สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2560 (มกราคม - มีนาคม) พ.ศ. 2560 (อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 2, 2017 14:59 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 2

0-2202-4383

สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 1 ปี 2560 การผลิตกลุ่มสิ่งทอปรับตัวลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอและผ้าผืนยกเว้นเพียงผลิตภัณฑ์เส้นด้ายยังขยายตัวได้ดีส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีผู้ผลิตบางส่วนได้ขยายฐานการผลิตไปในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่งผลให้ภาคการผลิตในประเทศปรับตัวลดลง ในส่วนการจำหน่ายในประเทศ ผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักมีทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับภาคการส่งออก กลุ่มสิ่งทอขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งเส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย และผ้าผืน ในขณะที่กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังหดตัว

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

กลุ่มสิ่งทอการผลิตในไตรมาส 1 ปี 2560 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ลดลง ร้อยละ 0.23 และ5.01เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับในขณะที่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ3.56 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศเพื่อผลิตสินค้าต่อเนื่องเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 4.90จากการลดการใช้จ่ายของผู้บริโภคตามภาระหนี้ภาคครัวเรือนในส่วนการผลิตเส้นด้ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ2.31 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 10.03 สอดคล้องกับการจำหน่ายในประเทศที่ลดลง ร้อยละ 4.34 และ 11.14 ตามลำดับ สำหรับการทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) มีการผลิตลดลง ร้อยละ 5.29 และ 0.97 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับเพื่อผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเคหะสิ่งทออื่น ๆ ตามคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวในช่วงนี้สอดคล้องกับการจำหน่ายในประเทศที่ลดลง ร้อยละ 9.67 และ 0.98ตามลำดับ (ตารางที่ 1และ 2)

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 1 ปี 2560 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักลดลงร้อยละ 1.74เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ4.05 ตามคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจำหน่ายในประเทศและการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยรวมเพิ่มขึ้นครั้งแรกในช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา จากคำสั่งซื้อในตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน และสหภาพยุโรปอย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ การผลิตและการจำหน่ายยังปรับตัวลดลงตามฤดูกาล ประกอบกับมีการย้ายฐานการผลิตไปในกลุ่มประเทศอาเซียน (ตารางที่ 1และ 2)

การประกอบกิจการโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 1 ปี 2560พบว่า มีโรงงานประกอบกิจการใหม่ จำนวน 13โรงงาน มีเงินลงทุนรวม 372.34 ล้านบาท และจ้างแรงงานรวม 741 คน ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 62 เป็นโรงงานประกอบกิจการทอหรือการเตรียมเส้นด้ายยืนสำหรับการทอและกิจการตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้มีโรงงานขอขยายกิจการ จำนวน 5 โรงงาน เป็นโรงงานถักผ้า ผ้าลูกไม้ หรือเครื่องนุ่งห่มด้วยด้ายหรือเส้นใย แต่งสำเร็จผ้าจำนวน 3 โรงงาน การทำผลิตภัณฑ์จากสิ่งทอ เป็นเครื่องใช้ในบ้านและการผลิตเส้นใย หรือปุยใยจากวัสดุที่ทำจากเส้นใยประเภทละ 1 โรงงาน มีเงินลงทุนรวม80.16 ล้านบาท สำหรับโรงงานที่ขอยกเลิกกิจการ จำนวน 14 โรงงาน เป็นโรงงานประกอบกิจการตัดหรือการเย็บเครื่องนุ่งห่มฯ กิจการทอหรือการเตรียมเส้นด้ายยืนสำหรับการทอ และการหมัก คาร์บอไนซ์ สาง หวี รีด ปั่น เอม หรือย้อมสีเส้นใย

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ไตรมาส 1 ปี 2560อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออก 1,631.77ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.82เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน(ตารางที่ 3) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดหลักได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียน และอื่น ๆ และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.59 ในตลาดหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่นสหภาพยุโรป และอื่น ๆ สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่

1. กลุ่มสิ่งทอ ไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 1,054.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ7.52เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนในผลิตภัณฑ์ผ้าผืนและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ตาข่ายจับปลา ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าสำหรับตัดเสื้อฯ และสิ่งทออื่น ๆ และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.72 ในผลิตภัณฑ์ผ้าผืนและด้าย เส้นใยประดิษฐ์ผ้าคลุมไหล่และผ้าพันคอ ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อฯ และสิ่งทออื่น ๆ โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 64.61ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญในไตรมาสนี้ มีดังนี้

1) ผ้าผืนและด้ายมีมูลค่าการส่งออก 531.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.49 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเวียดนาม บังคลาเทศ และญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งการส่งออกผ้าผืนไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านยังขยายตัวได้ดี รวมถึงผู้ประกอบการมีการปรับปรุงคุณภาพของผ้าผืนให้มีคุณภาพดีขึ้น และสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากจีนและไต้หวันเข้าไปลงทุนในสิ่งทอต้นน้ำในเวียดนาม อาจทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง โดยเฉพาะสินค้าเส้นด้ายและผ้าผืนซึ่งในส่วนของผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 339.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 192.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกในกลุ่มผ้าผืนและด้าย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 50.46ของมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสิ่งทอ สำหรับตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ เวียดนาม บังคลาเทศญี่ปุ่น เมียนมา และจีน อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกผ้าผืนและด้ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.64จากการส่งออกในตลาดบังคลาเทศ เมียนมา อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้

2) เคหะสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก57.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.05 และ 12.86เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับเนื่องจากประเทศญี่ปุ่นลดการนำเข้าจากไทยร้อยละ 23.13 และ 9.86 ในแต่ละช่วงเวลาตามลำดับ เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา อินเดีย และเวียดนาม ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกเคหะสิ่งทอลดลง โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย

3) เส้นใยประดิษฐ์มีมูลค่าการส่งออก 182.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.97 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในตลาดคู่ค้า อาทิ จีน เวียดนาม และบังคลาเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 54.10 4.55และ41.12 ตามลำดับและเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ10.47 ในกลุ่มประเทศเดียวกับข้างต้น ร้อยละ 57.20 13.61 และ 7.25 ตามลำดับ ทั้งนี้ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย เวียดนามตุรกี และบังคลาเทศ

4) สิ่งทออื่นๆมีมูลค่าการส่งออก 179.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.81และ 1.40 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับโดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 1ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 577.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 4.77 และ 0.42 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับโดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 35.39ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คือ

1) เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออก 489.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 7.43 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกในตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 13.78 และ 6.11 ตามลำดับ ในสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย จากใยประดิษฐ์ ไหม วัตถุทออื่น ๆ และเสื้อผ้าเด็กอ่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลงในตลาดอาเซียน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ร้อยละ 8.55 8.64 และ 0.88ตามลำดับ ในสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย จากใยประดิษฐ์ ไหม และขนสัตว์ ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกหลักที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก ประกอบกับการย้ายและขยายฐานการผลิตของผู้ประกอบการไทยไปในกลุ่มประเทศอาเซียน

2) เครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบ มีมูลค่าการส่งออก 56.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.46 และ 18.27 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่สหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และไต้หวัน เป็นต้น

การนำเข้า

ไตรมาส 1 ปี 2560 มีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นมูลค่า 1,128.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.67 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 2.51 (ตารางที่ 4)โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80.60 เป็นกลุ่มสิ่งทอต้นน้ำสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มสิ่งทอไตรมาส 1 ปี 2560มีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) รวมทั้งสิ้น 909.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.67 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 1.76 เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องลดลง ซึ่งคาดว่าปริมาณความต้องการใช้ในไตรมาสที่ 2 จะมีไม่มากนัก โดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มสิ่งทอคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 80.61ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ในไตรมาสนี้ดังนี้

1.1 ด้ายและเส้นใย มีมูลค่าการนำเข้า 404.53ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.43 และ 11.21 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯ ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และเวียดนาม โดยมีผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ ได้แก่

1)เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่าการนำเข้า 175.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.75 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯ ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกาอินเดีย ออสเตรเลีย บราซิล และมาลี

2) ด้ายทอผ้าและด้ายเส้นเล็ก มีมูลค่าการนำเข้า178.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.35 และ 10.05 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ ซึ่งมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านมาจากความต้องการใช้ในประเทศเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตผ้าผืนประกอบกับมีการแจ้งประกอบกิจการใหม่ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31 แสดงให้เห็นถึงปริมาณความต้องการใช้ในประเทศที่มีมากขึ้น โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ไต้หวัน และอินโดนีเซีย

1.2 ผ้าผืน มีมูลค่าการนำเข้า 395.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.41 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ8.88 ตามความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศที่ลดลง อาทิ เคหะสิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้นอย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการยื่นขอประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจต้องติดตามสถานการณ์ด้านการผลิตอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม

1.3)ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่าการนำเข้า 109.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.57เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 14.49 โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และไต้หวัน

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 1 ปี 2560มีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ19.39 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ ได้แก่เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 218.83ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.06 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 5.49ซึ่งเป็นการนำเข้าลดลงในกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้แก่ชุดสูท ผลิตภัณฑ์เสื้อเชิ้ต/เบลาส์แจ็กแก็ตและเสื้อเบลเซอร์และกางเกง กระโปรงและเครื่องแต่งตัว โดยมีตลาดนำเข้าหลักจากประเทศจีน กัมพูชาเวียดนาม บังคลาเทศและตุรกี

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้จัดตั้งศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand lndustrial Design Center)โดยมอบหมายให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) เป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนกิจกรรมซึ่งศูนย์ดังกล่าวมีกิจกรรมสำคัญ คือ 1) lndustrial Design Forum เป็นกิจกรรมระดมความคิดเห็นการออกแบบอุตสาหกรรมในรูปแบบ Forum โดยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อระดมแนวทางพัฒนาการออกแบบอุตสาหกรรมของประเทศ และเป็นเวทีเผยแพร่ความรู้ด้านการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2) กิจกรรม Bangkok Design Weeks เน้นจัดนิทรรศการควบคู่กับการสัมมนาด้านการออกแบบ กระจายไปในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เพื่อสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศสู่ประเทศไทย 4.0

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 1 ปี 2560 การผลิตกลุ่มสิ่งทอลดลงตามความต้องการของตลาดในประเทศ ส่วนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยเฉพาะเสื้อผ้าชุดดำอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากตลาดเข้าสู่จุดอิ่มตัว สอดคล้องกับการจำหน่ายในประเทศที่ยังชะลอตัวต่อเนื่องในผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ แต่ผลิตภัณฑ์เส้นใยสังเคราะห์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป จากผ้าถักยังขยายตัวได้สำหรับภาพรวมการส่งออกกลุ่มสิ่งทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.52 ในสินค้าผ้าผืน ด้ายใยประดิษฐ์ เส้นใยประดิษฐ์ และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน ส่วนเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังมีทิศทางลดลง ในตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เนื่องจากตลาดคู่ค้าหลักยังฟื้นตัวไม่ดีนักประกอบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ขยายฐานการผลิตไปในกลุ่มประเทศอาเซียน (CLMV) อย่างไรก็ตาม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยยังได้รับการยอมรับทั้งในเรื่องของคุณภาพและความตรงต่อเวลาในการส่งมอบสินค้า ซึ่งจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกเดือนมีนาคมมีทิศทางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

แนวโน้ม

ภาพรวมการผลิต การจำหน่ายในประเทศกลุ่มเส้นใยสิ่งทอ คาดว่า จะขยายตัวได้ตามความต้องการของตลาดหลักในอาเซียนที่ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป อาจอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากตลาดเข้าสู่จุดอิ่มตัวส่วนการส่งออกกลุ่มเส้นใยสิ่งทอและผ้าผืน คาดว่าจะขยายตัวได้โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนสำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะมีทิศทางชะลอตัว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของตลาดคู่ค้าหลัก ๆ อาทิสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ยังขยายตัวได้ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยยังได้รับการยอมรับทั้งในเรื่องของคุณภาพและความตรงต่อเวลาในการส่งมอบสินค้า จึงยังมีโอกาสที่จะขยายตัวรวมทั้งยังสามารถแข่งขันได้ในตลาดเพื่อนบ้าน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ