สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2560 (มกราคม - มีนาคม) พ.ศ. 2560 (อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 2, 2017 15:20 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 2

0 2202 4387

ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่า 3,729.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 21.03 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 43.81 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ตามทิศทางการปรับตัวของราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลก สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 2,021.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.98 และ 35.19 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ

การผลิตและการจำหน่าย

การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และเครื่องประดับเทียม ในภาพรวมของไตรมาส 1 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 1) พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง ร้อยละ 13.72 เนื่องจากผู้ประกอบการเน้นการส่งออกสินค้าในสต็อกทดแทนการผลิตสินค้าใหม่ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า กำไล ต่างหู และเครื่องประดับเทียม มีการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต่างหูและเครื่องประดับเทียมมีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันกว่า 5 ไตรมาส ส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่าย และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ลดลงเช่นกัน อยู่ที่ร้อยละ 12.70 และ 15.64 ตามลำดับ ตามการผลิตที่ลดลงและการนำสินค้าในสต็อกออกมาจำหน่าย และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิต ดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่าย และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง มีทิศทางลดลง ร้อยละ 19.20 20.92 และ 3.19 ตามลำดับ

จำนวนโรงงานที่เปิดและปิดกิจการ

ไตรมาส 1 ปี 2560 มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการใหม่ จำนวน 4 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 547.5 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นโรงงานทำเครื่องประดับอัญมณี ทั้งนี้ ไม่ปรากฏจำนวนโรงงานที่จำหน่ายทะเบียนโรงงาน (ยกเลิกกิจการ) ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2560 (ตารางที่ 2) การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 2,021.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.98 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการส่งออกพลอย เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน และโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.78 17.07 และ 134.22 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.19 เนื่องจากมีการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ ยกเว้นเครื่องประดับทำด้วยโลหะมีค่าอื่น และเครื่องประดับอัญมณีเทียม แต่หากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลง ร้อยละ 21.03 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 43.81 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ตามทิศทางการปรับตัวของราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลก โดยผลิตภัณฑ์ส่งออกสำคัญ ๆ ได้แก่

1. อัญมณี ไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 843.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.37 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 61.29 ซึ่งมีการส่งออกผลิตภัณฑ์อัญมณีที่สำคัญ ดังนี้

1.1 เพชรไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 437.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 5.32 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับความไม่มั่นใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับเพชรสังเคราะห์ที่มีการเลียนแบบเพชรแท้หรือเพชรธรรมชาติ ส่งผลให้ตลาดมีความต้องการลดลง โดยเฉพาะในตลาดหลักได้แก่ ฮ่องกงเบลเยียม อินเดีย สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.81

1.2 พลอยไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 403.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.78 และ 138.86 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยเฉพาะพลอยเนื้อแข็ง อาทิ ทับทิม แซปไฟร์ มรกต ซึ่งเป็นการขยายตัวของการส่งออก ทั้งในตลาดหลัก อาทิ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ และตลาดรอง เช่น อินเดีย อิตาลี สหราชอาณาจักร

2. เครื่องประดับแท้ ไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 1,018.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.18 และ 25.59 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญมี ดังนี้

2.1 เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 466.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.07 และ 11.61 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากมีความต้องการบริโภคเครื่องประดับเงินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น เยอรมนี และตลาดรอง อาทิ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และจีน

2.2 เครื่องประดับแท้ทำด้วยทองไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 513.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 4.26 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบทองคำปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชะลอความต้องการซื้อสินค้าเครื่องประดับทอง แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 52.11

3. เครื่องประดับอัญมณีเทียมไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 79.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 1.83 และ 29.69 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดลงในตลาดรอง เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม ตลาดหลัก ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ ยังคงมีทิศทางการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

4. อัญมณีสังเคราะห์ไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 23.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 28.39 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.44

5. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 1,708.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 37.67 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ทำให้ผู้บริโภคชะลอการถือครองทองคำ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 55.55

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2560 (ตารางที่ 3) การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,063.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.49 และ 101.55 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เพชร พลอย อัญมณีสังเคราะห์ แพลทินัม เพื่อนำไปประกอบการผลิตเครื่องประดับสำเร็จรูปขยายตัวเพิ่มขึ้น และเมื่อรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการนำเข้าในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 85.80 และ 6.17 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ ไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ ๆ ได้แก่

1. เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคาไตรมาส 1 ปี 2560 ภาพรวมการนำเข้ามีมูลค่า 3,301.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 97.88 และ 3.28 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยการนำเข้าประกอบด้วยวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่

1.1 เพชรไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 483.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 84.98 และ 208.07 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ

1.2 พลอยไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 156.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.01 และ 238.64 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ

1.3 ทองคาไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 2,452.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 126.34 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 11.90 เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกในไตรมาสนี้อยู่ในช่วงปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.4 เงิน ไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 138.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.41 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 3.07

1.5 โลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 20.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 0.93 และ 22.61 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ

2. เครื่องประดับอัญมณีไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 213.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 4.30 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 86.98 ได้แก่

2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 198.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.50 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 103.84 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย

2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียมไตรมาส 1 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 15.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 13.54 และ 9.50 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. ค.ร.ม. มีมติเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 เห็นชอบมาตรการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณี และเครื่องประดับในตอนที่ 71 จำนวน 32 ประเภทย่อย ทั้งในกลุ่มเครื่องประดับแท้ และเครื่องประดับเทียม เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณที่เป็นของเทียมอื่น ๆ รวมถึงของที่ทำด้วยโลหะมีค่าหรือทำด้วยโลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย

2. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ออกมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการเช่าที่ดินโครงการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) จ.สระแก้ว โดยมีอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็น 1 ใน 12 กลุ่มเป้าหมายของพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนรายใหญ่ ที่ต้องการเช่าพื้นที่ตั้งแต่ 20 ไร่ขึ้นไป เป็นระยะเวลา 30 ปี หรือเช่าเหมาแปลง (Whole Rental) สามารถขอใช้สิทธิการเช่าแบบเร่งรัดพิเศษ (Super Early Bird) เพื่อรับการยกเว้นค่าเช่า 3 ปีแรก และยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาปีแรก ส่วนผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเช่าพื้นที่น้อยกว่า 20 ไร่ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี หรือเช่าพื้นที่ขายปลีก (Retail Rental) สามารถขอรับข้อเสนอพิเศษในการยกเว้นค่าเช่าและค่าบริการบำรุงรักษาในปีแรก และส่วนลดค่าเช่า ร้อยละ 50 และ 30 ในปีที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องลงนามในสัญญาเช่าภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 และเริ่มก่อสร้างโรงงาน พร้อมทั้งเปิดดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเอื้อต่อการเริ่มต้นดำเนินธุรกิจหรือการขยายกิจการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ภาคการผลิตปรับตัวลดลง ร้อยละ 13.72 เนื่องจากผู้ประกอบการเน้นการส่งออกสินค้าในสต็อกทดแทนการผลิตสินค้าใหม่ ส่วนภาคการจำหน่ายลดลงเช่นกัน ตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอย

ด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 2,021.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.98 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.19 จากการส่งออกเพิ่มขึ้น เกือบทุกรายการ ยกเว้นเครื่องประดับทำด้วยโลหะมีค่าอื่น และเครื่องประดับอัญมณีเทียม แต่หากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลง ร้อยละ 21.03 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 43.81 ตามทิศทางการปรับตัวของราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลก

ด้านการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.49 และ 101.55 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เพชร พลอย อัญมณีสังเคราะห์แพลทินัม เพื่อนำไปประกอบการผลิตเครื่องประดับสำเร็จรูปขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมมีทิศทางเพิ่มขึ้น ร้อยละ 85.80 และ 6.17 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ

แนวโน้ม

การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2560 คาดว่า จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการกลับมาเน้นการผลิตสินค้าทดแทนสต็อกสินค้าเดิมที่นำออกจำหน่ายในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2560 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยปัจจัยหลักที่ชะลอการส่งออกอาจมาจากสภาพเศรษฐกิจของหลายประเทศในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวไม่ดีนัก ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในต่างประเทศ อาจส่งผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มลดการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย

ในส่วนของการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2560 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะมีแนวโน้มขยายตัวเช่นกัน ตามทิศทางการปรับขึ้นของราคาวัตถุดิบ เช่น เพชร พลอย สำหรับการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูป คาดว่า จะเพิ่มขึ้นตามราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ