทดแทนสินค้าในสต๊อกที่ใช้ในเทศกาลสำคัญช่วงต้นปี รวมถึงรองรับการบริโภคภายในที่คาดว่าจะขยายตัวในช่วงไตรมาส 2

การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2560 พบว่า เยื่อกระดาษ มีมูลค่าลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกเยื่อกระดาษไปยังโรงงานผลิตกระดาษของไทยในฝรั่งเศสลดลง และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ลดลงเช่นกันโดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก มีการส่งมอบสินค้าสำหรับเทศกาลสำคัญช่วงต้นปีไปแล้วเมื่อไตรมาสก่อน โดยตลาดสำคัญที่มีการส่งออกลดลง ได้แก่ จีนสำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า ขยายตัว จากการส่งออกกระดาษพิมพ์เขียนไปยังตลาดจีน เกาหลีใต้ และเวียดนาม เนื่องจากการขยายตลาดส่งออก

การนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ คาดว่า จะขยายตัวจากการนำเข้าวัตถุดิบประเภทเยื่อใยยาว ในส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะปรับตัวลดลงตามการผลิตภายในประเทศที่สามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอ รวมถึงการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทภาพถ่ายและภาพพิมพ์ จากเกาหลีใต้ เนื่องจากการจัดแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินและนักร้องจากเกาหลีใต้ ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ